มท. เร่งพัฒนา Cell Broadcast ให้สมบูรณ์พร้อมเตือนทุกสาธารณภัย เริ่มใช้ ก.ค. นี้

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และโฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขณะนี้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย อยู่ระหว่างการเร่งพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยผ่านสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cell Broadcast) เป็นไปตามที่ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2568 โดยคาดว่าระบบ Cell Broadcast จะเริ่มเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการได้ในเดือน กรกฎาคม 2568 นี้

สำหรับระบบแจ้งเตือนภัย Cell Broadcast เป็นการส่งข้อความแจ้งเตือนภัยไปยังโทรศัพท์เคลื่อนที่ของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงได้รับผลกระทบจากสาธารณภัย ได้แก่ แผ่นดินไหว สึนามิ วาตภัย พายุหมุนเขตร้อน ดินโคลนถล่ม น้ำท่วม ภัยหนาว และ PM2.5 โดยไม่ต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชันใดๆ เพิ่มเติม โดยระบบจะแจ้งเตือนเป็นข้อความและเสียงแจ้งเตือนภัย ทำให้ทั้งผู้พิการทางสายตาและผู้พิการทางการได้ยิน สามารถรับรู้ และรับทราบการแจ้งเตือนภัยจากหน่วยงานภาครัฐได้

สำหรับการดำเนินการของกระทรวงมหาดไทยในระยะที่ผ่านมา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้เห็นชอบให้ ปภ. ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กรมประชาสัมพันธ์ และผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 ราย ทำการทดสอบระบบแจ้งเตือนภัย Cell Broadcast ใน 3 ระดับ 4 ภูมิภาค รวม 15 พื้นที่ ประกอบด้วย วันที่ 2 พฤษภาคม 2568 เวลา 13.00 น. ทดสอบระดับเล็ก (พื้นที่อาคาร) ในบริเวณศาลากลางจังหวัดเชียงราย ศาลากลางจังหวัดสุพรรณบุรี ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี ศาลากลางจังหวัดสงขลา และอาคารศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ อาคาร A และอาคาร B กรุงเทพฯ

จากนั้น วันที่ 7 พฤษภาคม 2568 เวลา 13.00 น. ทดสอบระดับกลาง (พื้นที่อำเภอ) ในบริเวณอำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี และเขตดินแดง กรุงเทพฯ และวันที่ 13 พฤษภาคม 2568 เวลา 13.00 น. ทดสอบระดับใหญ่ (พื้นที่จังหวัด) ณ จังหวัดเชียงใหม่ พระนครศรีอยุธยา อุดรธานี นครศรีธรรมราช และกรุงเทพมหานคร

นางสาวไตรศุลีฯ กล่าวว่า จะมีการติดตั้งระบบ Cell Broadcast Entity หรือหน่วยงานสร้างข้อความเตือนภัยเพื่อเชื่อมกับ Cell Broadcast Center ของค่ายมือถือให้แล้วเสร็จ เพื่อให้พร้อมเริ่มใช้งานภายในเดือนกรกฎาคม 2568 ต่อไป และระหว่างนี้กระทรวงมหาดไทย ได้ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้เกี่ยวกับระบบไปยังส่วนราชการ ภาครัฐ และประชาชน เพื่อให้คุ้นเคยกับระบบและไม่ตื่นตระหนกเมื่อได้รับการแจ้งเตือนต่อไป

นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ร่วมกับ 8 หน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรมควบคุมมลพิษ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรธรณี กรมชลประทาน สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการประสาน แลกเปลี่ยน และสนับสนุนข้อมูลเพื่อการแจ้งเตือนภัยและการจัดตั้งห้องปฏิบัติการ (War Room) ร่วมกันระหว่างหน่วยงานเพื่อการแจ้งเตือนภัยของชาติ โดยเฉพาะการบูรณาการข้อมูล ผู้เชี่ยวชาญและวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อประเมินสถานการณ์และแจ้งเตือนภัยอย่างถูกต้อง แม่นยำ รวดเร็ว และทันต่อสถานการณ์ เป็นชุดข้อมูลเดียวกันแบบ One Message ซึ่งนำไปสู่การลดความสูญเสียต่อชีวิต ทรัพย์สินของประชาชนและสิ่งสาธารณประโยชน์ให้ได้มากที่สุด โดยมีนายไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ นางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ นางสาวสุกันยาณี ยะวิญชาญ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา นายพิชิต สมบัติมาก อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี นายวิทยา แก้วมี รองอธิบดีกรมชลประทาน นายวรภัต ธรรมประทีป ผู้อำนวยการกองวิจัยพัฒนาและอุทกวิทยา กรมทรัพยากรน้ำ ดร.รอยบุญ รัศมีเทศ ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) นายพีร์ ชูศรี รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ร่วมลงนามฯ ทั้งนี้ มีนายสหรัฐ วงศ์สกุลวิวัฒน์ นายชัยรัตน์ แก้วเพียงเพ็ญ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผู้บริหารหน่วยงานทั้ง 8 หน่วยงาน ผู้อำนวยการสำนัก/กอง ปภ. ส่วนกลาง เจ้าหน้าที่ ปภ. ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนาม

นายภาสกรฯ เปิดเผยว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจในการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าให้กับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและประชาชนทราบอย่างถูกต้อง รวดเร็วเพื่อให้ประชาชนสามารถเตรียมพร้อมรับมือสาธารณภัยได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ จึงได้จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการประสาน แลกเปลี่ยน และสนับสนุนข้อมูลเพื่อการแจ้งเตือนภัย โดยบูรณาการข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสาธารณภัยที่ครอบคลุมในมิติต่างๆ อาทิ ด้านภูมิอากาศ สภาพน้ำท่า ปริมาณน้ำฝน ข้อมูลภูมิศาสตร์ คุณภาพอากาศ ระบบข้อมูลสารสนเทศผ่านดาวเทียม รวมถึง การจัดตั้งห้องปฏิบัติการ (War Room) ร่วมกันระหว่างหน่วยงานเพื่อการแจ้งเตือนภัยของชาติขึ้นร่วมกับทั้ง 8 หน่วยงาน โดยการลงนาม MOU ในครั้งนี้ เพื่อขับเคลื่อนการประสาน แลกเปลี่ยน สนับสนุน และปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน ในการบูรณาการข้อมูล บูรณาการผู้เชี่ยวชาญในการเฝ้าระวังสาธารณภัยของประเทศ พร้อมวิเคราะห์ข้อมูล และแจ้งเตือนภัยแก่ประชาชนด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำ รวดเร็ว เป็นชุดข้อมูลเดียวกันแบบ One Message ไปยังหน่วยงานต่างๆ และประชาชน เพื่อเสริมให้การแจ้งเตือนภัยมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ระบบแจ้งเตือนภัยผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cell Broadcast) ที่ ปภ. ได้ทำการทดสอบแต่ละระดับ ทั้งระดับเล็ก กลาง และใหญ่ ที่ได้ดำเนินการทดสอบเป็นที่เรียบร้อยแล้วและขอยืนยันว่า Cell Broadcast สามารถนำมาใช้ได้ทันทีเมื่อเกิดสถานการณ์ภัยขึ้น เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ คือ สามารถลดความสูญเสียชีวิต และความเสียหายต่อทรัพย์สินของรัฐและประชาชนให้ได้มากที่สุด

สำหรับบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือฯ ดังกล่าว มีแนวทางสำคัญที่ทั้ง 9 หน่วยงานต้องปฏิบัติร่วมกัน 3 ส่วน ได้แก่

1. กรณีสถานการณ์ปกติ เจ้าหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการรวบรวม ใช้ข้อมูล และใช้เครื่องมือวิเคราะห์ความเสี่ยงจะเกิดสาธารณภัย จะเข้าร่วมเป็นเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญในการเฝ้าระวัง
สาธารณภัยของประเทศ โดยมีศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นหน่วยงานกลางในการประสานเครือข่าย

2. กรณีสถานการณ์มีแนวโน้มจะเกิดหรือคาดว่าจะเกิดสาธารณภัย มีความจำเป็นต้องมีข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำ และรวดเร็วในการแจ้งเตือนภัย หรือจำเป็นต้องสนับสนุนข้อมูลการคาดการณ์สาธารณภัยจากหน่วยงาน
ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะมีการปฏิบัติงานร่วมกันในรูปแบบของห้องปฏิบัติการ (War Room) เพื่อการแจ้งเตือนภัยของชาติ โดยมีเจ้าหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานร่วมปฏิบัติหน้าที่ประจำห้องปฏิบัติการตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้ได้
ชุดข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัย คาดการณ์การเกิดสาธารณภัย ระยะเวลาที่คาดว่าจะเกิดสาธารณภัย แนวโน้มสถานการณ์ภัย ความรุนแรง รวมถึงแนวทางการปฏิบัติตนของประชาชน

3. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จะนำชุดข้อมูลที่ได้พิจารณาแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า ตามช่องทางต่างๆ ที่มีไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชน รวมถึง เสนอต่อหน่วยบัญชาการเหตุการณ์ทุกระดับ ใช้เป็นข้อมูลบัญชาการเหตุการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ การลงนามบันทึกความเข้าใจฯ ในครั้งนี้ ถือเป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในการบูรณาการข้อมูลด้านการคาดการณ์สาธารณภัย เพื่อการยกระดับมาตรฐานการแจ้งเตือนภัยสู่สาธารณะที่มีความถูกต้อง แม่นยำ สามารถระบุพื้นที่เสี่ยงภัยได้ตรงจุด ตลอดจนประชาชนสามารถรับการแจ้งเตือนภัยได้อย่างทันเวลาและสามารถปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย ทันเวลา ซึ่งนำไปสู่การลดความสูญเสียต่อชีวิต ทรัพย์สินของประชาชน และสิ่งสาธารณประโยชน์ให้ได้มากที่สุด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง