“กระทรวงการท่องเที่ยว” เดินหน้าสร้างกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง เพื่อผลประโยชน์เศรษฐกิจ-สังคม-สิ่งแวดล้อม

นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานในการแถลงข่าวเดินหน้าโครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง โดยมีนายฐิติพงศ์ เขียวไพศาล ประธานกรรมการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท.  และนายศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร ผู้อำนวยการ อพท. ร่วมแถลงในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบหลักเรื่องการออกแบบและก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง

นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า โครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึงนี้ เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาล ภายใต้แนวทาง “การท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล” ที่เน้นการเข้าถึงอย่างเท่าเทียมและส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกมิติ เพราะการเข้าถึงธรรมชาติคือ สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 27 นอกจากนั้น การออกแบบกระเช้าไฟฟ้าไม่ได้คำนึงเพียงแค่การ “อำนวยความสะดวก” หากแต่เป็น “เครื่องมือของการอนุรักษ์” ที่จะลดการเดินเท้าในเขตเปราะบาง ลดการพักแรมบนภู ลดขยะ ลดภาระ
ของเจ้าหน้าที่ และลดความเสี่ยงต่อระบบนิเวศ เป็นการเข้าถึงโดยไม่สัมผัสโดยตรง อนุรักษ์ภูกระดึง ด้วยเทคโนโลยีที่เคารพธรรมชาติ

นายสรวงศ์ กล่าวว่า สิ่งสำคัญอันดับแรกของโครงการฯ คือ สิ่งแวดล้อมต้องมาก่อน โดยการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึงนั้น มีพื้นที่โครงการส่วนหนึ่งตั้งอยู่ในเขตลุ่มน้ำชั้น 1A ถือเป็นพื้นที่ซึ่งมีความสำคัญต่อระบบนิเวศ โครงการนี้จึงต้องผ่านการจัดทำ EIA อย่างเข้มข้น และดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมาย หรือกฎระเบียบทุกประการ ครอบคลุมทั้งสิ่งแวดล้อม กายภาพ สังคม สุขภาพและชุมชน พร้อมทั้งจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย เพื่อให้โครงการนี้เกิดขึ้นอย่างโปร่งใสและมีส่วนร่วม ออกแบบโดยไม่รบกวนธรรมชาติ โดยยึดแนวคิด Minimum Intervention กล่าวคือ สถานีและเส้นทางกระเช้าถูกเลือกให้กระทบต่อธรรมชาติน้อยที่สุด และเมื่อกระเช้าพร้อมใช้งานแนวโน้มการพักแรมบนยอดภูจะลดลง ซึ่งจะช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศในระยะยาว รวมถึง ปริมาณขยะตกค้างที่มีแนวโน้มลดลงด้วย 

กระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง จะช่วยกระจายรายได้จากยอดภูลงสู่ชุมชนตีนภู เพราะนักท่องเที่ยวจะสามารถขึ้นไปชื่นชมธรรมชาติบนยอดภู และลงมาตีนภูได้ในวันเดียวกัน จึงกลายเป็นโอกาสของชุมชนโดยรอบตีนภู ในการประกอบธุรกิจด้านการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นที่พัก ร้านอาหาร หรือกิจกรรมท่องเที่ยวท้องถิ่น อพท. ยังมีแผนดูแลกลุ่มลูกหาบโดยจัดสรรพื้นที่พาณิชย์ให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม นอกจากนั้น ยังสามารถใช้กระเช้าไฟฟ้า เป็นเส้นทางช่วยชีวิตในยามฉุกเฉิน ทั้งนักท่องเที่ยว เจ้าหน้าที่และแม้แต่สัตว์ป่า ไม่ว่าจะเป็น การพาผู้บาดเจ็บลงจากภู ลำเลียงอุปกรณ์ดับไฟป่า หรือช่วยสัตว์ที่บาดเจ็บจากกับดัก โครงสร้างพื้นฐานนี้สามารถลดความสูญเสียได้อย่างมีนัยสำคัญ

สำหรับโครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง กระทรวงฯ ได้มอบหมายให้องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ให้เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงาน โดยประสานงานกับหน่วยงานเจ้าของพื้นที่อย่างกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช อย่างใกล้ชิดในทุกขั้นตอน รวมถึงการทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชนในพื้นที่อย่างใกล้ชิด เพื่อให้มั่นใจว่าโครงการนี้ ไม่เพียงถูกต้องตามกฎหมาย แต่ต้องมีความเข้าใจและความร่วมมือจากคนในพื้นที่อย่างแท้จริง

ในส่วนของแผนการออกแบบและก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง นายฐิติพงศ์ เขียวไพศาล ประธานกรรมการ อพท. และนายศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร ผู้อำนวยการ อพท. เปิดเผยว่า มีขั้นตอนหลักด้วยกัน
8 ขั้นตอน ใช้ระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี 6 เดือนโดยประมาณ นับจากเดือนพฤษภาคม 2568 ไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2570 ซึ่งขณะนี้ อพท. ได้วางกรอบการดำเนินงานไว้อย่างรอบคอบทุกขั้นตอนอยู่ภายใต้กฎหมายและกลไกการกลั่นกรองที่ชัดเจน

  • ระยะที่ 1 (ขั้นตอนที่ 1-3) ระยะเวลาการดำเนินงานโดยประมาณ 10 เดือน (พฤษภาคม 2568 – มีนาคม 2569) จะเป็นส่วนของการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) อย่างละเอียด โดยศึกษาครอบคลุมทั้งด้านสิ่งแวดล้อม กายภาพ สังคม สุขภาพและวิถีชุมชน มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างเปิดกว้าง รวมถึง ภาคประชาสังคมอย่างเต็มที่
  • ระยะที่ 2 (ขั้นตอนที่ 4-6) ระยะเวลาการดำเนินงานโดยประมาณ 5 เดือน (เมษายน – สิงหาคม 2569) เข้าสู่กระบวนการยื่นเสนอรายงาน EIA ซึ่งจะต้องทำการเสนอกับสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) โดยคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) และต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ซึ่งคณะกรรมการผู้ชำนาญการ และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ล้วนประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเป็นอิสระและมีความ
    เป็นกลางอย่างสูงในการพิจารณา ก่อนนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี รวมถึงขออนุญาตการก่อสร้างต่อกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
  • ระยะที่ 3 (ขั้นตอนที่ 7-8) ระยะเวลาการดำเนินงานโดยประมาณ 15 เดือน (กันยายน 2569 – พฤศจิกายน 2570) เข้าสู่ขั้นตอนของการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง โดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลา
    ในการก่อสร้างโดยประมาณ 12 เดือน

นายสรวงศ์ ระบุว่า กระทรวงฯ โดย อพท. ได้ลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยโครงการนี้คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติงบประมาณ จำนวน 28 ล้านบาท ( 4 ธ.ค. 66) ซึ่งใช้จ่ายจริง 25.4 ล้านบาท ในการออกแบบกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง ส่วนงบลงทุนก่อสร้างจะอยู่ที่ 1,000 ล้านบาท เป็นกระเช้าไฟฟ้า 32 ตู้ รองรับผู้โดยสารได้ 8 คนต่อตู้ โดยจะใช้งบกลางในการลงทุน ตามไทม์ไลน์จะเป็นขั้นตอนต่างๆ ขั้นตอนที่ 1-3 จะเป็นรายละเอียดในเรื่องของเอกสาร จัดทำ EIA ต่างๆ ค่อนข้างที่จะใช้เวลานาน แต่ได้พูดคุยกันว่า หากมีขั้นตอนไหนที่ทำควบคู่กันไปได้ก็จะดำเนินการ หลังจากที่รัฐบาลได้อนุมัติกรอบไปแล้ว ในขั้นตอนที่ 4-6 ก็จะเป็นขั้นตอนการรับฟัง ในส่วนของหน่วยงานต่างๆ NGO (Non-Governmental Organization) และคนในพื้นที่ ขั้นตอนที่ 7-8 ก็เป็นการหาผู้รับเหมาและก่อสร้าง จะเร่งดำเนินการเพื่อเปิดให้ใช้บริการได้ฤดูหนาวปี 2570 เพื่อให้พี่น้องประชาชนทั่วไปได้ใช้บริการกระเช้าขึ้นภูกระดึง ทั้งนี้ รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล Tourism for All เมื่อดูจากตัวเลขแล้วเป็นเป้าหมายใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น คนไทย คนต่างชาติ ผู้สูงอายุ คนพิการ ทุกคนจะต้องเท่าเทียม โดยเฉพาะการท่องเที่ยว ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตขึ้นและเติบโตอย่างยั่งยืนด้วย ในนามของรัฐบาลยินดีที่จะทำให้ทุกคนมีโอกาสเท่าเทียม”

นายสรวงศ์ เน้นย้ำว่า โครงการกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง ไม่ใช่เพียงเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน แต่เป็นตัวอย่างของการพัฒนาที่ต้องกลมกลืนกับธรรมชาติ ให้โอกาสกับผู้คนและขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่นไปพร้อมกัน นี่ไม่ใช่โครงการของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา หรือของรัฐบาลเท่านั้น แต่คือโครงการของสังคมไทยทั้งประเทศ ที่ต้องร่วมกันรับผิดชอบต่อธรรมชาติที่เราทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันในการดูแลและเข้าถึงได้ และใช้การบริหารจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเป็นเครื่องมือในการฟื้นฟูและอนุรักษ์มรดกทางธรรมชาติและการกระจายประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับประชาชนในท้องถิ่นอย่างยั่งยืนต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง