คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแนวทางการดำเนินการโครงการทุนการศึกษาเพื่อขยายโอกาสและพัฒนาประเทศ (โครงการ ODOS : Outstanding Development Opportunity Scholarship ) เพื่อจะได้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ตามที่คณะกรรมการ อำนวยการโครงการทุนการศึกษาเพื่อขยายโอกาสและพัฒนาประเทศ เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. ตามที่รัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มีนโยบายในการพัฒนาประเทศให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ต่อยอดการพัฒนาของภาคการผลิตและการบริการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน เพื่อวางรากฐานสู่การพัฒนาประเทศในอนาคต โดยมีเป้าหมายจะพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ เช่น การส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปไปสู่ยานยนต์แห่งอนาคต, การต่อยอดพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล, การพัฒนาเศรษฐกิจสุขภาพและบริการทางการแพทย์, และการทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการเงินของโลก ดังนั้น การศึกษาในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงมีความสำคัญและจำเป็นต่อการขับเคลื่อนประเทศเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามนโยบายดังกล่าว นอกจากนี้ รัฐบาลจะเร่งส่งเสริม ผลักดันให้เกิดการพัฒนาคนไทยทุกช่วงวัย เพื่อให้การเกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพของเด็กทุกคนเป็นไปอย่างเท่าเทียม โดยพัฒนาระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นทั้งในระบบนอกระบบตามอัธยาศัย และการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อตอบโจทย์ศักยภาพของผู้เรียน ลดภาระและความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ด้วยการดำเนินโครงการทุนการศึกษาเพื่อขยายโอกาสและพัฒนาประเทศให้แก่นักเรียนที่มีผลการเรียนดี มีความประพฤติดี ซึ่งขาดแคลนโอกาส ให้ได้รับการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น ในสาขาที่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ อันเป็นพื้นฐานสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตและพัฒนาประเทศในมิติต่าง ๆ อย่างยั่งยืน นายกรัฐมนตรีจึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการโครงการ ODOS ขึ้นเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2568 เพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว
2. แนวทางการดำเนินการโครงการทุนการศึกษาเพื่อขยายโอกาสและพัฒนาประเทศ (Outstanding Development Opportunity Scholarship: ODOS) (โครงการ ODOS) ที่คณะกรรมการอำนวยการโครงการทุนการศึกษาเพื่อขยายโอกาสพัฒนาประเทศ (คณะกรรมการอำนวยการ ODOS) นำเสนอคณะรัฐมนตรี พิจารณาให้ความเห็นชอบในครั้งนี้ เป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับการลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษา ส่งเสริมการเติบโตและพัฒนาทักษะวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล ประกอบกับนโยบายเกี่ยวกับการต่อยอดการพัฒนาของภาคการผลิตและการบริการ เพิ่มความสามารถในการแข่งขันเพื่อวางรากฐานสู่การพัฒนาประเทศในอนาคต โดยการสร้างโอกาสต่อยอดจากอุตสาหกรรมเดิมและส่งเสริมโอกาสในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เช่น การต่อยอดพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล การพัฒนาเศรษฐกิจสุขภาพ (Care and Wellness Economy) และบริการทางการแพทย์ (Medical Hub) การทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการเงินของโลก โดยการให้ทุนการศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ต่อเนื่องจนถึงระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และ/หรือระดับปริญญาตรีในประเทศและต่างประเทศ ที่มีผลการเรียนดี มีความประพฤติดี มีศักยภาพ แต่ขาดแคลนโอกาสให้ได้รับการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นในสาขาที่ สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สาขาวิชา STEM) โดยมีหน่วยงานรับผิดชอบหลัก 3 หน่วยงาน ได้แก่ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) สำนักงาน ก.พ. และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) มีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 – 2576 ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 4,599.45 ล้านบาท โดยขอรับการสนับสนุนเงินนอกงบประมาณจากแหล่งทุนต่าง ๆ เช่น โครงการสลากการกุศล ทั้งนี้ โครงการ ODOS ประกอบด้วย 3 ประเภททุน รวมทั้งสิ้น 7,200 ทุน (4,800 คน)
3. แนวทางการดำเนินการโครงการ ODOS ซึ่งคณะกรรมการอำนวยการโครงการ ODOS ได้พิจารณาเห็นชอบด้วยแล้ว สรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ | สาระสำคัญ |
หลักการ | – กระจายโอกาสทางการศึกษาให้แก่นักเรียนซึ่งขาดแคลนโอกาส แต่มีผลการเรียนดี มีความประพฤติดี และมีศักยภาพ โดยให้ศึกษาในสาขาที่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ (ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและพัฒนาประเทศในมิติต่าง ๆ อย่างยั่งยืน – สร้างความพร้อมให้ผู้รับทุนอย่างเป็นระบบเพื่อให้สามารถศึกษาในระดับที่สูงขึ้นจนสำเร็จการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ |
วัตถุประสงค์ | – เพื่อให้นักเรียนซึ่งขาดแคลนโอกาส มีผลการเรียนดี มีความประพฤติดี มีศักยภาพได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างมีคุณภาพและมีศักดิ์ศรี โดยให้มีโอกาสรับทุนการศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ต่อเนื่องจนถึงระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และ/หรือระดับปริญญาตรีในประเทศและต่างประเทศ – เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนซึ่งขาดแคลนโอกาส ให้เข้าถึงการศึกษาและพัฒนาทักษะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้อย่างมีคุณภาพ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศในมิติ ต่าง ๆ อย่างยั่งยืน – เพื่อปลูกฝังทัศนคติให้แก่เด็กและเยาวชนของประเทศในการพัฒนาตนเองอย่างมีเป้าหมายและต่อเนื่องเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม – เพื่อส่งเสริมนวัตกรรมการพัฒนาเด็กและเยาวชนอย่างครอบคลุม เป็นระบบและต่อเนื่อง |
แนวทาง การดำเนินการโครงการและงบประมาณ | – เป็นการดำเนินการให้ทุนการศึกษาตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือระดับ ปวช. ต่อเนื่องจนถึงระดับปริญญาตรี ในสาขาวิชา STEM จำนวน 4,800 คน (7,200 ทุน) – ผู้รับทุนอยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ยของสมาชิกครัวเรือนไม่เกิน 12,000 บาท/คน/เดือน – เงื่อนไขการชดใช้ทุนสำหรับทุนการศึกษาระดับ ปวส. ต่างประเทศ และปริญญาตรี ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ คือ จะต้องมาทำงานในประเทศไทยโดยสามารถเลือกปฏิบัติงานได้ทั้งหน่วยงานของรัฐหรือเอกชน ทั้งนี้ การปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด – ระยะเวลาการดำเนินการโครงการ ODOS ตั้งแต่ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 – 2576 ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 4,599.45 ล้านบาท – ประเภททุน 3 ประเภท คือ 1. ทุนการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และ ปวช. ในประเทศ จำนวน 4,800 ทุน ใช้งบประมาณ 990.14 ล้านบาท มีลักษณะเป็นทุนให้เปล่า ระยะเวลาดำเนินการปีงบประมาณ2568 – 2572 ดำเนินการโดย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) 2. ทุนการศึกษาระดับ ปวส. และระดับปริญญาตรีในต่างประเทศ จำนวน 200 ทุน (เป็นทุนการศึกษาต่อเนื่องจากทุนประเภทที่ 1) ใช้งบประมาณ 2,609.31 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 – 2576 ดำเนินการโดยสำนักงาน ก.พ. โดยประเทศที่กำหนดให้ไปศึกษา ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร (ศึกษาระดับปริญญาตรี) และเครือรัฐออสเตรเลีย (ศึกษาระดับ ปวส. และ/หรือปริญญาตรี) และจะมีการเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ที่ได้รับทุนก่อนเดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศ เกี่ยวกับภาษาอังกฤษ ทักษะการใช้ชีวิต จิตวิทยา การปรับตัว การสร้างความผูกพันต่อสังคมและประเทศ ตลอดจนความพร้อมด้านอื่น ๆ สำหรับการไปศึกษาต่อต่างประเทศ พร้อมทั้งดูแลจัดหาสถาบันทางการศึกษาที่เหมาะสมในต่างประเทศให้แก่ผู้รับทุน ทั้งนี้ ภายใต้ทุนการศึกษาดังกล่าวจะแบ่งออกเป็น 4 โครงการ ดังนี้ (1) โครงการสรรหาและเตรียมความพร้อมนักเรียนทุน ODOS สำหรับทุนการศึกษาระดับ ปวส. และระดับปริญญาตรีในต่างประเทศ ทั้ง 3 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 60 ทุน สหราชอาณาจักร 50 ทุน และเครือรัฐออสเตรเลีย 90 ทุน รวมจำนวน 200 ทุน (2 รุ่น รุ่นละ 100 ทุน) ใช้งบประมาณ 78.11 ล้านบาท (2) โครงการ ODOS สำหรับทุนการศึกษาระดับปริญญาตรีในต่างประเทศ ณ สหรัฐอเมริกา จำนวน 60 ทุน (2 รุ่น รุ่นละ 30 ทุน) ใช้งบประมาณ 980.71 ล้านบาท (3) โครงการ ODOS สำหรับทุนการศึกษาระดับปริญญาตรีในต่างประเทศ ณ สหราชอาณาจักร จำนวน 50 ทุน (2 รุ่น รุ่นละ 25 ทุน) ใช้งบประมาณ 724.69 ล้านบาท (4) โครงการ ODOS สำหรับทุนการศึกษาระดับ ปวส. และระดับปริญญาตรีในต่างประเทศ ณ เครือรัฐออสเตรเลีย จำนวน 90 ทุน (2 รุ่น รุ่นละ 45 ทุน) ใช้งบประมาณ 825.80 ล้านบาท ทั้งนี้ เมื่อสำเร็จการศึกษาจะต้องทำงานในประเทศไทยซึ่งสามารถเลือกปฏิบัติงานได้ทั้งหน่วยงานของรัฐหรือเอกชน โดยเน้นให้ปฏิบัติงานในภูมิภาคเป็นลำดับแรกสำหรับการปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด 3. ทุนการศึกษาระดับปริญญาตรีในประเทศ จำนวน 2,200 ทุน (เป็นทุนการศึกษาต่อเนื่องจากทุนประเภทที่ 1) ใช้งบประมาณ 1,000 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 – 2574 ดำเนินการโดย สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) ทั้งนี้ จำนวนทุนการศึกษา 2,200 ทุน ประกอบด้วย (1) ทุนรัฐบาล จำนวน 1,800 ทุน (2 รุ่น รุ่นละ 900 ทุน) และ (2) ทุนสถาบันอุดมศึกษา จำนวน 400 ทุน (2 รุ่น รุ่นละ 200 ทุน) และ เมื่อสำเร็จการศึกษาจะต้องทำงานในประเทศไทย ซึ่งสามารถเลือกปฏิบัติงานได้ทั้งในหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ตามความประสงค์ของผู้รับทุน |
แหล่งที่มาของ เงินทุน | ขอรับการสนับสนุนเงินนอกงบประมาณจากแหล่งทุนต่าง ๆ เช่น โครงการสลากการกุศล |
ผลผลิต และผลลัพธ์ | – ผลผลิต ผู้ที่ได้รับทุนการศึกษาจากโครงการ ODOS จำนวน 4,800 คน แบ่งเป็น 1. ผู้ที่ได้รับทุนการศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ปวช. และ ปวส. จนสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี จำนวน 2,400 คน 2. ผู้ที่ได้รับทุนการศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และ ปวช. สำเร็จการศึกษา จำนวน 2,400 คน – ผลลัพธ์ 1. เป็นระบบบริหารทุนการศึกษาที่ครอบคลุมและเป็นระบบอย่างชัดเจนโดยมีการเชื่อมโยงการให้ทุนการศึกษาครอบคลุมตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ปวช. ถึงระดับปริญญาตรีทั้งในประเทศ และต่างประเทศ และระบุกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน 2. เป็นการสร้างความพร้อมอย่างมีเป้าหมายและเหมาะสม โดยมีกลไกการเตรียมความพร้อมทั้งความรู้พื้นฐานทางวิชาการ ภาษา วัฒนธรรมในการศึกษา และความพร้อมในการใช้ชีวิตระหว่างการศึกษา 3. ส่งเสริมการพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่องและมีมาตรฐาน โดยมีกระบวนการคัดเลือกที่พิจารณา ทั้งศักยภาพทางวิชาการและพฤติกรรมที่พึงประสงค์ รวมทั้งมีกลไกติดตามความก้าวหน้าอย่างสม่ำเสมอ 4. สร้างผลกระทบเชิงบวกในวงกว้างทั้งต่อเยาวชน สถาบันการศึกษา และสังคม ทำให้สังคมตระหนักถึงการให้ความสำคัญกับกลุ่มคนเก่งและคนดีที่จะได้รับโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ และทำให้สถาบันการศึกษาตระหนักว่า แม้อยู่ในพื้นที่ห่างไกลก็สามารถพัฒนาเยาวชนที่มีคุณภาพได้เช่นกัน |
แนวทางการ บริหารโครงการ | – เพื่อความคล่องตัวในการดำเนินการโครงการ ODOS ให้คณะกรรมการอำนวยการบริหาร โครงการ ODOS ทำหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการดำเนินการโครงการและการดำเนินการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การสรรหาและคัดเลือกเงื่อนไขการให้ทุน การดูแลนักเรียนทุน การเบิกจ่ายงบประมาณ การแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการดำเนินการ โดยอาจมอบหมายให้คณะอนุกรรมการที่แต่งตั้งหรือส่วนราชการหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบการดำเนินการในแต่ละประเภททุนกำหนดก็ได้ – ในกรณีที่คณะกรรมการอำนวยการโครงการ ODOS แต่งตั้งคณะอนุกรรมการให้มีองค์ประกอบเป็นหัวหน้าส่วนราชการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าส่วนราชการหรือหน่วยงาน ผู้ทรงคุณวุฒิ รวมไม่เกิน 10 คน และให้มีวาระ 3 ปี ทั้งนี้ ให้ฝ่ายเลขานุการ เสนอประธานกรรมการลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ |
ประโยชน์ของการดำเนินโครงการ ODOS
(1) กระจายโอกาสทางการศึกษาให้แก่นักเรียนซึ่งขาดแคลนโอกาส มีผลการเรียนดี มีความประพฤติดี และมีศักยภาพได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างมีคุณภาพและมีศักดิ์ศรี โดยให้มีโอกาสรับทุนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ระดับ ปวช. ต่อเนื่องจนถึงระดับ ปวส. และ/หรือระดับปริญญาตรีในประเทศและต่างประเทศ
(2) ยกระดับคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนซึ่งขาดแคลนโอกาสให้เข้าถึงการศึกษาและพัฒนาทักษะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้อย่างมีคุณภาพ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศในมิติต่างๆ อย่างยั่งยืน
(3) สร้างผลกระทบเชิงบวกในวงกว้างทั้งต่อเยาวชน สถาบันการศึกษาและสังคม ทำให้สังคมตระหนักถึงการให้ความสำคัญกับกลุ่มคนเก่งและคนดีที่จะได้รับโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพและทำให้สถาบันการศึกษาตระหนักว่า แม้อยู่ในพื้นที่ห่างไกลก็สามารถพัฒนาเยาวชนที่มีคุณภาพได้เช่นกัน
4. โครงการ ODOS ที่คณะกรรมการอำนวยการ ODOS เสนอมาในครั้งนี้ มีการดำเนินการในลักษณะคล้ายกันกับโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน ของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่ได้มีการดำเนินการมาตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ 2547 จนถึงปัจจุบันมีจำนวน 4 รุ่น (รุ่นที่ 4 ดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 – 2569 โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ขยายระยะเวลาการดำเนินโครงการมาแล้ว 2 ครั้ง คือ เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2563 และวันที่ 26 มีนาคม 2567 ทั้งนี้ ปัจจุบันรุ่นที่ 4 มีผู้สำเร็จการศึกษา จำนวน 544 คน ไม่สำเร็จการศึกษา จำนวน 16 คน พ้นสภาพนักเรียนทุน จำนวน 14 คน ลาออก จำนวน 2 คน สละสิทธิ์ จำนวน 5 คน ยังอยู่ระหว่างการศึกษา จำนวน3 คน) โดยโครงการ ODOS ได้มีแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับการกระจายโอกาสทางการศึกษาให้นักเรียนซึ่งขาดแคลนโอกาส แต่มีผลการเรียนดี มีความประพฤติดีและมีศักยภาพ เช่นเดียวกับโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบรายละเอียดในประเด็นต่าง ๆ ของโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน รุ่นที่ 4 (ที่ยังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน) กับโครงการ ODOS มีความแตกต่างกัน สามารถสรุปได้ดังนี้
หัวข้อ โครงการ | โครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน รุ่นที่ 4 ของ ศธ. (ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน) | โครงการ ODOS ที่เสนอครั้งนี้ (ดำเนินโครงการ โดย กสศ. สำนักงาน ก.พ. และ สป.อว.) |
หลักการ | เป็นการจัดสรรทุนการศึกษาระดับปริญญาตรีให้แก่นักเรียนที่มีผลการเรียนดีระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า สายสามัญหรือสายอาชีพในทุกอำเภอ/เขตทั่วประเทศ (928 ทุน/อำเภอ/เขต) ได้ศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีทั้งในและต่างประเทศในสาขา วิชาที่ขาดแคลนที่เป็นความต้องการของประเทศ | เป็นการให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนที่ขาดแคลนโอกาสแต่มีผลการเรียนดี ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือระดับ ปวช. ต่อเนื่องจนถึงระดับปวส. และ/หรือระดับปริญญาตรีทั้งในและต่างประเทศ ในสาขาวิชาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (Science Technology Engineering and Mathematics: STEM) (สาขาวิชา STEM) |
ประเภททุน | แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ (1) ทุนการศึกษาระดับปริญญาตรีทั้งในประเทศและต่างประเทศ – จำกัดรายได้ครอบครัว ไม่เกิน 200,000 บาท/ปี – กรณีศึกษาต่อต่างประเทศให้ไปศึกษาต่อในกลุ่มประเทศที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก เช่น แคนาดา อาร์เจนตินา ฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาลี ญี่ปุ่น จีน มาเลเซีย สิงคโปร์ – สาขาวิชาด้านวิทยาศาสตร์และด้านสังคม (2) ทุนการศึกษาระดับปริญญาตรีทั้งในประเทศและต่างประเทศ – ไม่จำกัดรายได้ครอบครัว – มุ่งเน้นสาขาวิชาที่ขาดแคลนด้านวิทยาศาสตร์ (เช่น ปิโตรเคมี และวัสดุพอลิเมอร์ พลังงานทดแทนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภัยพิบัติ การแพทย์ตะวันออก) – กรณีศึกษาต่อต่างประเทศ ให้ไปศึกษาต่อในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษและไม่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก | แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ (1) ทุนการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและ ปวช. ในประเทศ (กสศ. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ) – จำกัดรายได้เฉลี่ยของครัวเรือน ไม่เกิน 12,000 บาท/คน/เดือน (2) ทุนการศึกษาระดับ ปวส. และระดับปริญญาตรีในต่างประเทศ (สำนักงาน ก.พ. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ) – จำกัดรายได้เฉลี่ยของครัวเรือน ไม่เกิน 12,000 บาท/คน/เดือน – กำหนดประเทศให้ไปศึกษา ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และเครือรัฐออสเตรเลีย (3) ทุนการศึกษาระดับปริญญาตรีในประเทศ (อว. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ) – จำกัดรายได้เฉลี่ยของครัวเรือน ไม่เกิน 12,000 บาท/คน/เดือน |
เงื่อนไขการ ชดใช้ทุน | ผู้รับทุนทั้ง 2 ประเภทที่สำเร็จการศึกษาแล้วจะต้องทำงานในประเทศไทย ซึ่งสามารถเลือกปฏิบัติงานได้ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนตามความประสงค์ของผู้รับทุน สำหรับผู้รับทุนประเภท 2 ให้ชดใช้ทุนโดยกลับมาทำงานในประเทศไทยเป็นระยะเวลาหนึ่งเท่าของระยะเวลาที่ผู้ได้รับทุนได้รับทุนตามสัญญา หรือหากไม่ปฏิบัติตามสัญญา ให้ชดใช้เงินคืนตามจำนวนที่ใช้ไปพร้อมเบี้ยปรับจำนวนหนึ่งเท่า | ทั้ง 3 ประเภท มีลักษณะการใช้ทุนที่แตกต่างกัน 1. ทุนการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและ ปวช. ในประเทศ : เป็นทุนให้เปล่า (ไม่ต้องชดใช้ทุน) 2. ทุนการศึกษาระดับ ปวส. และระดับปริญญาตรีในต่างประเทศ : เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะต้องทำงานในประเทศไทย ซึ่งสามารถเลือกปฏิบัติงานได้ทั้งหน่วยงานของรัฐหรือเอกชน โดยเน้นให้ปฏิบัติงานในภูมิภาคเป็นลำดับแรก 3. ทุนการศึกษาระดับปริญญาตรีในประเทศ : เมื่อสำเร็จการศึกษาจะต้องทำงานในประเทศไทย โดยสามารถเลือกปฏิบัติงานได้ทั้งในหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนตามความประสงค์ |
แหล่งเงินทุน | งบประมาณแผ่นดินตลอดโครงการปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 – 2569 (มีการขยายระยะเวลาถึงปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 เนื่องจากผู้รับทุนไม่สามารถสำเร็จการศึกษาได้ตามระยะเวลาที่กำหนด) ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 14,493 ล้านบาท | เงินสนับสนุนจากแหล่งทุนต่าง ๆ เช่น โครงการสลากการกุศล ดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 – 2576 ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 4,599.45 ล้านบาท |
กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พิจารณาแล้วเห็นชอบ/ไม่ขัดข้องโดยมีความเห็นเพิ่มเติมบางประการในประเด็นต่างๆ เช่น
(1) สาขาวิชาที่จะให้ทุนการศึกษา ควรพิจารณามาทั้งในสาขาวิชาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (Science Technology Engineering and Mathematics: STEM) และที่ไม่ใช่สาขาวิชา STEM ด้วย เนื่องจากอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศในบางอุตสาหกรรมสำคัญอาจไม่ได้ใช้ทักษะเฉพาะด้าน STEM เท่านั้น เช่น อุตสาหกรรมท่องเที่ยว อุตสาหกรรมด้านเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรม Soft Power ประกอบกับความต้องการแรงงานในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศมีความแตกต่างกันและโอกาส ในการศึกษาในโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนด้าน STEM ยังคงเป็นข้อจำกัดของเด็กยากจน