นายกฯ เยือนเวียดนาม 15 – 16 พ.ค. เปิดความสัมพันธ์หน้าใหม่ครอบคลุมทุกมิติ

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ก่อนการเดินทางเยือนสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม อย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 15-16 พฤษภาคม 2568 ถือเป็นการเยือนครั้งแรกในฐานะนายกรัฐมนตรี เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเวียดนามในระดับความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้าน (Comprehensive Strategic Partnership) ที่สำคัญจะมีการประชุม (Joint Cabinet Retreat: JCR) ไทย–เวียดนาม ครั้งที่ 4 (เป็นการประชุมร่วมกันระหว่างคณะรัฐมนตรีของทั้ง 2 ประเทศ) ถือว่าเป็นโอกาสดีของทั้ง 2 ประเทศ โดยเนื้อหาที่จะไปหารือจะเป็นเรื่องของสังคม เช่น ปัญหาเรื่องยาเสพติด ปัญหาออนไลน์ สแกมเมอร์ ที่ทุกประเทศกำลังเผชิญอยู่ และเรื่องเศรษฐกิจ ที่ประเทศไทยและเวียดนามมีหลายอย่างที่คล้ายกันเพื่อมาร่วมกันพิจารณาว่ามีจุดใดบ้างที่จะช่วยเหลือกันได้ และจะมีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ที่เวียดนามด้วย

“การยกระดับความสัมพันธ์ในครั้งนี้ เห็นได้ชัดว่าเวียดนามไม่ได้ให้กับทุกประเทศ ซึ่งการที่ยกระดับให้กับประเทศไทยเป็นสิ่งที่เขามีความสัมพันธ์อันดีกับเรา เขาพร้อมที่จะร่วมมือในเรื่องของการผลักดันให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างแข็งแรง ซึ่งเป็นรูปแบบความสัมพันธ์ทวิภาคีที่เวียดนาม มีกับไม่กี่ประเทศและจะเป็นพื้นฐานในการส่งเสริมความร่วมมือ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทยที่เวียดนามให้ความสำคัญจะเป็นที่จับตามองของทั่วโลก ที่ประเทศไทยอยู่ในรายชื่อที่เวียดนามให้ความสำคัญ ซึ่งตรงนี้จะเพิ่มความสนใจและเพิ่มโอกาสให้กับประเทศได้”

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้ จะเน้นย้ำในเรื่องของผลไม้ไทยที่ปีนี้ได้ผลผลิตจำนวนมาก เนื่องจากสภาพอากาศดี หากได้พูดคุยกับเวียดนามด้วยก็จะเป็นการเปิดตลาด เป็นการเพิ่มโอกาสให้กับคนไทยด้วย รวมถึงการพัฒนาในเรื่องของทุนมนุษย์ จะเห็นได้ชัดว่าเวียดนามพัฒนาในเรื่องของทรัพยากรบุคคลได้รวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็น AI เซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเราก็เน้นย้ำในเรื่องนี้ขณะนี้ได้ดึงนักลงทุนเข้ามาแล้ว แต่ในเรื่องการพัฒนาคนยังต้องเร่งเครื่องอีก หากได้พูดคุยปรึกษากับทางเวียดนามก็มีอาจจะมีเทคนิค เพื่อช่วยในเรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งรัฐบาลพยายามเตรียมคนเผื่อไว้ในอนาคตด้วย โดยให้มีการศึกษา มีทักษะ ในเรื่องของ AI เซมิคอนดักเตอร์ หรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะเข้ามาในประเทศหรือที่กำลังส่งผลอย่างมากในรอบโลก

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ ประกอบไปด้วยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายพรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และนายชัย วัชรงค์ ผู้แทนการค้าไทย เดินทางถึงท่าอากาศยานนานาชาติโหน่ยบ่าย กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยมีนายเหวียน วัน หุ่ง (H.E. Mr. Nguyen Van Hung) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยวสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ในฐานะรัฐมนตรีเกียรติยศ และนายเหวียน แหม่ง เกื่อง (H.E. Mr. Nguyen Manh Cuong) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม พร้อมด้วยนายฝั่ม เหวียต หุ่ง (H.E. Mr. Pham Viet Hung) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามประจำประเทศไทย รอให้การต้อนรับ

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ภารกิจแรกของนายกรัฐมนตรีได้พบหารือกับภาคเอกชนของไทยที่มาลงทุนอยู่ในประเทศเวียดนาม โดยผู้บริหารหอการค้าและอุตสาหกรรมไทยในเวียดนาม (Thai Chamber of Commerce and Industry: ThaiCham) ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกมากกว่า 140 บริษัท เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากภาคเอกชนไทยที่ดำเนินธุรกิจในเวียดนาม

สำหรับผู้บริหารภาคเอกชนไทยที่ดำเนินธุรกิจในเวียดนามที่ร่วมหารือ อาทิ นายประวีณ วิโรจน์พันธุ์ ประธาน ThaiCham และผู้จัดการทั่วไป SCG Vietnam และบริษัทไทยที่มีบทบาทสำคัญในเวียดนาม อาทิ SCG, AMATA, WHA, KASIKORNBANK, EXIM Bank, CP Group, Super Energy, Central Retail, ThaiBev และ Siam Piwat เป็นต้น

นายกรัฐมนตรีกล่าวชื่นชม ThaiCham ที่เป็นหอการค้าไทยในต่างประเทศที่เข้มแข็งที่สุดแห่งหนึ่ง และกล่าวว่า เป็นการเยือนอย่างเป็นทางการในรอบ 10 ปี ซึ่งจะได้นำคณะรัฐมนตรีของไทยเข้าร่วมการประชุม Joint Cabinet Retreat ไทย – เวียดนาม ในวันที่ 16 พฤษภาคม 2568 จะหารือประเด็นความร่วมมือและประเด็นในการเจรจาต่าง ๆ ทั้งในด้านการค้า การลงทุน และการเชื่อมโยง รวมถึงผลักดันความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ทั้งในระดับทวิภาคีและในกรอบประชาคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน เพื่อร่วมรับมือกับความเสี่ยงต่าง ๆ ที่มาจากปัจจัยภายนอกภูมิภาค

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงสาระสำคัญของการเยือนครั้งนี้คือ การประกาศยกระดับความสัมพันธ์ไทย – เวียดนาม ให้เป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้าน ระหว่างสองประเทศให้ลึกซึ้งและรอบด้านมากยิ่งขึ้น ท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ เศรษฐกิจเวียดนามกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นทั้งความท้าทายของประเทศไทย ในแง่การดึงดูดการค้าและการลงทุน ในขณะเดียวกันเป็นโอกาสใหม่สำหรับประเทศไทยเช่นกัน จึงขอรับฟังและแลกเปลี่ยนมุมมองกับนักลงทุนไทยที่ได้เข้ามาขยายการลงทุนธุรกิจในประเทศเวียดนาม เพื่อนำไปเป็นข้อมูลในการจัดทำนโยบายของไทยที่เกี่ยวข้อง อาทิ แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของเวียดนาม โดยเฉพาะจุดแข็งและแนวปฏิบัติของเวียดนาม ในการผลักดันการค้าและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ผลกระทบและแนวทางของเวียดนามต่อมาตรการภาษีของสหรัฐฯ รวมถึงการขยายโอกาสด้านการค้าการลงทุนของไทยและการขยายร่วมมือกับเวียดนามในอนาคต

ในโอกาสนี้ ผู้แทนภาคเอกชนไทยในเวียดนามได้ให้มุมมองเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของเวียดนาม และบทเรียนที่ประสบความสำเร็จของเวียดนาม เช่น การสร้างระบบนิเวศเพื่อดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ การสร้างความเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานโลก การจัดทำเขตการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA) ที่มีต้นทุนการผลิตต่ำ รวมถึงการมีสัดส่วนประชากรในวัยทำงานสูงที่ช่วยส่งเสริมการบริโภค เป็นต้น 

นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณภาคเอกชนไทยที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความสัมพันธ์ไทย-เวียดนาม ในระดับประชาชนและเศรษฐกิจ พร้อมเน้นย้ำว่ารัฐบาลพร้อมสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้กับภาคธุรกิจไทยในต่างประเทศ และรับข้อเสนอที่ได้รับเพื่อนำไปสู่การกำหนดนโยบายที่สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการไทยบนเวทีโลกและชื่นชมที่ ThaiCham เป็นกลไกสำคัญในการประสานความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและเวียดนามในระดับภาคเอกชน

นายกรัฐมนตรี ได้พบหารือกับผู้บริหารระดับสูงของบริษัท SOVICO Group และบริษัท FPT Corporation ซึ่งเป็นภาคเอกชนชั้นนำของเวียดนาม เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองและแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การลงทุน และนวัตกรรมในภูมิภาค สรุปดังนี้

  • นายกรัฐมนตรีได้พบหารือกับ นายเหวียน แทงห์ หุ่ง (Nguyen Thanh Hung) ประธานบริษัทและกลุ่ม Sovico โดยบริษัท SOVICO Group ดำเนินธุรกิจครอบคลุมการบิน พลังงาน และการเงิน รวมถึงสายการบิน Vietjet Air ได้แสดงความยินดีที่บริษัท SOVICO เข้ามาลงทุนในประเทศไทย และชื่นชมความสำเร็จของสายการบิน Vietjet Air และพร้อมที่จะสนับสนุนแผนการขยายการลงทุนของ Thai Vietjet ในประเทศไทย ทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องกันถึงศักยภาพการขยายเส้นทางบินจากเวียดนามไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ที่จะช่วยส่งเสริมการขยายธุรกิจและการท่องเที่ยวระหว่างสองประเทศมากขึ้น บริษัทฯ แสดงความสนใจที่จะขยายธุรกิจการบินในไทย รวมถึงการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรและศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) และศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรการบิน
  • นายกรัฐมนตรีพบหารือกับนายฝ่าม มิงห์ ถวน (Pham Minh Tuan) รองประธานบริหาร บริษัท FPT Corporation ผู้นำด้านเทคโนโลยีและซอฟต์แวร์ของเวียดนาม และดำเนินธุรกิจด้านการศึกษา โดยได้เปิดมหาวิทยาลัย FPT เป็นของตัวเอง ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอบคุณที่บริษัทเข้ามาลงทุนในภาคธุรกิจแห่งอนาคต ทั้ง AI และ Data Cloud รวมทั้งการศึกษา และยินดีต่อข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง FPT กับมหาวิทยาลัยขอนแก่น

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำต่อภาคเอกชนว่า รัฐบาลไทยพร้อมอำนวยความสะดวกต่อภาคเอกชนเวียดนามในการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียวและการเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีในภูมิภาค ด้วยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนของทั้งสองประเทศจะเป็นกลไกสำคัญในการยกระดับความสัมพันธ์ไทย-เวียดนาม

นายกรัฐมนตรี เข้าเยี่ยมคารวะนายเจิ่น แทงห์ เหมิน (H.E. Mr. Tran Thanh Man) ประธานสภาแห่งชาติเวียดนาม นายกรัฐมนตรียินดีที่รัฐสภาทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ใกล้ชิด และหวังว่าจะขยายความร่วมมือในการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยและเวียดนามอย่างต่อเนื่อง การใช้ประโยชน์จากกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาไทย-เวียดนามให้มากขึ้นและการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านนิติบัญญัติ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาประเทศและความเข้าใจซึ่งกันและกัน

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังเน้นย้ำถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะชาวไทยเชื้อสายเวียดนามกว่า 1 แสนคน ถือเป็นสะพานเชื่อมความสัมพันธ์อย่างยั่งยืน โดยนายกรัฐมนตรีเสนอให้มีการจัดแคมเปญร่วมส่งเสริมธุรกิจและการท่องเที่ยวระหว่างเวียดนามกับจังหวัดในภาคอีสานของไทย พร้อมมอบหมายให้เมืองคู่มิตรของทั้งสองประเทศกว่า 20 คู่เมือง ดำเนินกิจกรรมเชื่อมโยงเศรษฐกิจท้องถิ่น (business matching) อย่างต่อเนื่อง และการเชื่อมโยงคมนาคม ทั้งทางบกและเส้นทางการบิน นายกรัฐมนตรีและประธานสภาฯ เวียดนาม เชื่อมั่นว่าความร่วมมือระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและประชาชนของทั้งสองประเทศ จะเป็นพลังสำคัญในการสนับสนุนความสัมพันธ์ไทย-เวียดนาม ที่ยั่งยืนทั้งในระดับทวิภาคีและภูมิภาค

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำ ที่นายฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ (H.E. Mr. Pham Minh Chinh) นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เป็นเจ้าภาพจัดขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรี ณ ทำเนียบรัฐบาลสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

การประชุม JCR จัดขึ้นครั้งแรกในสมัยรัฐบาลอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2547 และครั้งล่าสุดในปี 2555 ในสมัยรัฐบาลอดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สำหรับครั้งนี้จะเป็นการประชุม JCR เป็นครั้งที่ 4 ในรอบ 20 ปี โดยนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานร่วมการประชุม

ช่วงเช้า นายกรัฐมนตรีได้รับเกียรติในพิธีวางพวงมาลา ณ สุสานอดีตประธานาธิบดีโฮจิมินห์ และอนุสาวรีย์วีรชนและผู้เสียสละบั๊กเซิน และเข้าร่วมพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการและหารือระดับนายกรัฐมนตรี กับนายฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ (Pham Minh Chinh) นายกรัฐมนตรีเวียดนาม รวมถึงการประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการ (Joint Cabinet Retreat: JCR) ไทย–เวียดนาม ครั้งที่ 4

ช่วงบ่าย นายกรัฐมนตรีจะกล่าวเปิดงานสัมมนาทางธุรกิจไทย-เวียดนาม (Thailand-Vietnam Business Forum) ร่วมกับผู้นำเวียดนาม พร้อมเข้าเยี่ยมคารวะผู้นำระดับสูงของรัฐบาลเวียดนาม ก่อนเดินทางกลับไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง