คณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ทบทวน-ชะลอ ดิจิทัลวอลเล็ตจนกว่าสถานการณ์เหมาะสม

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ครั้งที่ 2/2568 โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง หัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่า พร้อมด้วยผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล

นายกรัฐมนตรี กล่าวก่อนการประชุมว่า สถานการณ์เศรษฐกิจโลกปัจจุบันอยู่ในภาวะผันผวน เนื่องจากสงครามการค้าและการประกาศนโยบายจัดเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ของประเทศมหาอำนาจ ซึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศต่างๆ ที่เป็นคู่ค้า รวมถึงประเทศไทย ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบ มีรายได้ในภาพรวมที่ลดลง โดยเฉพาะในภาคการส่งออกของไทย และภาคธุรกิจที่ต้องพึ่งพาตลาดจากต่างประเทศ ประกอบกับการจัดเก็บภาษีรายได้ของรัฐบาลคาดว่าจะต่ำกว่าเป้าหมาย จึงจำเป็นต้องทบทวนแผนงานและโครงการต่างๆ ของรัฐบาล รวมถึงต้องเร่งปรับปรุงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ โดยให้ความสำคัญกับการสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาวให้มากขึ้น สร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานรากและผู้ประกอบการ SMEs

นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบาย โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ครั้งที่ 2/2568 เพื่อร่วมกันคิดและเสนอแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน ขอให้ทุกฝ่ายพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อให้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างเต็มที่และที่สำคัญต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดโดยที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้กรอบวงเงิน 157,000 ล้านบาท โดยเห็นชอบ

1. ทบทวนการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยแบ่งเป็น 4 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านน้ำและคมนาคม 2) ด้านท่องเที่ยว 3) ด้านการลดผลกระทบส่งออก/เพิ่มผลิตภาพ และ 4) ด้านเศรษฐกิจชุมชนและ  อื่นๆ

2. เห็นชอบ “แผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้กรอบวงเงิน 157,000 ล้านบาท” โดยใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจและมอบหมายให้กระทรวงการคลัง นำเสนอแผนการขับเคลื่อนฯ ต่อคณะรัฐมนตรีโดยเร็ว

3. เห็นชอบให้แต่งตั้ง “อนุกรรมการกำกับและติดตามผลการดำเนินงานตามแผนขับเคลื่อนเศรษฐกิจ”

4. เห็นชอบ “แบบฟอร์มการพิจารณาโครงการตามแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจ 2568”

5. ที่ประชุมเห็นชอบ “กรอบระยะเวลาและขั้นตอนการดำเนินการ (เบื้องต้น)” เพื่อดำเนินการตามแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจภายใต้กรอบวงเงิน 157,000 ล้านบาท ให้สอดคล้องกับการใช้จ่ายงบกลาง รายการค่าใช้จ่าย
เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ เพื่อให้สามารถดำเนินการได้ทันภายในปีงบประมาณ 2568

6. มอบหมายให้คณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ พิจารณาข้อเสนอโครงการ

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ครั้งที่ 2/2568 ว่า จากสถานการณ์ปัจจุบันที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ฯ ปรับลด GDP ในปี 2568 เหลือ 1.8% จากเดิม 2.8% และคาดว่าไตรมาส 3-4 อาจเห็น GDP โตได้แค่ 1% ซึ่งสภาพัฒน์ฯ และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ความเห็นว่าสมควรชะลอโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงได้ตัดสินใจชะลอโครงการดิจิทัลวอลเล็ตออกไปไม่มีกำหนด จนกว่าสถานการณ์จะเหมาะสม โดยจะนำเงินตามแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้กรอบวงเงิน 157,000 ล้านบาท ไปใช้ในการดำเนินการโครงการที่เกี่ยวข้องกับน้ำ การบริหารจัดการน้ำ การคมนาคมขนส่ง โดยทบทวนรถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ ถนน ที่จะต้องแก้ไขปัญหาเร่งด่วน การแก้ไขปัญหารถติด ซึ่งหากแก้ไขด้านการคมนาคมได้ จะส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยว เรื่องการท่องเที่ยว พิจารณาเกี่ยวกับปัญหาการท่องเที่ยว ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณา ทั้งการท่องเที่ยวเมืองรอง การสร้างสถานที่ท่องเที่ยว (Man-made Destination) การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าสำหรับ SMEs ซึ่งจะมีการหารือกันทั้งมาตรการการเงินและการคลัง ว่าจะมีเงินส่วนไหนที่เข้าไปสนับสนุนผู้ส่งออก เช่น มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) การสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียน ซึ่งจะเข้ามาช่วยเหลือการปรับปรุงโครงสร้างให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ที่จะช่วยผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากภาษีศุลกากรแบบตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ของประเทศมหาอำนาจ โครงการสนับสนุน เสริมสร้าง ศักยภาพกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองอย่างมั่นคง (SML) การทบทวนโครงการที่จะสามารถสร้างงานได้ทั้งหมด โดยจะเน้นการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน การจ้างงาน และโครงการที่เกี่ยวข้องกับเยาวชน โดยเฉพาะการพัฒนาการศึกษาของเยาวชน

นายพิชัย ยืนยันว่า การชะลอโครงการดิจิทัลวอลเล็ตไม่ใช่เป็นการซื้อเวลา หากสถานการณ์ดีขึ้นจะหยิบขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้ เพราะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยตรง แต่วันนี้ต้องการให้เกิดการจ้างงานก่อน ทั้งนี้จะต้องดูเศรษฐกิจโลกโดยรวมด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง