นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์การปนเปื้อนโลหะหนักในแม่น้ำกก แม่น้ำสายและแม่น้ำโขง พื้นที่จังหวัดเชียงราย ว่า จากข้อมูลการตรวจวัดคุณภาพน้ำผิวดิน โดยสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 1–2 พฤษภาคม 2568 พบว่า แม่น้ำกก แม่น้ำสายและแม่น้ำโขง บริเวณพื้นที่ จังหวัดเชียงราย มีการปนเปื้อนสารโลหะหนัก โดยเฉพาะสารหนูและตะกั่วเกินค่ามาตรฐานในหลายจุด เช่น จุดบ้านแซว บ้านหัวฝาย สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาแห่งที่ 2 บ้านป่าซางงาม รวมถึงตะกอนดินแม่น้ำกกและโขงบริเวณเขตอำเภอแม่อาย และอำเภอเมือง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนได้จากการบริโภคปลาในพื้นที่เป็นประจำ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงคือ เด็ก หญิงตั้งครรภ์และผู้สูงอายุ อาจทำให้เกิดอาการทางระบบประสาท มีอาการชาที่ปลายมือปลายเท้า ระบบผิวหนังเกิดอาการไข้ดำคือ ผิวหนังหนา สีคล้ำและระบบหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย ได้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ต่อเนื่อง เพื่อความปลอดภัยของประชาชน โดยแจ้งเตือนเรื่องการบริโภคปลาน้ำจืดจากลำน้ำเสี่ยงและเร่งตรวจสุขภาพประชาชนที่บริโภคปลาน้ำจืดในพื้นที่เสี่ยง ประสาน รพ.สต.และโรงพยาบาลในพื้นที่เฝ้าระวังอาการผิดปกติที่อาจเชื่อมโยงกับพิษสารหนูและตะกั่ว ซึ่งขณะนี้ยังไม่พบผู้ป่วยจากพิษสารหนูเรื้อรังและยังได้จัดตั้งหน่วยแพทย์เฉพาะกิจร่วมกับกรมควบคุมโรคและกรมอนามัย ลงพื้นที่ตรวจหาสารหนูในห่วงโซ่อาหารเป็นเวลานาน 4 เดือน