กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศว่า ประเทศไทยได้สิ้นสุดฤดูร้อนและเริ่มต้นเข้าสู่ฤดูฝน ในวันที่ 15 พฤษภาคม 2568 เนื่องจากบริเวณประเทศไทยตอนบน สภาพอากาศมีฝนตกชุกหนาแน่นครอบคลุมพื้นที่มากกว่าร้อยละ 60 และต่อเนื่อง 3 วันขึ้นไป ประกอบกับลมชั้นบนที่พัดปกคลุมประเทศไทยที่ระดับความสูงประมาณ 1.5 กิโลเมตร ได้เปลี่ยนทิศเป็นลมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งจะพัดนำความชื้นจากทะเลอันดามันเข้ามาปกคลุมบริเวณประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ส่วนลมชั้นบนที่ระดับความสูงประมาณ 10 กิโลเมตร ได้เปลี่ยนทิศเป็นลมฝ่ายตะวันออก ซึ่งถือว่าเป็นการเข้าสู่ฤดูฝนของประเทศไทยในปีนี้ ในช่วงต้นฤดูฝนจะมีปริมาณฝนน้อย หลังจากนั้นปริมาณและการกระจายของฝนจะเพิ่มขึ้น สำหรับฤดูฝนของประเทศไทยตอนบนจะสิ้นสุดประมาณกลางเดือนตุลาคม ส่วนภาคใต้โดยเฉพาะฝั่งตะวันออกจะมีฝนตกชุกหนาแน่นต่อไปอีกจนถึงกลางเดือนมกราคม 2569
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 6/2568 โดยมี นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการ สทนช. พร้อมด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดริมฝั่งแม่น้ำโขง (จังหวัดเชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี อุดรธานี และสกลนคร) ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วมประชุม
ดร.สุรสีห์ เปิดเผยว่า ช่วง 3 เดือนแรกคือ ช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2568 มีแนวโน้มมีปริมาณฝนมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติ ในช่วงวันที่ 15 – 16 พฤษภาคม 2568 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะมีกำลังแรงขึ้น จึงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ฝนในพื้นที่ภาคใต้ริมฝั่งทะเลอันดามัน ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคเหนือตอนล่าง จากนั้นปริมาณ ฝนจะเบาลง และมีแนวโน้มว่าในช่วงวันที่ 24 – 25 พฤษภาคม 2568 ปริมาณฝนจะเพิ่มขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่มีกำลังแรงขึ้น ซึ่งพื้นที่ที่ต้องระวังเป็นพิเศษ คือ จังหวัดเชียงราย บริเวณริมฝั่งแม่น้ำแม่สายที่อยู่ในระหว่างการขุดลอกลำน้ำที่จะดำเนินการแล้วเสร็จในช่วงสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ จึงจำเป็นต้องเฝ้าระวังและเตรียมการป้องกันอย่างใกล้ชิด
สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission Secretariat หรือ MRCS ก่อตั้งขึ้น เพื่อสนับสนุนภารกิจของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ซึ่งประกอบด้วยประเทศสมาชิก 4 ประเทศ คือ ไทย ลาว กัมพูชา และ เวียดนาม) ได้ประเมินสถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขงว่า ในช่วงเดือนกรกฎาคม บางพื้นที่มีแนวโน้มเสี่ยงเกิดน้ำล้นตลิ่งได้ ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ปริมาณฝนที่พบว่า ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2568 มีปริมาณฝนตกมากโดยเฉพาะในพื้นที่ริมแม่น้ำโขง สทนช. ในฐานะสำนักงานเลขาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ได้ประสาน MRCS เพื่อหารือแนวทางการป้องกันและการประชุมหารือทวิภาคีด้านการบริหารจัดการน้ำระหว่างไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา โดยมีข้อสรุปที่จะจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ (Ad Hoc Flood Task Team) ระหว่างไทย – สปป.ลาว และ MRC เพื่อสนับสนุนข้อมูลสำหรับเตรียมการรับมือพื้นที่เสี่ยงน้ำล้นตลิ่งและการแจ้งเตือนภัยน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำในช่วงฤดูฝนนี้ รวมทั้งการแลกเปลี่ยนข้อมูลเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ เพื่อบริหารจัดการน้ำแม่น้ำโขงร่วมกันในรูปแบบลุ่มน้ำ ทั้งนี้ หากแนวโน้มปริมาณฝนในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงมีจำนวนมาก ต้องวางแผนเร่งพร่องและระบายน้ำออกไปก่อน จะช่วยบรรเทาผลกระทบน้ำล้นตลิ่งได้ โดย สทนช. จะเฝ้าติดตามและประเมินสถานการณ์ พร้อมประสานงานกับผู้ว่าราชการจังหวัดริมฝั่งแม่น้ำโขงอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ยังได้ติดตามแผนการระบายน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ต่างๆ ที่มีผลการระบายน้อยกว่าแผน เช่น อ่างเก็บน้ำห้วยหลวง อ่างเก็บน้ำน้ำพุง อ่างเก็บน้ำน้ำอูน เป็นต้น ได้กำชับให้เร่งพร่องน้ำให้เป็นไปตามแผน
เพื่อเพิ่มพื้นที่รองรับปริมาณฝนที่ตกหนักในช่วงปลายปี เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ประเทศไทยอาจมีพายุจรเข้ามา 1-2 ลูก ในช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม และประมาณช่วงเดือนตุลาคม ปรากฏการณ์ลานีญาอาจกลับมาและส่งผลให้ฝนตกเพิ่มมากขึ้น จึงต้องบริหารจัดการน้ำอย่างรัดกุม ทั้งนี้ ในช่วงต้นเดือนมิถุนายน การคาดการณ์สถานการณ์แม่น้ำโขงจะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น และจะประสานงานจังหวัดอย่างใกล้ชิด พร้อมเร่งสร้างการรับรู้ด้านสถานการณ์น้ำให้กับประชาชน เพื่อพร้อมรับมือฤดูฝนปีนี้ และบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงทีต่อไป
กรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำว่า ปัจจุบัน (14 พ.ค.68) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 42,615 ล้าน ลบ.ม. (56% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) สามารถรองรับน้ำได้อีก 33,722 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 12,998 ล้าน ลบ.ม. (52% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 11,873 ล้าน ลบ.ม. ภาพรวมสถานการณ์น้ำเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้
ในส่วนของการรับมือกับฤดูฝนปี 2568 นี้ กรมชลประทาน ได้เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝนตามมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2568 ของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ด้วยการกำหนดพื้นที่ วิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงอุทกภัยซ้ำซาก พร้อมบริหารจัดการน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดควบคู่กับการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้งหน้า รวมทั้งกำหนดคนและทรัพยากร ติดตามวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ มีการประสานข้อมูลระหว่างหน่วยงานส่วนกลางและหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนให้ประชาชนได้รับทราบสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง และตรวจสอบสภาพความมั่นคงของอาคารชลประทานให้สามารถใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมด้วย ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ให้การต้อนรับ ฯพณฯ ธาว เชตฐา (H.E. Mr. Thor Chetha) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรน้ำและอุตุนิยมวิทยาแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา และคณะ ในโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะและประชุมหารือความร่วมมือทวิภาคีด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ระหว่างราชอาณาจักรไทยและราชอาณาจักรกัมพูชา ณ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงทรัพยากรน้ำและอุตุนิยมวิทยาแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา และคณะ ได้เดินทางไปศึกษาดูงาน ณ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการจัดการข้อมูล รวมถึงการแลกเปลี่ยนและแบ่งปันข้อมูลด้านน้ำกับหน่วยงานด้านทรัพยากรน้ำของประเทศไทย
การหารือความร่วมมือทวิภาคีระหว่างไทยและกัมพูชาในครั้งนี้ เกิดขึ้น เนื่องจากประเทศกัมพูชามีความเชื่อมั่นในการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทย จึงมีความประสงค์หารือแนวทางพัฒนาความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำระหว่างไทย – กัมพูชา โดยกัมพูชาประสงค์จัดทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับ สทนช. เพื่อความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การขับเคลื่อนความร่วมมือเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์น้ำท่วมและน้ำแล้งอย่างทันท่วงที รวมถึงการพัฒนาความร่วมมือด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมสำหรับการบูรณาการข้อมูลด้านทรัพยากรน้ำ พร้อมย้ำว่าการทำ MOU เพื่อเป็นกลไกและกรอบในการขับเคลื่อนความร่วมมือด้านการจัดการทรัพยากรน้ำข้ามพรมแดน การแลกเปลี่ยนทางวิชาการและองค์ความรู้ รวมถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สามารถนำมาปรับใช้ในบริบทของสองประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ร่วมหารือประเด็น การบริหารจัดการน้ำข้ามพรมแดน ในพื้นที่ลุ่มน้ำโตนเลสาบของไทยและกัมพูชา ซึ่งได้มีการดำเนินโครงการบริหารจัดการอุทกภัยและภัยแล้งพื้นที่ชายแดน (9C-9T) ซึ่งเป็นลุ่มน้ำย่อยของลุ่มน้ำโตนเลสาบ บริเวณจังหวัดสระแก้วและจันทบุรี ของไทย และจังหวัดบันเตียเมียนเจย พระตะบองและไพลิน ของกัมพูชา ภายใต้กรอบความร่วมมือของ MRC มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2561 โดยมุ่งพัฒนาการบริหารจัดการความเสี่ยงจากอุทกภัยและภัยแล้งข้ามพรมแดนให้มีประสิทธิภาพ ลดความเสื่อมโทรมของลุ่มน้ำ และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชน ซึ่งการหารือร่วมกันในครั้งนี้จะช่วยสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนของลุ่มน้ำและชุมชนในพื้นที่ รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองประเทศและเสริมสร้างความร่วมมือในระดับภูมิภาคอีกด้วย
นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิด “โครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการติดตามสถานการณ์น้ำ เพื่อเฝ้าระวังและรับมือภัยแล้ง-อุทกภัย” ครั้งที่ 2 สำหรับพื้นที่ภาคกลาง ซึ่งจัดขึ้นโดยกระทรวง อว. โดยสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. และ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ระหว่างวันที่ 14 – 15 พฤษภาคม 2568 โดยมีผู้เข้าร่วมอบรมจำนวน 120 คน จาก 8 จังหวัด ได้แก่ ลพบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สระบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และนนทบุรี
นางสาวศุภมาส กล่าวว่า โครงการนี้มีแผนจัดอบรมทั้งสิ้น 6 ครั้ง ครอบคลุม 76 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งการอบรมครั้งแรกได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 30 เมษายน – 1 พฤษภาคม 2568 ในพื้นที่ภาคเหนือ ณ มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก มีผู้เข้าร่วมกว่า 200 คน สำหรับการอบรมครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ในพื้นที่ภาคกลาง และจะมีการจัดต่อเนื่องในภูมิภาคอื่นๆ เป็นลำดับต่อไป ปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยยังคงเป็นความท้าทายสำคัญที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และข้อมูลสารสนเทศ เช่น ข้อมูลจากระบบคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ ข้อมูลดาวเทียมและภูมิสารสนเทศ มาใช้วิเคราะห์ วางแผนและบริหารสถานการณ์น้ำได้อย่างแม่นยำและทันท่วงที
ด้าน ดร.รอยบุญ กล่าวว่า โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2564-2570 เพื่อส่งเสริมให้บุคลากรของกระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลสำคัญด้านทรัพยากรน้ำ อาทิ ระบบคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ ข้อมูลดาวเทียม ข้อมูลภูมิสารสนเทศและข้อมูลจากเรดาร์ชายฝั่ง รวมถึงระบบเพื่อการตัดสินใจ สนับสนุนและวางแผนงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นอกจากนี้ สสน. ยังได้ร่วมมือกับเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษา 5 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการพัฒนาหลักสูตรประกาศนียบัตร (Non-Degree Program) ด้านการจัดการน้ำ ชุมชนตามแนวพระราชดำริ เพื่อยกระดับองค์ความรู้และทักษะของบุคลากรในพื้นที่ ให้สามารถบริหารจัดการทรัพยากรน้ำได้อย่างเหมาะสมกับบริบทของชุมชนตนเอง และยังเป็นการขับเคลื่อนนโยบาย อว. for Water เพื่อการบริหารจัดการน้ำของประเทศอย่างยั่งยืน โดยหวังว่าจะนำไปสู่การสร้างความมั่นคงด้านน้ำในระยะยาวและเสริมความเข้มแข็งให้กับชุมชนและประเทศ