ไทย-เวียดนาม บรรลุความร่วมมือสำคัญครอบคลุมการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ-สังคม-อาชญากรรม พร้อมเปิดมิติใหม่ การค้า-การท่องเที่ยว-การลงทุน

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมพิธีวางพวงมาลา ณ อนุสาวรีย์วีรชนและผู้เสียสละบั๊กเซิน ซึ่งเป็นอนุสรณ์สถานสำคัญที่สร้างขึ้น เพื่อรำลึกถึงวีรกรรมของนักปฏิวัติผู้เสียสละชีวิต เมื่อปี ค.ศ. 1940
ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของขบวนการต่อสู้ของเวียดนาม ภายใต้การนำของอดีตประธานาธิบดีโฮจิมินห์

จากนั้น นายกรัฐมนตรีเดินทางต่อไปยังสุสานโฮจิมินห์ ตั้งอยู่ที่จัตุรัสบาดิ่งห์ สถานที่ซึ่งอดีตผู้นำโฮจิมินห์ เคยอ่านคำประกาศเอกราชของเวียดนามในปี ค.ศ.1945 โดยโฮจิมินห์เป็นบุคคลสำคัญของเวียดนาม ผู้ได้รับการยกย่องในฐานะ “บิดาแห่งชาติ” ที่นำพาประเทศสู่การประกาศเอกราช และเป็นผู้ประกาศก่อตั้งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม 

ณ ทำเนียบรัฐบาลเวียดนาม กรุงฮานอย นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการ ซึ่งนายฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ (H.E. Mr. Pham Minh Chinh) นายกรัฐมนตรีเวียดนาม จัดขึ้นอย่างสมเกียรติในโอกาสการเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการครั้งแรกในฐานะนายกรัฐมนตรี

จากนั้น ทั้งสองฝ่ายได้หารือทวิภาคี โดยมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ร่วมหารือกระชับความสัมพันธ์ เพื่อผลักดันความร่วมมือในทุกมิติระหว่างสองประเทศ

 นายกรัฐมนตรีไทยและเวียดนาม ยืนยันเจตนารมณ์ร่วมกันในการยกระดับความสัมพันธ์เป็น “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้าน” (Comprehensive Strategic Partnership) และหารือกันอย่างกว้างขวาง ทั้งด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคม พร้อมเน้นย้ำถึงความสำคัญของการรักษาการแลกเปลี่ยนระดับสูงระหว่างสองประเทศอย่างสม่ำเสมอ และเห็นพ้องกับไทยในการส่งเสริมกลไกความร่วมมือ ด้านความมั่นคง การส่งเสริมเติบโตของการค้าไทย–เวียดนามที่สมดุลมากขึ้น พร้อมสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชนซึ่งกันและกันของทั้ง 2 ประเทศ ทั้งสองฝ่ายยังหารือถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยว รวมถึง แลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับประเด็นภูมิภาค

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย และนายฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ (H.E. Mr. Pham Minh Chinh) นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ร่วมเป็นประธานในการประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการไทย–เวียดนาม หรือ Joint Cabinet Retreat (JCR) ครั้งที่ 4 โดยมีรัฐมนตรีของทั้งสองฝ่ายเข้าร่วม

โดยฝ่ายไทย ประกอบไปด้วย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายสรวงศ์ เทียนทองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง สำหรับฝ่ายรัฐมนตรีเวียดนาม ประกอบด้วย นายบุ่ย แทงห์ เซิน (H.E. Mr. Bui Thanh Son)
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเวียดนาม นายเหวียน ห่ง เยียน (H.E. Mr. Nguyen Hong Dien) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม นายเหวียน วัน หุ่ง (H.E. Nguyen Van Hung) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว  

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเวียดนาม กล่าวชื่นชมการเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีไทย ว่าอยู่ในช่วงเวลาที่เหมาะสม เพราะปัจจุบันภูมิรัฐศาสตร์โลกมีความท้าทายจากระเบียบโลกรูปแบบเดิม
กำลังจางหายไป ขณะเดียวกันระเบียบโลกใหม่ก็ยังไม่ชัดเจน ไทย-เวียดนาม จึงต้องร่วมมืออย่างรอบด้าน ทั้งความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

 โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร กล่าวเปิดการประชุม โดยยินดีที่ได้เยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการครั้งแรกและได้ร่วมเป็นประธานการประชุม JCR ครั้งที่ 4 นี้ ถือเป็นกลไกความร่วมมือพิเศษเฉพาะระหว่างไทยกับเวียดนาม ซึ่งเป็นการริเริ่มของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร และมีการสานต่อโดยอดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก่อนจะถึงในครั้งนี้ สะท้อนความตั้งใจต่อเนื่องในการพัฒนาความสัมพันธ์ไทย–เวียดนาม นายกรัฐมนตรียังชื่นชมเวียดนามที่มีการเติบโตอย่างรุดหน้าจากการพัฒนา รัฐบาลนี้ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และสนใจโมเดลการพัฒนา “คน” ของเวียดนามด้วย  และยินดีที่ทั้งสองฝ่ายมีเป้าหมายผลักดันมูลค่าการค้าทวิภาคีให้ถึง 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเร็วด้วย

 ในการประชุมรัฐมนตรีทั้งสองฝ่ายได้รายงานผลการหารือและข้อเสนอแนะในประเด็นสำคัญ 3 เสาหลัก ได้แก่ ความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคมและประชาชน ดังนี้

ด้านการเมืองและความมั่นคง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวเสนอให้มีการจัดทำ “แผนปฏิบัติการภายใต้หุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้าน” (Strategic Plan of Action) ภายในปีนี้ การจัดตั้งกลไกการปรึกษาหารือระดับสูง (High-Level Consultation : HLC) ระหว่างผู้บัญชาการทหารสูงสุดไทยและเวียดนาม รวมถึงการเร่งรัดความร่วมมือในการต่อต้านยาเสพติด อาชญากรรมข้ามชาติ online scam และการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) โดยเวียดนามยินดีสนับสนุนแนวทางเหล่านี้และเห็นชอบในการผลักดันกลไกเพื่อสร้างความมั่นคงร่วมกันระยะยาว

 ด้านเศรษฐกิจ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวขอบคุณเวียดนามที่สนับสนุนการขนส่งผลไม้ไทยข้ามพรมแดน เพื่อส่งออกไปยังจีน ซึ่งไทยขอเสนอให้มีการเร่งรัดการเจรจา เปิดตลาดการค้าโดยเฉพาะสินค้าเกษตรและปศุสัตว์ เพื่อช่วยให้บรรลุเป้าหมายทางการค้า 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ควบคู่กับการขยายระบบนิเวศเพื่อการใช้ระบบชำระเงินผ่าน QR Code และการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่น ขณะที่เวียดนามเห็นชอบในการเพิ่มห่วงโซ่การผลิตร่วมกัน และยินดีสนับสนุนการส่งออกสินค้าไทยไปจีนโดยผ่านเวียดนาม พร้อมเสนอให้ไทยเพิ่มการลงทุนในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ เช่น การเกษตรและวิทยาศาสตร์การเกษตร โลจิสติกส์ ค้าปลีก รวมทั้ง ผลักดันระบบการเชื่อมโยงธนาคารและระบบชำระเงินผ่าน QR Code เชื่อว่าจะสนับสนุนการค้าและการท่องเที่ยวระหว่างกันด้วย

 ด้านสังคมและประชาชน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เสนอการเชื่อมโยงทั้งสองประเทศอย่างไร้รอยต่อ เช่น 6 ประเทศ 1 เป้าหมายการท่องเที่ยว การเดินทางท่องเที่ยวทางรถยนต์
หรือจักรยานยนต์และการท่องเที่ยวโดยเรือสำราญ การเชื่อมโยงเที่ยวบินตรงระหว่างเวียดนามกับจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย รวมถึง การใช้กลไกเมืองคู่มิตรเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระดับท้องถิ่น รวมทั้ง การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในสาขาเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น STEM (Science, Technology, Engineering and Mathematics หรือการบูรณาการความรู้ระหว่าง 4 สาขาวิชา ได้แก่ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์) AI และเซมิคอนดักเตอร์ โดยเวียดนามกล่าวสนับสนุนการเชื่อมโยงท่องเที่ยว 6 ประเทศ 1 ปลายทางการท่องเที่ยว และจะเข้าร่วมการแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 33 ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพในปลายปีนี้

 ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีแพทองธาร เน้นย้ำถึงความสำเร็จของ JCR ครั้งนี้ ที่มีการหารืออย่างสร้างสรรค์และครอบคลุม โดยได้มอบหมายให้หน่วยงานของทั้งสองประเทศนำผลการประชุมไปสานต่ออย่างเร่งด่วน เพื่อเปิดศักราชใหม่ของความเป็น “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้าน” (Comprehensive Strategic Partnership) และร่วมกันเสริมสร้างเสถียรภาพ ความเจริญรุ่งเรือง และความมั่นคงในภูมิภาค

 การประชุมครั้งนี้ ถือเป็นการยืนยันเจตนารมณ์ร่วมกันของทั้งสองประเทศที่จะยกระดับความสัมพันธ์ให้ลึกซึ้งและใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น พร้อมมุ่งสู่การเป็น “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้าน” อย่างแท้จริง ซึ่งหน่วยงาน
ที่เกี่ยวข้องทั้งสองฝ่ายจะได้สานต่อผลการประชุมต่อไป โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรียังเชิญนายกรัฐมนตรีเวียดนามเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในปลายปีนี้ เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดแม่โขง–ล้านช้าง ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพ

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ (Pham Minh Chinh) นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ร่วมเป็นสักขีพยาน ในพิธีแลกเปลี่ยนความตกลงและเอกสารระหว่างไทยกับเวียดนาม จำนวน 8 ฉบับ ได้แก่  

  1. บันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนามว่าด้วยความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้า 
  2. กิจกรรมส่งมอบงบประมาณสนับสนุนโครงการเสริมสร้าง และยกระดับความร่วมมือกับประเทศ
    เพื่อนบ้านในการสกัดกั้นยาเสพติดและทำลายเครือข่ายการค้ายาเสพติดระหว่างประเทศ  
  3. บันทึกความเข้าใจระหว่างธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) กับธนาคารเพื่อการลงทุนและการพัฒนาแห่งเวียดนาม (Bank for Investment and Development of Vietnam: BIDV) เพื่อสนับสนุนสินเชื่อแก่ธุรกิจสีเขียวและอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่  
  4. เอกสารแสดงเจตจำนงระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่นกับ มหาวิทยาลัย FPT เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการฝึกอบรมเซมิคอนดักเตอร์  
  5. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยโครงการความร่วมมือระหว่างกระทรวงพาณิชย์และการค้าเวียดนามกับ Central Group ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 2026 – 2028  
  6. บันทึกความเข้าใจระหว่าง WHA กับจังหวัดฮึงเอียน (Hung Yen)  
  7. การประกาศการอนุมัติใบอนุญาตการลงทุนของ WHA โดยจังหวัดทั้ญฮว้า (Thanh Hoa)  
  8. บันทึกความเข้าใจระหว่าง AMATA Vietnam กับจังหวัดฟู้เถาะ (Phu Tho)  

จากนั้น นายกรัฐมนตรีกับนายกรัฐมนตรีเวียดนามได้แถลงข่าวร่วมกัน โดยสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

  • นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณรัฐบาลเวียดนามในการต้อนรับที่อบอุ่น สำหรับการเยือนเวียดนาม
    อย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก และได้ร่วมเป็นประธานการประชุม JCR ถือเป็นกลไกเฉพาะระหว่างสองประเทศ โดยในการเยือนครั้งนี้ ไทยและเวียดนามได้ยกระดับความสัมพันธ์เป็น “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้าน” (Comprehensive Strategic Partnership) ซึ่งเป็นหมุดหมายสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศในช่วงเวลาที่โลกกำลังเผชิญกับความไม่แน่นอน
  • ในการหารือครั้งนี้ ผู้นำทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องร่วมกันในหลายประเด็นสำคัญ คือ การส่งเสริมการเยือนระดับสูงอย่างสม่ำเสมอ โดยนายกรัฐมนตรีได้เชิญผู้นำเวียดนามเข้าร่วมการประชุมผู้นำแม่โขง–
    ล้านช้างที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพในปลายปีนี้ รวมถึงการเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตครบรอบ
    50 ปี ในปีหน้า
  • ทั้งสองประเทศยังเห็นพ้องกัน ที่จะเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคง โดยเฉพาะการต่อต้าน
    ยาเสพติด ขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ online scams การค้ามนุษย์ และการทำประมงผิดกฎหมาย ซึ่งนายกรัฐมนตรีไทยกล่าวถึงความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมในการสกัดกั้นสารเคมีตั้งต้น การปราบปรามขบวนการค้ายา และการแลกเปลี่ยนข่าวกรองเพื่อสกัดอาชญากรรมข้ามพรมแดน
  • ในด้านเศรษฐกิจ ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะเร่งส่งเสริมความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างกัน ด้วยการจัดทำแผน “Three Connects” ครอบคลุมห่วงโซ่อุปทาน เศรษฐกิจท้องถิ่น และเศรษฐกิจสีเขียว โดยมุ่งบรรลุเป้าหมายการค้า 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐโดยเร็ว พร้อมผลักดันการประชุม Joint Trade Committee และอำนวยความสะดวกด้านสินค้าเกษตรและปศุสัตว์ รวมถึง อำนวย
    ความสะดวกขนส่งสินค้าผ่านเวียดนามสู่ตลาดจีน โดยนายกรัฐมนตรีไทยยังได้ขอบคุณรัฐบาลเวียดนามที่ให้การสนับสนุนเอกชนไทยในเวียดนาม และยินดีต้อนรับนักลงทุนเวียดนามที่สนใจ
    ขยายธุรกิจในไทย
  • นายกรัฐมนตรียินดีที่ภาคเอกชนของทั้งสองประเทศจะได้มีโอกาสหารือในเวที Business Forum ไทย–เวียดนาม ขณะที่ในด้านโลจิสติกส์และคมนาคม นายกรัฐมนตรีประกาศการเปิดเส้นทางบินตรงระหว่างเวียดนามกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ซึ่งจะเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศแรกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือกับเวียดนาม พร้อมส่งเสริมการเดินทางทางบกผ่าน สปป.ลาว และทางน้ำระหว่างไทย–กัมพูชา–เวียดนาม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการขนส่งและการท่องเที่ยวระหว่างกัน
  • ทั้งนี้ ทั้งสองประเทศยังเห็นพ้องที่จะยกระดับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลและการชำระเงิน
    ข้ามแดน หรือคิวอาร์โค้ด พร้อมร่วมกันผลักดันการท่องเที่ยวระหว่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
    ของไทยกับเวียดนาม และส่งเสริมเส้นทางเรือสำราญระหว่างสิงคโปร์–ไทย–เวียดนาม
  • อีกทั้ง ยังจะเพิ่มความร่วมมือด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะในสาขา STEM, AI และ
    เซมิคอนดักเตอร์ โดยนายกรัฐมนตรีไทยได้กล่าวชื่นชมความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย FPT ของเวียดนาม และมหาวิทยาลัยขอนแก่นของไทยในด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำเจตจำนงในการผลักดันความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและอาเซียน เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของภูมิภาค และสนับสนุนบทบาทของอาเซียนในการสร้างสันติภาพ โดยเฉพาะในประเด็นเมียนมา พร้อมกล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรีเวียดนามอีกครั้ง และหวังว่าจะได้ต้อนรับการเยือนประเทศไทยของผู้นำเวียดนามในโอกาสอันใกล้

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ (H.E. Mr. Pham Minh Chinh) นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ได้ร่วมเป็นประธานเปิดงานสัมมนาทางธุรกิจไทย–เวียดนาม (Thailand–Viet Nam Business Forum) ภายใต้หัวข้อ “1+1 = Zero Boundary on Three Connects” โดยมีผู้แทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรธุรกิจชั้นนำจากทั้งสองประเทศเข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง อาทิ หอการค้าและอุตสาหกรรมเวียดนาม สมาคมมิตรภาพไทย–เวียดนาม สภาธุรกิจไทย–เวียดนาม รวมทั้งบริษัทเอกชนชั้นนำของไทยและเวียดนามในหลากหลายสาขา

 นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณรัฐบาลเวียดนาม โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีเวียดนามที่ให้เกียรติร่วมเปิดงาน พร้อมกล่าวแสดงความยินดีที่ได้เห็นการรวมตัวของผู้นำภาครัฐและภาคธุรกิจจากทั้งสองประเทศอย่างกว้างขวาง โดยเน้นย้ำว่า ความร่วมมือไทย–เวียดนามกำลังก้าวเข้าสู่ยุคใหม่หลังการยกระดับความสัมพันธ์เป็น “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้าน” (Comprehensive Strategic Partnership) ซึ่งสะท้อนความแน่นแฟ้นของความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ ทั้งในมิติการเมือง เศรษฐกิจ และประชาชนต่อประชาชน โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือการเติบโตและเข้มแข็งไปด้วยกันในภูมิภาคที่มีความเปลี่ยนแปลงสูง

สำหรับหัวใจสำคัญของหุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้านคือ การเร่งส่งเสริมการเชื่อมโยงห่วงโซ่เศรษฐกิจ (value chain) ไทย–เวียดนามในทุกระดับ และงานสัมมนาครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสสำคัญที่ภาคเอกชนทั้งสองฝ่ายจะได้พบปะ พูดคุย และขยายเครือข่ายความร่วมมือ เพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจที่เกื้อกูลกันอย่างแท้จริง

โดยรัฐบาลทั้งสองประเทศเห็นพ้องในการผลักดัน “Three Connects” หรือยุทธศาสตร์การเชื่อมโยง 3 ด้าน ได้แก่ (1) การเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น ปิโตรเคมี อาหาร อิเล็กทรอนิกส์ โลจิสติกส์ และเซมิคอนดักเตอร์ (2) การเชื่อมโยงเศรษฐกิจท้องถิ่น โดยอาศัยเครือข่ายเมืองคู่มิตรกว่า 20 คู่ และ (3) การเชื่อมโยงการพัฒนาอย่างยั่งยืน เช่น พลังงานหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว และการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัล

 ด้านการค้าการลงทุน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เวียดนามเป็นคู่ค้าอันดับที่ 6 ของไทยในระดับโลกและเป็นอันดับที่ 2 ในอาเซียน ส่วนไทยเป็นคู่ค้าอันดับ 7 ของเวียดนามในโลกและเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน โดยในปีที่ผ่านมา มูลค่าการค้าระหว่างกันอยู่ที่ 21,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐและได้ตั้งเป้าเร่งผลักดันให้ได้ถึง 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 8.75 แสนล้านบาทโดยเร็ว ขณะที่ การลงทุนในประเทศเวียดนาม ไทยมีนักลงทุนเป็นอันดับ 9 ด้วย มูลค่ารวมกว่า 14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 5 แสนล้านบาท อีกทั้ง ภาคเอกชนเวียดนามเริ่มมีการขยายการลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวโยงทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศ โดยกว่า 50% ของการค้าระหว่างไทย–เวียดนาม เป็นการนำเข้าและส่งออกวัตถุดิบและชิ้นส่วนเพื่อผลิตสินค้าอุตสาหกรรม

 นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงแผนการพัฒนาเส้นทางบินตรง ระหว่างจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยกับเวียดนามในอนาคต ซึ่งจะเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศเที่ยวบินแรกของสนามบินในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จะช่วยส่งเสริมทั้งการเดินทางของประชาชนและการท่องเที่ยวระหว่างกัน รวมทั้ง สนับสนุนเศรษฐกิจท้องถิ่น นอกจากนี้ ยังมีแผนความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่ เช่น เส้นทางเดินเรือสำราญระหว่างสิงคโปร์–ไทย–เวียดนาม เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจากนอกภูมิภาคและสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจเพิ่มเติม

 การพัฒนาอย่างยั่งยืน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัจจุบันกว่า 2 ใน 3 ของการลงทุนจากไทยในเวียดนามเป็นโครงการด้านพลังงานหมุนเวียน และได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่าง EXIM Bank ของไทยกับธนาคาร BIDV ของเวียดนาม เพื่อร่วมกันสนับสนุนทางการเงินแก่ธุรกิจสีเขียวและอุตสาหกรรมสมัยใหม่ พร้อมกันนี้ ทั้งสองฝ่ายยังตกลงที่จะเร่งพัฒนาระบบการชำระเงินข้ามแดนให้สะดวกรวดเร็ว
มีต้นทุนต่ำ เพื่อเอื้อต่อการขยายตัวของการค้าการลงทุน

 ช่วงท้ายนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า ความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้านระหว่างไทยและเวียดนามไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในระดับรัฐบาลเท่านั้น แต่ภาคเอกชนคือกำลังสำคัญที่จะทำให้ความร่วมมือในทุกมิติให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง โดยรัฐบาลทั้งสองประเทศพร้อมสนับสนุนและอำนวยความสะดวกอย่างเต็มที่

จากนั้น นายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีเวียดนามได้ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีแลกเปลี่ยนบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างภาคเอกชนไทยและเวียดนาม จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่

         1. บันทึกความเข้าใจระหว่างสายการบิน Vietjet กับ Thai Vietjet

         2. บันทึกความเข้าใจระหว่างสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กับมหาวิทยาลัย FPT

         3. บันทึกความเข้าใจระหว่าง FPT Group กับบริษัท Sunline Technology จำกัด

จากนั้น นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะ มีกำหนดการเข้าเยี่ยมคารวะนายเลือง เกื่อง (H.E. Mr. Luong Cuong) ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ณ ทำเนียบประธานาธิบดี และเข้าเยี่ยมคารวะนายโต เลิม (H.E. Mr. To Lam) เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความยินดีที่ได้ทราบว่าเลขาธิการพรรคฯ มีความคุ้นเคยกับประเทศไทยเป็นอย่างดี จึงได้ใช้โอกาสนี้ เชิญท่านเลขาพรรคฯ เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในปีหน้า (2569) ในโอกาสฉลองครบรอบ 50 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ไทย-เวียดนาม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง