ประมงสมุทรปราการร่วมมือกับเรือนจำจังหวัดสมุทรปราการ แปรรูปปลาหมอคางดำ เพิ่มมูลค่าเป็นน้ำปลา

สำนักงานประมงจังหวัดสมุทรปราการ บูรณาการทุกภาคส่วนกำจัดปลาหมอคางดำอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง เดินหน้าต่อจับมือกับเรือนจำจังหวัดสมุทรปราการนำปลาที่จับได้แปรรูปเป็น “น้ำปลา” และเสริมสร้างทักษะอาชีพให้ผู้ต้องขัง พร้อมมุ่งเน้นช่วยเหลือเกษตรกรเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ขยายผลโครงการ “สิบหยิบหนึ่ง” สนับสนุนปลากะพงขาวปล่อยเป็นตัวช่วยทำหน้าที่เป็นนักล่าธรรมชาติช่วยควบคุมประชากรปลาหมอคางดำในบ่อเลี้ยง

นายภัทรพงศ์ หมวกสกุล ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดสมุทรปราการ กล่าวว่า โครงการการแปรรูปปลาหมอคางดำเป็นผลิตภัณฑ์ “น้ำปลา” เป็นความร่วมมือแบบบูรณาการระหว่างภาครัฐ เอกชนและประชาชน สอดคล้องกับนโยบายของกรมราชทัณฑ์ในการทำประโยชน์ให้กับสังคม โดยเปิดโอกาสให้กับผู้ต้องขังได้ออกไปทำสาธารณประโยชน์หลากหลายรูปแบบ เช่น การช่วยเหลือผู้ประสบภัย การร่วมอนุรักษ์ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม

ที่ผ่านมา เรือนจำสมุทรปราการได้สนับสนุน “กิจกรรมลงแขกลงคลอง” ของกรมประมงมาแล้วหลายครั้ง ซึ่งมีช่วยสร้างความภาคภูมิใจให้กับผู้ต้องขัง โครงการล่าสุดต่อยอดจัดกิจกรรมฝึกอาชีพ แปรรูปหมัก “น้ำปลา” ตรา “หับเผย สมุทรปราการ” เพื่อการบริโภค และช่วยฝึกเป็นทักษะให้กับผู้ต้องขังเป็นทางเลือกอาชีพในอนาคต ขณะเดียวกัน เรือนจำกลางยังนำต่อยอดอยู่ในศูนย์การเรียนรู้ “โคก หนอง นา” เพื่อถ่ายทอดความรู้และส่งเสริมผลิตภัณฑ์สู่ประชาชน

นายสมพร เกื้อสกุล ประมงจังหวัดสมุทรปราการ กล่าวว่า ในส่วนของประมงสมุทรปราการ ดำเนินการกำจัดปลาหมอคางดำอย่างต่อเนื่อง ตามมาตรการของกรมประมง เพื่อควบคุมประชากรปลาหมอคางดำในพื้นที่ให้อยู่ในระดับที่จัดการได้ สำหรับกิจกรรมลงแขกลงคลอง จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 10 ในบริเวณลำคลองสถานสวางคนิวาส ตำบลท้ายบ้าน จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากอาสาสมัครจากเรือนจำสมุทรปราการ พร้อมการถ่ายทอดความรู้การแปรรูปปลาที่จับได้หมักเป็น “น้ำปลา” จากบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่สะอาดและปลอดภัย สร้างแรงจูงใจให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจับปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำ

จากการสำรวจประชากรปลาหมอคางดำในจังหวัดสมุทรปราการ พบว่าปลาหมอคางดำกระจายอยู่ในพื้นที่น้ำกร่อยในอำเภอพระสมุทรเจดีย์ อำเภอเมืองและอำเภอบางบ่อ  บางส่วนในอำเภอบางพลี อำเภอพระประแดง ประมงสมุทรปราการร่วมมือกับหลายภาคส่วนหน่วยงานรัฐในพื้นที่ เอฟซีสมุทรปราการ และภาคเอกชนขับเคลื่อนกิจกรรม เพื่อกำจัดและลดปริมาณปลาหมอคางดำอย่างต่อเนื่องตามมาตรการของกรมประมง

นายสมพร กล่าวเพิ่มเติมว่า จากผลการสำรวจปลากะพงขาวที่ปล่อยไปเมื่อ 8 เดือนที่ผ่านมาในสถานตากอากาศบางปู ยืนยันประสิทธิภาพของวิธีการใช้นักล่าธรรมชาติ โดยเจ้าหน้าที่พบลูกปลาหมอคางดำในท้องปลากะพงขาว และจากการดำเนินการกิจกรรม “ลงแขกลงคลอง” และ ปล่อยปลานักล่า ช่วยให้ความหนาแน่นของประชากรปลาหมอคางดำในพื้นที่ลดลงอย่างชัดเจน ทำให้ประมงสมุทรปราการมั่นใจว่าการใช้ “ปลานักล่า” เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญที่จะช่วยควบคุมและยับยั้งการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง