ชาวบ้านนำสิ่งของเหลือทิ้งมาประยุกต์สร้างแปลงปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ปลอดสารพิษ สร้างรายได้

นายหะดีษ ดอเลาะ ชาวบ้านหมู่ 4 ตำบลเปาะเส้ง อำเภอเมืองยะลา ผู้ปลูกผักสลัดไฮโดรโปนิกส์มานานกว่า 2 ปี เล่าว่า เริ่มศึกษาการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์มาตลอด 20 ปี แต่ขาดแคลนอุปกรณ์และเมล็ดพันธุ์ จนเมื่อช่วงโควิด-19 ได้ทดลองทำจริงด้วยการ DIY ทั้งระบบ ตั้งแต่ฟองน้ำเพาะกล้าไปจนถึงการผสมปุ๋ยเอง ผ่านการลองผิดลองถูกกว่า 6 เดือน กว่าจะได้ผลผลิตที่สมบูรณ์

ช่วงแรกผักที่ปลูกยังไม่ดีพอ จึงนำไปแจกจ่ายเพื่อนบ้านกิน ก่อนที่ลูกค้าจะเริ่มมั่นใจและสั่งซื้อมากขึ้นเรื่อยๆ จนปัจจุบันมีออร์เดอร์เข้ามาตลอด บางเดือนทำรายได้เกินเป้า บางเดือนอาจเสียหายจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป เดี๋ยวฝน เดี๋ยวร้อน แต่โดยรวมแล้วถือว่าคุ้มค่า ส่วนผักสลัดยอดนิยม ได้แก่ กรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค กรีนคอส บัตเตอร์เฮด ฟินเลย์ ผักกาดแก้วและปัตตาเวียแดง ซึ่งปลูกหมุนเวียนตามความต้องการของตลาด โดยเฉพาะกรีนคอสที่ขายดีที่สุด

สำหรับรายได้เฉลี่ยเดือนละหมื่นบาทขึ้นไป แม้ต้องหักค่าใช้จ่าย เช่น ปุ๋ย น้ำและอุปกรณ์ แต่ยังพออยู่ได้ เมื่อก่อนปลูกขายเป็นรายได้เสริมเดี๋ยวนี้จะกลายเป็นหลักแล้ว เศรษฐกิจอย่างนี้ ถ้ามีของจะขายได้ตลอดทุกวัน

นายหะดีษ ยังเผยอีกว่า เคล็ดลับความสำเร็จอยู่ที่การเรียนรู้และปรับตัว การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ไม่ยาก หากศึกษาอย่างจริงจังและลงมือทำ เราต้องสังเกตต้องรู้จักเค้า นำวัสดุเหลือทิ้งมา DIY ประยุกต์ใช้ เช่น เศษไม้ เหล็กและโฟมมือสอง เพื่อลดต้นทุนได้กว่า 50%

ผู้ที่สนใจสั่งซื้อ หรือเรียนรู้เทคนิค ได้ที่ใกล้ 3 แยกบ้านเนียง (เลยไฟแดงไปยะหาประมาณ 20-25 เมตร) สั่งจองได้ที่: 080-1386038 เพจ: ดีการค้า ขายอุปกรณ์ไฟฟ้าและรับเป็นวิทยากรสอนการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ให้หน่วยงานที่สนใจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง