คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ให้ข้าราชการทุกประเภท พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราวของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ ลาเข้าร่วมโครงการบรรพชาอุปสมบทและบวชชีพรหมโพธิเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2568 และเนื่องในโอกาสพระราชพิธีสมมงคล พระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราชแห่งพระราชวงศ์จักรี พุทธศักราช 2568 โดยไม่ถือเป็นวันลา (ระหว่างวันที่ 17 – 30 กรกฎาคม 2568 รวม 14 วัน) ตามที่ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2559 – 2567 คณะรัฐมนตรีเคยมีมติอนุมัติให้ข้าราชการทุกประเภท พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว ของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ลาบรรพชาอุปสมบทและบวชชีพรหมโพธิตามโครงการเฉลิมพระเกียรติหรือถวายพระราชกุศลในโอกาสต่างๆ ที่สำคัญ โดยไม่ถือเป็นวันลา มาอย่างต่อเนื่อง
2. สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ร่วมกับวัดสุวรรณภูมิพุทธชยันตี และคณะพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย-เนปาล ดำเนินโครงการบรรพชาอุปสมบทและบวชชีพรหมโพธิเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2568 และเนื่องในโอกาสพระราชพิธีสมมงคล พระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราชแห่งพระราชวงศ์จักรี พุทธศักราช 2568 (โครงการฯ) โดยกำหนดเป้าหมายผู้เข้าร่วมบรรพชาอุปสมบท จำนวน 99 รูป บวชชีพรหมโพธิ และบวชเนกขัมมะพรหมโพธิ (สตรี) จำนวน 73 คน ระหว่างวันที่ 17 – 30 กรกฎาคม 2568 รวม 14 วัน กำหนดการดำเนินโครงการฯ ณ (1) วัดสุวรรณภูมิพุทธ
ชยันตี อำเภอบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ (2) วัดไทยพุทธคยา เมืองคยา รัฐพิหาร สาธารณรัฐอินเดีย (อินเดีย) และ (3) พุทธสังเวชนียสถาน อินเดีย และสหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาล (เนปาล)
มีหน่วยงานรับผิดชอบ คือ (1) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) (2) วัดไทยพุทธคยา และ (3) คณะพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย-เนปาล ใช้งบประมาณในการดำเนินโครงการฯ รวมทั้งสิ้น 5,822,460 บาท แบ่งเป็นงบประมาณจากวัดสุวรรณภูมิพุทธชยันตี จำนวน 4,822,460 บาท และงบประมาณจาก สปน. จำนวน 1,000,000 บาท (ใช้งบประมาณเฉลี่ย 33,851 บาท ต่อคน)
3. โดยที่ในหลักการข้าราชการ ซึ่งประสงค์จะลาอุปสมบทในพระพุทธศาสนาให้เสนอหรือจัดส่งใบลาต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับจนถึงผู้มีอำนาจพิจารณาหรืออนุญาตตามนัยข้อ 29 วรรคหนึ่ง ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการลาของข้าราชการ พ.ศ. 2555 ซึ่งในระเบียบดังกล่าวมิได้กำหนดจำนวนครั้งและจำนวนวันในการลาอุปสมบท ที่ข้าราชการจะลาได้แต่ประการใด แต่ได้กำหนดให้การได้รับเงินเดือนระหว่างการลาไว้ตามนัย ข้อ 16 ของระเบียบดังกล่าว ให้เป็นไปตามมาตรา 31 แห่งพระราชกฤษฎีกาการจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จ บำนาญ และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ที่บัญญัติให้ข้าราชการที่ลาอุปสมบทจะได้รับเงินเดือนระหว่างลาได้ไม่เกิน 120 วัน สำหรับการลาอุปสมบทในครั้งแรกนับแต่เริ่มรับราชการ โดยไม่นับรวมการอุปสมบทที่คณะรัฐมนตรีมีมติกำหนดไม่ให้ถือเป็นวันลาของข้าราชการ ดังนั้น เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ได้ศึกษาหลักธรรมคำสั่งสอนตามหลักพระพุทธศาสนา และร่วมเฉลิมพระเกียรติ รวมถึงแสดงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ด้วยการบำเพ็ญคุณความดี ปฏิบัติธรรมถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2568 และเนื่องในโอกาสพระราชพิธีสมมงคล พระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชสมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราชแห่งพระราชวงศ์จักรี พุทธศักราช 2568 จึงเห็นควรส่งเสริมให้ข้าราชการทุกประเภท พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว ของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐและพนักงานรัฐวิสาหกิจ ที่มีความประสงค์จะอุปสมบทถวายพระราชกุศล มีโอกาสเข้าร่วมอุปสมบทโดยทั่วกัน โดยให้ได้รับสิทธิในการเข้าร่วมอุปสมบทเป็นกรณีพิเศษ โดยไม่ถือเป็นวันลา เสมือนเป็นการปฏิบัติราชการและได้รับเงินเดือนตามปกติ
จึงต้องเสนอคณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบให้ข้าราชการทุกประเภท พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว ของส่วนราชการหน่วยงานของรัฐและพนักงานรัฐวิสาหกิจ ลาเข้าร่วมอุปสมบทถวายพระราชกุศลในครั้งนี้ได้ โดยไม่ถือเป็นวันลา เสมือนเป็นการปฏิบัติราชการและได้รับเงินเดือนตามปกติเพื่อเป็นการยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการลาของข้าราชการฯ และเป็นไปตามเงื่อนไขของมาตรา 31 แห่งพระราชกฤษฎีกาการจ่ายเงินเดือนฯ