นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงผลงานครบรอบ 90 วัน ภายใต้แคมเปญ “2568 โอกาสไทย ทำได้จริง : 2025 Empowering Thais: A Real Possibility” พร้อมมอบนโยบายให้แก่รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี ผู้รับผิดชอบในแต่ละนโยบาย โดยในตอนหนึ่งของการแถลงนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการลงทุนแห่งอนาคต (Future Investment) มุ่งมั่นที่จะสร้างคนในเรื่องของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และตั้งเป้าจะเป็น AI Hub ของภูมิภาค โดยต้องเพิ่มการลงทุนสร้างทักษะแรงงานให้ทันกับอุตสาหกรรมแห่งอนาคตเพื่อสร้างโอกาสใหม่ๆ สร้างงาน เพื่อรองรับสาขาที่เป็นสาขาสำคัญของไทย ได้แก่ AI รถยนต์ไฟฟ้า (EV) และเซมิคอนดักเตอร์ ตั้งเป้า 280,000 คน ภายใน 5 ปี เพื่อให้ประเทศไทยรองรับกับธุรกิจนี้ในอนาคต
นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมรับฟังการบรรยาย “กระตุก GDP ไทยด้วยกองทุนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.)” จัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โดยมี นายศุภชัย ใจสมุทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ เลขานุการบริษัทและกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และอดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) และ ศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ สกสว. ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรม เข้าร่วม
นางสาวศุภมาส กล่าวว่า นับเป็นโอกาสอันดีที่ทุกคนได้มารับฟังมุมมองที่น่าสนใจจากวิทยากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐกิจ เพื่อเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนประเทศบนฐานองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ตามพันธกิจของกระทรวง อว. ท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลก และวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม ประเทศไทยยังมีโอกาสในการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยใช้วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ตัวอย่างเช่น การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ตอบสนองความต้องการของประเทศ ได้แก่ งานวิจัยด้านเทคโนโลยีสำหรับเกษตรกรรม การสร้างอุตสาหกรรมใหม่และการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า เช่น การใช้ AI (Artificial Intelligence หรือปัญญาประดิษฐ์) และหุ่นยนต์ ช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถสร้างสินค้าใหม่ๆ ที่มีคุณภาพสูงขึ้น การพัฒนากำลังคนระดับสูงเฉพาะทางและเพิ่มขีดความสามารถของแรงงาน สนับสนุนการศึกษา พัฒนาหลักสูตรและฝึกอบรม เตรียมบุคลากรสำหรับรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และสถาบันวิจัย เพื่อให้มีสัดส่วนการลงทุนด้านการวิจัยมากขึ้น ร่วมกันทำวิจัยและพัฒนามากขึ้น นำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ และต่อยอดงานวิจัยอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
นางสาวศุภมาส ระบุว่า กระทรวง อว. พร้อมสนับสนุนการลงทุนด้านการวิจัยจากภาคเอกชนและภาครัฐร่วมกับกองทุน ววน. อย่างต่อเนื่อง โดยจะพยายามอย่างเต็มที่ในการสนับสนุนงบประมาณและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการวิจัยและพัฒนา ตลอดจนพัฒนาระบบนิเวศที่เอื้อต่อการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรรม โดยกระทรวง อว. เชื่อมั่นว่าวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จะเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก และช่วยให้เศรษฐกิจไทยในภาพรวมเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนได้ในอนาคต
ขณะที่ ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) เปิดเผยว่า นโยบายภาษีของทรัมป์ส่งผลกระทบเชิงลบต่อการส่งออกสินค้า แต่ก็ทำให้ประเทศไทยเกิดการเปลี่ยนแปลง ปรับตัว และวางยุทธศาสตร์ใหม่ เพื่อคว้าโอกาสและรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้น เวที “กระตุก GDP ไทยด้วยกองทุน ววน.” จึงตอกย้ำถึงความจำเป็นในการใช้วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมมาเป็นเครื่องยนต์ตัวใหม่ให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ ยกระดับ GPD ของไทยให้พร้อมก้าวข้ามความท้าทายและเติบโตได้อย่างยั่งยืน
ด้าน ศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า กองทุน ววน. เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบันอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาเป็นเครื่องมือสำคัญในการยกระดับขีดความสามารถในทุกมิติของการพัฒนาประเทศ สกสว. จึงมุ่งเน้นการประยุกต์ใช้ AI ในการพัฒนาทุกภาคส่วนทั้งด้านการศึกษา การเกษตร การแพทย์ อุตสาหกรรมการผลิต หรือการบริการ เพราะเชื่อมั่นว่า AI คือกุญแจสำคัญที่จะปลดล็อกศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในยุคดิจิทัล ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือและการบูรณาการจากทุกภาคส่วน โดย สกสว.จะเป็นพื้นที่กลางเพื่อเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ทางวิชาการ ไปสู่การขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย ทั้งนี้ การทำงานของ สกสว. ยุคใหม่ เข็มทิศกำลังแปรเปลี่ยนเป็นผลลัพธ์ที่จับต้องได้ผ่านการขับเคลื่อนและผลงานที่เกิดขึ้นจริง โดยในปี 2568 กองทุน ววน. ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้นเป็น 19,251 ล้านบาท มากกว่าปีที่ผ่านมา 1.14% และหวังว่าสัดส่วนจะเพิ่มขึ้นในปีต่อๆ ไป
ดร.พันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผู้ช่วยปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้รับมอบหมายจาก ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวง อว. ให้เป็นผู้แทนร่วม หารือแนวทางการดำเนินโครงการพัฒนากำลังคนทักษะสูงเพื่อรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ระยะที่ 2 ร่วมกับ ศ.ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน ที่ปรึกษาอธิการบดี ด้านส่งเสริมงานวิจัยอุตสาหกรรมและกิจการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) และคณะผู้บริหาร มจพ. เพื่อเร่งขับเคลื่อนการผลิตกำลังคนทักษะสูงด้านยานยนต์สมัยใหม่ ตามนโยบาย อว. For EV ของ นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมรับมอบหนังสือหลักสูตรการเรียนการสอนจำนวน 6 หลักสูตร ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวง อว. จาก มจพ. โดยมีคณะผู้บริหาร อว. เข้าร่วม
ดร.พันธุ์เพิ่มศักดิ์ เปิดเผยว่า สำนักงานปลัดกระทรวง อว. และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เตรียมเปิดรับสมัครผู้เข้ารับการอบรม “โครงการพัฒนากำลังคนทักษะสูงเพื่อรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่” ระยะที่ 2 ตามนโยบาย อว. for EV ที่ให้กระทรวง อว. เร่งดำเนินการ 3 แผนงาน ประกอบด้วย การพัฒนากำลังคน เพิ่มสัดส่วนการใช้รถ EV และสนับสนุนงบวิจัย EV ทั้งระบบ โดยตั้งเป้าหมายผลักดันประเทศไทยสู่ EV HUB ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่ผ่านมา สำนักงานปลัดกระทรวง อว. ได้สนับสนุนงบประมาณสำหรับการดำเนินการโครงการพัฒนากำลังคนทักษะสูงเพื่อรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ของ มจพ. โดยมีกิจกรรมที่สำคัญในการพัฒนาเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาเพื่อร่วมมือในการพัฒนากำลังคนทักษะสูงเพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรม EV ผ่านแนวทางและกระบวนการต่างๆ ได้แก่ การจัดอบรม Upskill – Reskill – NewSkill เพื่อพัฒนาทักษะกำลังคนให้มีคุณสมบัติตรงตามความต้องการของอุตสาหกรรม EV ตลอดจนการสร้างองค์ความรู้และผลงานวิจัยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่เกิดจากการพัฒนากำลังคนทักษะสูงเพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรม EV
ผลการดำเนินโครงการข้างต้น มจพ. ได้ดำเนินการพัฒนาบุคลากร ได้แก่ บุคลากรภาคอุตสาหกรรม บุคลากรของบริษัท SMEs หรือ Start Up บุคคลทั่วไปที่สนใจทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ และนักศึกษาระดับอุดมศึกษา จำนวน 612 คน ภายใต้หลักสูตรที่ทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือได้พัฒนาขึ้น จำนวน 6 หลักสูตร ได้แก่ (1) หลักสูตรแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์สมัยใหม่ (2) หลักสูตรการติดตั้งและซ่อมบำรุงเครื่องอัดประจุไฟฟ้า (3) หลักสูตรการตรวจวัดทางไฟฟ้าสำหรับยานยนต์สมัยใหม่ (4) หลักสูตรการวัดและรับส่งข้อมูลเพื่อการสื่อสารภายในยานยนต์ไฟฟ้า (5) หลักสูตรระบบขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้า และ (6) หลักสูตรระบบปัญญาประดิษฐ์สำหรับยานยนต์อัตโนมัติ
การจัดอบรมในโครงการพัฒนากำลังคนทักษะสูงเพื่อรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ระยะที่ 2 นี้ จะเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมในการสร้างบุคลากรด้านอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ โดยมีกรอบระยะเวลาตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2568 – 30 มิถุนายน 2569 ตั้งเป้าหมายในการผลิตบุคลากร จำนวน 5 รุ่น และคาดว่าจะมีผู้สมัครกว่า 5,000 คน หากผ่านการอบรมจะได้รับประกาศนียบัตรและเก็บหน่วยกิตสะสมในธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ (National Credit Bank) ได้อีกด้วย ซึ่งบุคคลเหล่านี้จะเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศต่อไป สามารถติดตามข่าวสารการรับสมัครได้ที่เพจเฟสบุ๊ค : Kmutnb Techno Park หรือ http://skillhub.technopark.kmutnb.ac.th
ธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ (National Credit Bank) คือ ระบบทะเบียนสะสมหน่วยกิตและกลไกในการเทียบโอนความรู้หรือสมรรถนะที่ได้จากการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย และจากประสบการณ์บุคคล สำหรับเก็บสะสมไว้ในธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ ซึ่งเชื่อมโยงกับธนาคารหน่วยกิตของสถาบันอุดมศึกษา ผู้เรียนสามารถลงทะเบียนเรียนและสะสมหน่วยกิตได้ตลอดชีวิต โดยไม่มีเงื่อนไขของระยะเวลาในการสะสมและระยะเวลาในการศึกษาและสามารถเทียบโอนหน่วยกิตระหว่างสถาบันอุดมศึกษาได้