ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดงาน Kick Off มอบโฉนดต้นไม้และโฉนดต้นยางพารา โดยมีนายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้บริหารในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้าร่วม ณ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเสริมนอกภาคการเกษตร อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมทั้งมีการถ่ายทอดสดเชื่อมโยงไปยัง 144 จุดทั่วประเทศ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ โดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) และการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้ดำเนินการภายใต้เป้าหมายของการพัฒนาศักยภาพต้นไม้และต้นยางพาราให้เป็นสินทรัพย์ ที่สามารถใช้เป็นหลักประกันในระบบสินเชื่อ เชื่อมโยงกับสถาบันการเงินทั้งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และสถาบันการเงินต่างๆ ยกระดับมูลค่าที่ดิน และหนุนเสริมการสร้างรายได้อื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น การประกอบการเนื้อไม้ และกิจกรรมคาร์บอนเครดิต เป็นต้น ซึ่ง ส.ป.ก. และ กยท. ได้มีการศึกษาและกำหนดขั้นตอน วิธีปฏิบัติ รวมทั้งพัฒนาระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ รวมทั้งบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน ในการนำความรู้ ประสบการณ์และนวัตกรรมเทคโนโลยี มาประยุกต์ในการขับเคลื่อนนโยบาย
ศ.ดร.นฤมล กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้ผลักดันโครงการโฉนดต้นไม้และโฉนดต้นยางพารา ต่อเนื่องจากที่ดิน ส.ป.ก. เป็นการสร้างคุณค่าให้เพิ่มขึ้นไม่เฉพาะต้นยางพารา แต่รวมไปถึงต้นไม้ทั้ง 58 ชนิด โดยโครงการดังกล่าว ไม่ได้เป็นเพียงเอกสารรับรองการมีอยู่ของต้นไม้และต้นยางพารา แต่เป็นการเปิดประตูให้ต้นไม้และต้นยางพารากลายเป็นทรัพย์สินที่ใช้การได้ ทั้งในฐานะหลักทรัพย์เพื่อขอสินเชื่อ หรือทรัพย์ที่มีมูลค่าในระบบเศรษฐกิจไทย และเป็นนวัตกรรมที่ช่วยส่งเสริมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน รวมไปถึงสร้างรายได้จากคาร์บอนเครดิต
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ ตั้งเป้าที่จะออกโฉนดต้นยางพาราในพื้นที่สวนยางที่มีเอกสารสิทธิ์ตามกฎหมาย จำนวน 11.17 ล้านไร่ ตามแผน 2 ปี หลังจากให้ไปดูแลพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ให้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายก่อน เพื่อจะสามารถออกโฉนดต้นยางได้ จนครบทั้ง 22 ล้านไร่ทั่วประเทศ เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ที่ดีขึ้น มีความมั่นคงในอาชีพการทำสวนยางอย่างยืน ซึ่งโฉนดสวนยางนั้นจะเพิ่มมูลค่าให้กับต้นยางอย่างน้อยเฉลี่ยประมาณไร่ละ 27,000 บาท ถ้าออกโฉนดต้นยางได้ครบ 22 ล้านไร่ จะทำให้ต้นยางมีมูลค่ารวมถึง 500,000 – 600,000
ล้านบาท และ ส.ป.ก. ที่จะออกโฉนดต้นไม้อีก 1.6 ล้านไร่
ศ.ดร.นฤมล ระบุว่า ขอประชาสัมพันธ์โครงการดีๆ ให้เกษตรกรทั่วประเทศช่วยกันบอกต่อและชักชวนกันมาขึ้นทะเบียน เพื่อที่เราจะได้เดินหน้าแจกโฉนดให้ครบตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ ทั้งนี้ ตนต้องขอบคุณเกษตรกรและผู้บริหารทุกๆ ท่านของกระทรวงเกษตรฯ ที่ร่วมด้วยช่วยกัน ทำให้เกิดเรื่องดีๆ ในวันนี้ขึ้นมาได้ และขอแสดงความยินดีกับพี่น้องเกษตรกรไทยทุกท่านด้วย
ด้านนายอิทธิ กล่าวว่า วันนี้เกษตรกรไม่จำเป็นต้องไปโค่นต้นยางหรือต้นไม้ต่างๆ เพราะต้นไม้เหล่านั้นกลายเป็นสิ่งที่มีคุณค่าในตัวเอง โครงการที่เกิดขึ้นในวันนี้จะทำให้ต้นไม้ที่อยู่บนที่ดินของเกษตรกร มีมูลค่ามหาศาลในอีก 20 ปีข้างหน้า เกษตรกรไทยทุกคนกำลังจะกลายเป็นมหาเศรษฐีระดับหลายสิบล้าน หากให้แต่ที่ดินอย่างเดียวก็จะไม่มีมูลค่าเท่ากับเพิ่มมูลค่าให้ต้นไม้ที่อยู่บนที่ดินที่สามารถนำไปต่อยอดได้ วันนี้สิ่งที่ทุกคนรอคอยมาถึงแล้ว กระทรวงเกษตรฯ จะเดินหน้าทำให้สำเร็จในทุกๆ โครงการที่วางเป้าหมายเอาไว้ เพื่อชีวิตของพวกเราทุกคนครอบครัวเกษตรจะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ทั้งนี้ สำหรับการจัดงาน Kick Off การมอบโฉนดต้นไม้และโฉนดต้นยางพาราในครั้งนี้ ถือเป็นการสร้างการรับรู้ผลการดำเนินงานนโยบายโฉนดต้นไม้และโฉนดต้นยางพารา โดยมีการมอบโฉนดต้นไม้และโฉนดต้นยางพารารวมจำนวนกว่า 11,620 ฉบับ นอกจากนี้ ยังได้มีพิธีลงนามแสดงเจตจำนงระหว่าง ธ.ก.ส. , ส.ป.ก. และ กยท. ในการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวให้เป็นแหล่งทุนใหม่สำหรับเกษตรกร พร้อมจัดกิจกรรมมอบต้นไม้ให้แก่เกษตรกรที่เข้าร่วมงานเป็นสัญลักษณ์แห่งความร่วมมือและการเริ่มต้นผลักดันนโยบายด้วย
นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาล โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตกลงความร่วมมือ ว่าด้วยการพัฒนาระบบจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจแบบ Host to Host ซึ่งจะช่วยรับส่งข้อมูล การจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจระหว่างกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กับ ธ.ก.ส. ได้สะดวก รวดเร็ว และแม่นยำขึ้น และช่วยให้เกษตรกร ผู้ประกอบการ SME นำไม้ยืนต้นมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ ได้เงินทุนไปต่อยอดธุรกิจได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ จะร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนด้านวิชาการ ในการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกร ผู้ประกอบการ และบุคคลทั่วไป มีความรู้เกี่ยวกับการปลูกต้นไม้ ปลูกป่า และใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน รวมถึงการนำไม้ยืนต้นมาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนต่อไป
สำหรับทรัพย์สินที่สามารถนำมาเป็นหลักประกัน ตามกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ ได้แก่
1. กิจการ เช่น ร้านอาหารเคลื่อนที่ (ฟู้ดทรัค)
2. สิทธิเรียกร้อง เช่น สิทธิในเงินฝาก
3. สังหาริมทรัพย์ที่ผู้ให้หลักประกันใช้ในการประกอบธุรกิจ เช่น เครื่องจักร
4. อสังหาริมทรัพย์ในกรณีที่ผู้ให้หลักประกันประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยตรง เช่น คอนโดมิเนียม
5. ทรัพย์สินทางปัญญา เช่น เครื่องหมายการค้า สิทธิบัตร ลิขสิทธิ์
6. ทรัพย์สินอื่น ได้แก่ ไม้ยืนต้น ปัจจุบัน ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2567 สถาบันการเงินมีการจดทะเบียน รับไม้ยืนต้นเป็นหลักประกันแล้วจำนวน 167,302 ต้น วงเงินหลักประกันกว่า 185 ล้านบาท และเฉพาะ ธ.ก.ส. ซึ่งเป็นธนาคารแห่งแรกที่รับไม้ยืนต้นเป็นหลักประกันทางธุรกิจ ได้รับไม้ยืนต้นเป็นหลักประกันแล้ว จำนวน 1,520 ต้น วงเงินหลักประกันมากกว่า 10 ล้านบาท
นายอนุกูล ระบุว่า การใช้ไม้ยืนต้นมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ เกษตรกรและผู้ประกอบการ SME สามารถนำไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมาเป็นหลักประกันการขอสินเชื่อได้โดยไม่ต้องตัดต้นไม้ และ
ยังสามารถสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้นในอนาคต จากการเติบโตของต้นไม้ รวมทั้งเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนเครดิต สอดรับกับการพัฒนาธุรกิจของไทยสู่อนาคตที่ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับการสร้างเศรษฐกิจสีเขียว