นางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมหารือมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า ครั้งที่ 6 ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมรวม 23 หน่วยงาน เพื่อกำหนดเป้าหมายและแนวทางดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการควบคุมการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า ตามนโยบายของรัฐบาล
การประชุมในครั้งนี้ จัดขึ้นภายใต้ข้อสั่งการของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการลักลอบจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเร่งด่วน โดยมอบหมายให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ประสานงานหลักในการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อบูรณาการมาตรการที่มีประสิทธิภาพ ทั้งด้านการปราบปราม การป้องกัน และการสร้างการรับรู้แก่สาธารณชน ทั้งนี้ ได้ติดตามการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งการปราบปรามบริเวณด่านชายแดน ร้านค้าที่มีที่ตั้ง – ร้านค้าออนไลน์ในประเทศ ควบคู่กับการสร้างความตระหนักรู้
นางสาวจิราพรฯ ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะการลักลอบจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าผ่านช่องทางออนไลน์ทุกแพลตฟอร์ม พร้อมสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการสกัดกั้นการซื้อขายบุหรี่ไฟฟ้าอย่างจริงจัง และปรับปรุงกฎหมายให้มีบทลงโทษที่ชัดเจนและรุนแรงยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ได้มีการกำหนดมาตรการเร่งด่วน อาทิ การปราบปรามการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า น้ำยาเติม และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง การปิดกั้นแหล่งผลิตและช่องทางลักลอบจำหน่าย รวมถึงการประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโทษและอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป โดยเน้นย้ำว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าผิดกฎหมาย ซึ่งครอบคลุมถึงการนำเข้า ผลิตเพื่อขาย จำหน่าย ให้บริการ และครอบครอง การกระทำดังกล่าวถือเป็นความผิดตามคำสั่งคณะกรรมการว่าด้วยความปลอดภัยของสินค้าและบริการที่ 24/2567 หากฝ่าฝืนจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 29/9 วรรคสอง ต้องระวางโทษตามมาตรา 56/4 คือ จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 600,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากประชาชนพบเห็นการลักลอบผลิตหรือจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)โทร. 1166 เว็บไซต์ www.ocpb.go.th แอปพลิเคชัน OCPB Connect หรือศูนย์ดำรงธรรมในทุกจังหวัด ซึ่งแต่ละหน่วยงานมีการเสนอผลการดำเนินงานเกี่ยวกับมาตรการบุหรี่ไฟฟ้า ดังนี้
1. ด้านปราบปรามของแต่ละหน่วยงาน เช่น ศุลกากร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กรมการปกครอง กองทัพบก กระทรวงมหาดไทย มีการดำเนินการปราบปรามอย่างต่อเนื่อง และพบว่าส่วนใหญ่เปลี่ยนวิธีการขายไปเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัล ซึ่งข้อมูลบางส่วนมาจากแอปพลิเคชันทางรัฐ ที่เปิดให้ประชาชนแจ้งเบาะแสบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งประธานการประชุมได้กำชับให้ สตช. เน้นการลักลอบขายทางออนไลน์ โดยร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) ในการส่งข้อมูลการกระทำความผิดและปิดกั้นการลักลอบขายบุหรี่ไฟฟ้า
2. มาตรการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์พิษภัยบุหรี่ไฟฟ้า โดยกรมควบคุมโรค มีการจัดกิจกรรมในกลุ่มเด็กและเยาวชนในสถานศึกษา กระทรวงศึกษาธิการได้จัดกิจกรรมรณรงค์ไม่ยุ่งเกี่ยวบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษาต่างๆ กสทช. มีการเผยแพร่ให้ความรู้ทางสื่อต่างๆ
นอกจากนี้ สคบ. ได้รายงานสถิติการจับกุมการกระทำความผิดเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ – 15 พฤษภาคม 2568 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้รวบรวมข้อมูล การจับกุมบุหรี่ไฟฟ้าทั้งหมด 2,619 คดี ยึดของกลาง 1,703,802 ชิ้น รวมมูลค่ากว่า 324 ล้านบาท
ขณะที่ สถิติการแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า ผ่านแอปพลิเคชันทางรัฐ ตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน – 13 พฤษภาคม 2568 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รายงานว่าในช่วงแรกคือวันที่ 19 มีนาคม – 15 เมษายน 2568 ได้รับแจ้ง 8,480 เรื่อง ส่วนในช่วงที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน – 14 พฤษภาคม 2568 ได้รับเรื่องร้องเรียนเพิ่มเติมอีก 5,951 คดี รวมทั้ง 2 ช่วงได้รับรับแจ้งเรื่องร้องเรียนทั้งหมด 14,431 คดี
จากนั้น นางสาวจิราพรฯ ได้แถลงผลการจับกุมบุหรี่ไฟฟ้า น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นผลจากการขยายผลตรวจยึดบุหรี่ไฟฟ้าที่สถานที่รับ-ส่งพัสดุแห่งหนึ่ง ในพื้นพื้นที่สถานีตำรวจนครบาล ภาษีเจริญ ขณะที่ผู้ต้องหาได้มาส่งพัสดุสินค้าภายในเป็นบุหรี่ไฟฟ้ายังสถานที่รับ-ส่งพัสดุ ต่อมาเจ้าหน้าที่ชุดสืบนครบาล IDMB ร่วมกับชุดสืบสวนสถานีตำรวจนครบาลภาษีเจริญ และชุดสืบสวนตำรวจนครบาล 9 เปิดปฏิบัติการ “Operation Smoke Out EP.2” ปิดล้อมตรวจค้นเป้าหมายในพื้นที่กรุงเทพมหานครจำนวน 2 จุดโดยศาลอาญาธนบุรีได้อนุมัติหมายค้นและเข้าตรวจค้นบ้านต้องสงสัยจุดที่ 1 ภายในซอยเทอดไท 83 จนสามารถจับกุมผู้ลักลอบจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้ารายใหญ่ของกรุงเทพมหานคร นำเข้าพร้อมส่งออกจำหน่ายให้ลูกค้าทั่วประเทศ
ผลการตรวจค้น สามารถตรวจยึดของกลางเป็นบุหรี่ไฟฟ้า น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง รวมประมาณ 140,000 รายการ มูลค่ารวมกว่า 70,000,000 บาท ทั้งนี้ ได้ขยายผลไปยังสถานที่ จุดที่ 2 เป็นคอนโดแห่งหนึ่งในเขตธนบุรี พบของกลางเป็นบุหรี่ไฟฟ้า และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องจำนวน 60,000 ชิ้น มูลค่าราว 30,000,000 บาท รวมการตรวจยึด 2 จุด ประมาณ 200,000 ชิ้น มูลค่าราว 100,000,000 บาท โดยจะมีการขยายผลการจับกุมไปยังเครือข่ายต่อไป
ขณะที่ในช่วงเปิดเทอมสถานศึกษาทั่วประเทศ เปิดพร้อมกันในวันที่ 16 พฤษภาคม 2568 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบแนวทางการขับเคลื่อนนโยบาย “การป้องกันและแก้ไขปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษา” เพื่อเตรียมพร้อมก่อนเปิดเทอมเมื่อวันที่ 6 พ.ค. 68 โดยพลตำรวจเอก เพิ่มพูนฯ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษา ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่เข้าถึงเด็กและเยาวชนได้ง่าย ผ่านช่องทางการโฆษณาออนไลน์และกลยุทธ์ที่แฝงมาในรูปแบบที่น่าสนใจ อาทิ ลูกอม ขนมหรือของเล่น ทำให้เกิดความอยากรู้อยากลองในกลุ่มเยาวชน กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า 4 มาตรการ ประกอบด้วย 1. สร้างความตระหนักรู้เท่าทันพิษภัย และโทษของบุหรี่ไฟฟ้า ทั้งต่อสุขภาพร่างกาย และโทษทางอาญา 2. สถานศึกษา สถานที่ทำงาน ต้องจัดให้มีเครื่องหมายแสดงให้ชัดเจนว่า เป็นเขตปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า 3. สอดส่อง ดูแล ป้องกัน มิให้ผู้เรียนและบุคลากรเข้าไปเกี่ยวข้องกับบุหรี่ไฟฟ้า ทั้งการสูบ จำหน่ายครอบครอง หรือสนับสนุน 4. หากตรวจพบถูกร้อนเรียน หรือน่าสงสัยว่าบุคลากรเกี่ยวข้องกับบุหรี่ไฟฟ้า ให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการทางวินัย พร้อมทั้งกำชับให้หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดองค์กรในกำกับ ผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้นถือปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด
พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ระบุว่า กระทรวงศึกษาธิการตั้งเป้าหมายให้โรงเรียนทั่วประเทศเป็น “พื้นที่ปลอดภัย” หรือ “พื้นที่สีขาว” ที่ปลอดจากบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า และยาเสพติดทุกประเภท โดยอาศัยความร่วมมือจากนักเรียน ครู บุคลากรทางการศึกษา ผู้ปกครอง ผู้ประกอบการ และภาคประชาสังคม พร้อมขยายการสื่อสารให้เข้าถึงทุกกลุ่มเป้าหมาย เพื่อสร้างการตระหนักรู้ในวงกว้าง หวังให้ทุกคนในสังคมร่วมมือกันผลักดันให้เยาวชนไทยเติบโตในพื้นที่ที่ปลอดภัย และมีภูมิคุ้มกันจากภัยสังคมทุกรูปแบบ เพราะทุกคนมีบทบาทในการสร้างอนาคตให้กับเด็กไทย การทำให้โรงเรียนเป็นพื้นที่สีขาว ไม่ใช่เพียงหน้าที่ของครูหรือผู้บริหาร แต่คือ ความร่วมมือของทุกคนในสังคม
นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) ร่วมงานเสวนา “เปิดเทอม ปิดบุหรี่ไฟฟ้า” จัดโดยหน่วยปฏิบัติการวิจัยเพื่อการพัฒนาด้านเด็กและเยาวชน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อรายงานผลการดำเนินโครงการฯ และแลกเปลี่ยนสถานการณ์ความรุนแรงและภัยอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึง แนวทางการสร้างภูมิคุ้มกันบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชน ณ โรงแรมแมนดาริน กรุงเทพมหานคร
ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ที่ปรึกษาโครงการฯ กล่าวว่า การจัดเสวนา “เปิดเทอม ปิดบุหรี่ไฟฟ้า” และรายงานผลการดำเนินงานโครงการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางสุขภาวะต่อการใช้บุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชนผ่านการใช้ชุดสื่อและกิจกรรมการเรียนรู้สำหรับครู มีการจัดเวทีเสวนาออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 การแลกเปลี่ยนสถานการณ์ความรุนแรงและภัยอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชน รวมถึง บทบาทของหน่วยงานในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชน และช่วงที่ 2 แนวทางการสร้างภูมิคุ้มกันบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชน และวิธีเตรียมรับสถานการณ์บุหรี่ไฟฟ้าในโรงเรียนของครู ผู้ปกครอง และชุมชน โดยมีเป้าหมาย เพื่อร่วมกันหาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะในช่วงเปิดภาคเรียน ซึ่งเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ควรเร่งสร้างความตระหนักรู้ และเตรียมมาตรการเฝ้าระวังร่วมกันอย่างรอบด้าน
นายธีร์ฯ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ ให้ความสำคัญในการยกระดับการดูแลเยาวชนไทยให้ปลอดภัยจากบุหรี่ไฟฟ้าและสิ่งเสพติดในสถานศึกษาอย่างยั่งยืน จึงได้ออกประกาศเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2568 กำหนดแนวทางป้องกันและควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษาและหน่วยงานในสังกัด โดยมีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า 4 มาตรการ เพื่อร่วมกันรณรงค์ ป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษาให้แก่ผู้เรียนอย่างจริงจัง
พร้อมกันนี้ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ยังได้ตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าของกระทรวงศึกษาธิการ รวมถึง คณะกรรมการขับเคลื่อนแผนและมาตรการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าและคณะอนุกรรมการระดับหน่วยงาน เพื่อกำกับดูแลและผลักดันมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษา อาทิ การพิจารณา (ร่าง) แผนปฏิบัติการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า ที่ครอบคลุมทั้งมาตรการระยะเร่งด่วน ระยะสั้น และระยะยาว สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ประกอบด้วย 16 แผนปฏิบัติการ : 3 กิจกรรมหลัก : 53 กิจกรรมย่อย ซึ่งมุ่งเน้นการป้องกัน เฝ้าระวัง และสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มนักเรียน นักศึกษา และบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงการจัดทำระบบกำกับ ติดตามการดำเนินงานตามแผนและมาตรการฯ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานข้อมูลทุกวันที่ 10 ของเดือน ผ่านระบบ Google Sheet และการจัดทำเครื่องหมายเขตปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ที่จะแสดงไว้ในบริเวณพื้นที่ของส่วนราชการและสถานศึกษาในสังกัด เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ ความตระหนักรู้เกี่ยวกับพิษภัยและโทษของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า พร้อมทั้งมี QR Code เพื่อเข้าสู่ระบบรายงาน ผ่านระบบ MOE:Red box ซึ่งเป็นระบบเฝ้าระวังและส่งเสริมความประพฤตินักเรียน พร้อมระบุพิกัดจุดที่ต้องเฝ้าระวัง ซึ่งคาดว่าจะเปิดใช้งานได้ทันในภาคเรียนนี้
นายธีร์ฯ กล่าวด้วยว่า การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชน ต้องใช้ความร่วมมือร่วมใจกันของทุกฝ่าย ตั้งแต่ผู้บริหาร ครู นักเรียนและผู้ปกครอง และชุมชน โดยในส่วนของครูและบุคลากรทางการศึกษานั้น ขอยืนยันว่าครูทุกคนของ สพฐ. มีจิตวิญญาณความเป็นครูอย่างเต็มเปี่ยม แม้บางครั้งอาจขาดความรู้หรือมีความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน แต่ไม่มีครูคนไหนปรารถนาร้ายกับเด็กนักเรียนแน่นอน เมื่อให้ความรู้เพิ่มเติมจนครูเข้าใจ ก็ได้ร่วมแรงร่วมใจกันเป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือที่แข็งแกร่งระหว่างหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงศึกษาธิการที่ออกประกาศและเป็นกลไกขับเคลื่อนหลัก รวมถึงกระทรวงมหาดไทยและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเยาวชน ขอย้ำว่านี่คือภารกิจของผู้ใหญ่ทุกคน ที่ต้องร่วมมือกันปกป้องเด็กๆ จากสิ่งเสพติดและอบายมุข เพื่อให้พวกเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศให้แข่งขันได้ในระดับนานาชาติต่อไป