ไทย-อินโดนีเซีย ฉลองความสัมพันธ์ 75 ปี ยกระดับความสัมพันธ์ “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์” ร่วมมือทุกมิติ

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้การต้อนรับ นายปราโบโว ซูบียันโต (H.E. Mr. Prabowo Subianto) ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ในโอกาสการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล นายกรัฐมนตรีไทยและประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ได้ร่วมตรวจแถวกองทหารเกียรติยศ ณ บริเวณสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า จากนั้นนายกรัฐมนตรีเชิญประธานาธิบดีอินโดนีเซียไปยังห้องสีม่วงเพื่อแนะนำคณะรัฐมนตรี และไปยังห้องสีงาช้างด้านนอก เพื่อลงนามในสมุดเยี่ยมและชมของที่ระลึกที่ทั้งสองฝ่ายมอบให้แก่กัน หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีทั้งสองร่วมหารือทวิภาคีเต็มคณะ ภายใต้กลไกหารือระดับผู้นำ (Leaders’ Consultation) ครั้งที่ 1     

ต่อมา นายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย เป็นสักขีพยานในพิธีแลกเปลี่ยนบันทึกความเข้าใจระหว่างหน่วยงานของไทยและอินโดนีเซีย จำนวน 1 ฉบับคือ บันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงสาธารณสุขไทยกับกระทรวงสาธารณสุขแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซียว่าด้วยความร่วมมือด้านสาธารณสุข (Memorandum of Understanding Between The Ministry of Public Health of the Kingdom of Thailand and The Ministry of Health of the Republic of Indonesia on Health Cooperation) โดยมี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้ลงนามฝ่ายไทย และ H.E. Mr. Sugiono รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย เป็นผู้ลงนามฝ่ายอินโดนีเซีย ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับอินโดนีเซียและพัฒนาความร่วมมือด้านสาธารณสุขในสาขาต่างๆ เช่น การเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบสุขภาพและระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ การป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ ความมั่นคงด้านยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ การเงินการคลังด้านสุขภาพและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เป็นต้น

จากนั้น นายกรัฐมนตรีไทยและประธานาธิบดีอินโดนีเซีย แถลงข่าวร่วมกัน โดยนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญของการแถลงข่าว ดังนี้

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ต้อนรับประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ในการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรก ไทยและอินโดนีเซียมีมิตรภาพอันยาวนานกว่า 150 ปี โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จฯ เยือนต่างประเทศครั้งแรกที่เกาะชวาในปี พ.ศ. 2414 ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ โดยการเยือนของประธานาธิบดีอินโดนีเซีย

ในครั้งนี้ เป็นการยืนยันถึงมิตรภาพอันแน่นแฟ้น และเป็นหมุดหมายสำคัญในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ 75 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับอินโดนีเซียในปีนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือกันอย่างสร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ ท่ามกลางบรรยากาศที่เป็นมิตร ผ่านการเป็นประธานร่วมในกลไกใหม่ เรียกว่า “การประชุมหารือระดับผู้นำ” เป็นครั้งแรก ซึ่งจะเป็นกลไกที่ส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างผู้นำของทั้งสองประเทศอย่างสม่ำเสมอในอนาคต

ผู้นำทั้งสองฝ่ายยินดีที่จะประกาศว่า ทั้งสองประเทศได้ยกระดับความสัมพันธ์สู่การเป็น “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์” สะท้อนถึงความมุ่งมั่นร่วมกันในการเสริมสร้างความร่วมมือในหลากหลายมิติ ในประเด็นที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันของประชาชนทั้งสองประเทศ โดยในฐานะประเทศผู้ก่อตั้งอาเซียนและมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ในภูมิภาค ไทยและอินโดนีเซียจะร่วมมือกันเสริมสร้างความเข้มแข็งของอาเซียนท่ามกลางสถานการณ์ความไม่แน่นอนในเชิงภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจโลก โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงประเด็นสำคัญจากการหารือ ดังนี้

1. ด้านความร่วมมือทางการเมืองและความมั่นคง เห็นพ้องที่จะส่งเสริมการแลกเปลี่ยนการเยือนและการหารือระดับสูงอย่างสม่ำเสมอ และใช้ประโยชน์จากกลไกทวิภาคีต่างๆ ที่มีอยู่อย่างเต็มที่ โดยมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองฝ่ายร่วมกันจัดทำ “แผนปฏิบัติการหุ้นส่วนยุทธศาสตร์” เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมโดยเร็วภายในปีนี้ นอกจากนี้ กองทัพของทั้งสองประเทศจะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในทุกมิติ พร้อมศึกษาแนวทางความร่วมมือในด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ รวมทั้งตำรวจไทยและอินโดนีเซียจะเสริมสร้างความร่วมมือในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะการหลอกลวงทางออนไลน์ การค้ามนุษย์ และการค้ายาเสพติด

2. ด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เห็นพ้องที่จะส่งเสริมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่างสองประเทศให้มากยิ่งขึ้น โดยในปี 2567 การค้าระหว่างไทยกับอินโดนีเซียมีมูลค่าสูงถึง 18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และด้วยขนาดของตลาดและการเชื่อมโยงที่มีอยู่ นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่ายังมีศักยภาพในการเติบโตอีกมาก ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั้งสองประเทศ แต่จะรวมถึงภูมิภาคอาเซียนโดยรวมด้วย ดังนั้น ไทยพร้อมเป็นเจ้าภาพการประชุมคณะกรรมาธิการการค้าร่วม (Joint Trade Committee) ครั้งที่ 1 ภายในปีนี้ เพื่อหารือแนวทางในการส่งเสริมความร่วมมือดังกล่าว

ผู้นำทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะส่งเสริมการลงทุนระหว่างกันและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อแสวงหาโอกาสใหม่ๆ และส่งเสริมให้ภาคเอกชนของทั้งสองประเทศศึกษาความได้เปรียบและศักยภาพการลงทุน พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอบคุณประธานาธิบดีอินโดนีเซียที่ให้การสนับสนุนบริษัทไทยที่ดำเนินธุรกิจในอินโดนีเซียมาโดยตลอดและได้ขอให้ดูแลบริษัทเหล่านี้ให้ได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมและสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างราบรื่นด้วย

3. ด้านความมั่นคงทางอาหาร เห็นพ้องที่จะฟื้นฟูและส่งเสริมความร่วมมือ โดยเฉพาะการค้าสินค้าเกษตร รวมถึงอุตสาหกรรมฮาลาล และจะศึกษาความเป็นไปได้ในการเป็นหุ้นส่วนด้านการทำประมงอย่างยั่งยืน รวมทั้งเพิ่มความร่วมมือด้านความมั่นคงทางพลังงาน โดยเฉพาะพลังงานหมุนเวียนและพลังงานสีเขียว เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนและส่งเสริมการเชื่อมโยงระหว่างกัน

4. ด้านการท่องเที่ยว ทั้งสองฝ่ายยินดีที่ไทยและอินโดนีเซียมีความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนนักท่องเที่ยวระหว่างกันเพิ่มมากขึ้น โดยนายรัฐมนตรีเสนอให้ทั้งสองฝ่ายทำการตลาดร่วมกัน สำหรับการท่องเที่ยวเรือสำราญและเรือยอร์ช การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับการจัดประชุม สัมมนา การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล การแสดงสินค้าและนิทรรศการระดับนานาชาติ (MICE Tourism :  Meetings Incentives Conferences and Exhibitions Tourism)

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยินดีต่อการเตรียมเปิดเส้นทางการบินใหม่ระหว่างเมืองสุราบายา – กรุงเทพฯ และเมืองเมดาน – กรุงเทพฯ ของสายการบิน Lion Air และเส้นทางระหว่างเมืองเมดาน – ภูเก็ต ของสายการบิน AirAsia ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างกรุงเทพฯ และภูเก็ต กับชวาตะวันออกและสุมาตราเหนือและการเชื่อมโยงในภูมิภาค พร้อมทั้งหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวของทั้งสองประเทศจะหารือเพื่อทำการตลาดร่วมกันในเส้นทางบินใหม่ๆ รวมทั้งเห็นพ้องว่ายังมีจุดหมายปลายทาง  อื่นๆ ที่มีศักยภาพของทั้งสองประเทศที่สามารถเชื่อมโยงกันได้ และจะร่วมกันพิจารณาต่อไป

5. ด้านสาธารณสุขและการศึกษา ในฐานะที่ไทยและอินโดนีเซีย เป็นสมาชิกกลุ่มนโยบายต่างประเทศและสุขภาพโลก (Foreign Policy and Global Health Group) ที่ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดภายใต้กรอบองค์การสหประชาชาติ ไทยพร้อมจะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่สั่งสมมาตั้งแต่ปี 2544 ในเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแก่อินโดนีเซีย

6. ด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ ทั้งสองฝ่ายย้ำถึงพันธกิจร่วมกันในการส่งเสริมความเป็นเอกภาพและความเป็นแกนกลางของอาเซียน ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่มีความผันผวนในด้านการเมือง และเศรษฐกิจ โดยจะร่วมผลักดันการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจและสังคมของอาเซียนอย่างทั่วถึงและยั่งยืนมากยิ่งขึ้น รวมถึงเสริมสร้างเสถียรภาพในระดับภูมิภาค โดยผู้นำทั้งสองฝ่ายมีผลประโยชน์ร่วมกันในการเห็นเมียนมาเป็นประเทศที่สงบสุข มีเสถียรภาพและเป็นปึกแผ่น ไทยและอินโดนีเซียในฐานะมิตรที่ดีของเมียนมาจะร่วมมือกับมาเลเซียในฐานะประธานอาเซียน เพื่อช่วยสนับสนุนให้เกิดสันติภาพในเมียนมา โดยอาเซียนเป็นผู้มีบทบาทนำ 

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณประธานาธิบดีอินโดนีเซียสำหรับมิตรภาพอันอบอุ่น และหวังว่าจะได้มีโอกาสเยือนอินโดนีเซียในอนาคตอันใกล้นี้

ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ขอบคุณนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลไทยที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น พร้อมชื่นชมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอินโดนีเซียที่มีความใกล้ชิดกันมาอย่างยาวนาน ตลอดจนยินดีต่อการยกระดับความสัมพันธ์ทวิภาคีไทย – อินโดนีเซียเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) ซึ่งจะเป็นการเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ระหว่างกัน นอกจากนี้ ประธานาธิบดีอินโดนีเซียเชื่อมั่นว่า การหารือระหว่างกันภายใต้กลไกหารือระดับผู้นำ (Leaders’ Consultation) จะช่วยผลักดันความร่วมมือระหว่างกันให้คืบหน้าได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น โดยอินโดนีเซียพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดการหารือระดับผู้นำร่วมกันในครั้งต่อไป พร้อมเชิญนายกรัฐมนตรีและคณะเยือนอินโดนีเซียอย่างเป็นทางการในโอกาสที่เหมาะสมต่อไป

สำหรับความร่วมมือด้านความมั่นคง ทั้งสองฝ่ายพร้อมเพิ่มพูนความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะการหลอกลวงทางออนไลน์ (Online Scam) การค้ามนุษย์และยาเสพติด และขอบคุณรัฐบาลไทยสำหรับการให้ความช่วยเหลือชาวอินโดนีเซียที่เกี่ยวข้องกับขบวนการหลอกลวงทางออนไลน์ อินโดนีเซียพร้อมร่วมมือกับฝ่ายไทยอย่างเต็มที่โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน และเห็นว่าทั้งสองฝ่ายยังมีศักยภาพที่จะเพิ่มพูนความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างกันได้อีกมาก

นอกจากนี้ ไทยและอินโดนีเซียมีการลงทุนระหว่างกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งประธานาธิบดีอินโดนีเซียพร้อมให้การสนับสนุนภาคเอกชนไทยในอินโดนีเซีย และเชิญชวนภาคเอกชนไทยร่วมลงทุนในกองทุน Danantara ซึ่งเป็นกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (Sovereign Wealth Fund) ที่รัฐบาลอินโดนีเซียชุดปัจจุบันตั้งขึ้นใหม่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของรัฐวิสาหกิจอินโดนีเซีย รวมถึงเพิ่มพูนความร่วมมือในด้านที่ทั้งสองฝ่ายมีศักยภาพ โดยเฉพาะด้านความยั่งยืนและพลังงานสะอาด โอกาสนี้ ประธานาธิบดีอินโดนีเซียยืนยันว่า อินโดนีเซียพร้อมให้การสนับสนุนไทยในการเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS* อย่างเต็มรูปแบบ [BRIC* เป็นอักษรย่อของกลุ่มประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว (Emerging Market) ก่อตั้งโดย 4 ประเทศ คือ  บราซิล (Brazil) รัสเซีย (Russia) อินเดีย (India) และ จีน (China) ปัจจุบันมีสมาชิก 10 ประเทศ ประกอบด้วย รัสเซีย อินเดีย จีน แอฟริกาใต้ อียิปต์ เอธิโอเปีย อิหร่าน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และล่าสุด อินโดนีเซีย (ม.ค. 68)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง