ที่มาของ “Pride Month”
จุดเริ่มต้นของ “Pride Month” วันที่ 28 มิถุนายน 1969 เกิดเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจบุกเข้าไปที่บาร์เกย์ชื่อสโตนวอลล์ อิน (Stonewall Inn) เมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา และจับกุมผู้คนในบาร์ รวมไปถึงผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ เนื่องจากในช่วงทศวรรษที่ 1960 ได้มีการออกกฎหมายห้ามไม่ให้ประชาชนแต่งตัวผิดกับเพศสภาพ จนนำไปสู่ความรุนแรงเกิดเหตุจลาจลสโตนวอลล์ (Stonewall Riots) นับเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้เกิดการต่อสู้และเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมกันของ LGBTQ+ ทั้งในสหรัฐอเมริกาและทั่วโลก ในเวลาต่อมาหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวผ่านไป 1 ปี ได้มีการจัดขบวนพาเหรดเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น เพื่อรณรงค์ให้ผู้คนไม่อคติ และเรียกร้องสิทธิให้กับกลุ่ม LGBTQ+ ไม่ต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ เหมือนในอดีตอีกต่อไป และนี่คือจุดเริ่มต้นของขบวนพาเหรด และเกิด Pride Month ขึ้น ในเดือนมิถุนายน และมี “ธงสีรุ้ง” เป็นตัวแทนสัญลักษณ์ความแตกต่างและหลากหลาย มีการเดินขบวนคาร์นิวัล งานเสวนา อีเวนต์ ต่างๆ รวมทั้งเป็นช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองของกลุ่มคนที่ถูกจำกัดให้เป็นไปตามมาตรฐานของชายหรือหญิง ไพรด์จึงเป็นช่วงเวลาที่กลุ่มคน LGBTQ+ ออกมาแสดงว่ายอมรับในสิ่งที่เป็นและภูมิใจในตัวตนของตัวเอง
ความหมายของคำว่า LGBTQ+
LGBTQ+ เป็นคำที่ใช้เรียกผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ เพราะถึงแม้ว่าโลกใบนี้จะมีเพียงแค่สองเพศหากจำแนกตามสรีระแต่ในความเป็นจริงมนุษย์มีเพศมากกว่านั้นอาจใช้คำเรียกว่า LGBT, LGBTQ หรือ LGBTQA แต่โดยรวมแล้วหมายถึงผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยตัวอักษรเหล่านี้ย่อมาจากสมาชิกในกลุ่ม คือ
1.“L” Lesbian (เลสเบี้ยน) คือ ผู้หญิงที่มีรสนิยมชอบผู้หญิง
2.“G” Gay (เกย์) คือ ผู้ชายที่มีรสนิยมชอบผู้ชาย
3.“B” Bisexual (ไบเซ็กชวล) คือ คนที่มีรสนิยมสามารถชอบได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย
4.“T” Transgender (ทรานส์เจนเดอร์) คือ บุคคลข้ามเพศ ซึ่งมีทั้งผู้หญิงข้ามเพศมาจากผู้ชาย และผู้ชายที่ข้ามเพศมาจากผู้หญิง
5.“Q” Queer (เควียร์) เป็นคำเรียกกว้างๆ ของกลุ่มคนที่มีเพศลื่นไหล ไม่ได้จำกัดกรอบว่าตนจะต้องชอบเพศไหน
6.“+” สะท้อนและยกย่องความหลากหลายของรสนิยมทางเพศ อัตลักษณ์และการแสดงออกทางเพศ รวมทั้งลักษณะทางเพศ ซึ่งไม่ได้มีแค่เลสเบี้ยน เกย์ ไบเซ็กชวล ทรานส์เจนเดอร์ หรือเควียร์เท่านั้น เพราะคำว่า LGBTQ+ ครอบคลุมความหลากหลายทางเพศในทุกมิติ
สาเหตุที่สัญลักษณ์ของ LGBTQ+ เป็นสีรุ้ง
สีรุ้ง ได้ถูกนำมาใช้ทำกิจกรรมเกี่ยวกับกลุ่ม LGBTQ+ อย่างแพร่หลาย โดยเห็นได้จากการเดินขบวนพาเหรดของกลุ่ม LGBTQ+ ในหลายประเทศทั่วโลก มักประดับประดาเครื่องแต่งกายด้วยสีรุ้ง โดยสีรุ้งมีจุดเริ่มต้นมาจากการออกแบบธงสีรุ้งของ Gilbert Baker ศิลปินชาวอเมริกันและนักขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนของเกย์ในปี 1978 ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากธงชาติของประเทศสหรัฐอเมริกาในวาระฉลองครบรอบ 200 ปี ในปี 1976 เริ่มแรกธงมีด้วยกันทั้งหมด 8 สี ได้แก่
1. สีชมพู Hot pink มีความหมายสื่อถึงเรื่องเพศ
2. สีแดง หมายถึง ชีวิต
3. สีส้ม หมายถึง การเยียวยา
4. สีเหลือง หมายถึง แสงอาทิตย์ที่ส่องสว่าง
5. สีเขียว หมายถึง ธรรมชาติ
6. สีฟ้า Turquoise หมายถึง เวทมนตร์
7. สีน้ำเงินม่วง หมายถึง ความสามัคคี
8. สีม่วง หมายถึง จิตวิญญาณอันแน่วแน่
ต่อมาภายหลังได้มีการลดจำนวนของสีบนธงลงเหลือเพียง 6 สี โดยได้ถอดสี Hot pink และสีฟ้า Turquoise ออก เนื่องจากเป็นสีที่มีความพิเศษ มีความยากต่อการผลิต และถึงแม้ว่าจะถูกลดทอนสีลงเหลือเพียงแค่ 6 แต่ความหมายของสีต่างๆ ก็ยังคงความหมายเป็นเช่นเดิม
นางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวการจัดงานเทศกาล Bangkok Pride Festival 2025 ภายใต้แนวคิด Born This Way ในนามของรัฐบาลและในฐานะประชาชนคนไทยคนหนึ่งที่เชื่อมั่นว่ากระบวนการในเรื่องของความเท่าเทียม คือ กระบวนการที่พวกเราทุกคนต้องทำงานร่วมกันขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง สำหรับงาน Bangkok Pride Festival 2025 ไม่ใช่เป็นเพียงแค่งานเทศกาล แต่เป็นเวทีสำคัญที่เปิดพื้นที่ให้ผู้คนจากหลากหลายชีวิต หลากหลายอัตลักษณ์ได้ร่วมกันสื่อสารอย่างชัดเจนว่าประเทศไทยพร้อมที่จะเคารพและสนับสนุนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกคนโดยไม่มีข้อยกเว้นปีนี้ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่สังคมไทยได้แสดงให้เห็นถึงพลังของการมีส่วนร่วม โดยเฉพาะการผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่พวกเราช่วยกันเปลี่ยนจากร่างกฎหมายกลายเป็นกฎหมายที่มีผลใช้บังคับอย่างเป็นรูปธรรม เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2568 ซึ่งเป็นผลลัพธ์จากการผลักดันร่วมกันของประชาชน และทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหลาย 10 ปีที่ผ่านมา สิ่งนี้เป็นสิ่งหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงเจตจำนงที่ชัดเจนของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน ความหลากหลาย และความเท่าเทียม วิสัยทัศน์ของรัฐบาลความหลากหลายทางเพศ ไม่ได้เป็นประเด็นเฉพาะกลุ่ม แต่ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของการพัฒนาประเทศในทุกมิติ รัฐบาลยังคงมุ่งมั่นที่จะส่งเสริม ศึกษา รับฟังอย่างรอบด้านในเรื่องของการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศที่เอื้อให้ทุกคนสามารถใช้ชีวิตโดยที่ไม่ต้องปิดบังหรือเปลี่ยนแปลงตัวตนให้เข้ากับข้อจำกัดเดิม และกำลังพิจารณาแนวทาง ศึกษาข้อกฎหมายเกี่ยวกับผู้ทำงานบริการทางเพศ โดยยึดหลักการว่าแรงงานทุกกลุ่มควรได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน ความปลอดภัยในร่างกาย การไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบและศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ ในด้านการศึกษาขณะนี้ได้เริ่มกระบวนการหารือเพื่อปรับปรุงเนื้อหาแบบเรียนให้สะท้อนความเข้าใจในความหลากหลายทางเพศตั้งแต่ระดับประถมศึกษา เพื่อให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัย เปิดกว้างและส่งเสริมความเข้าใจอย่างแท้จริง
นางสาวจิราพร ยืนยันว่า ภายใต้รัฐบาลชุดนี้ ประเทศไทยกำลังเดินหน้าในเรื่องของสิทธิเสรีภาพความเท่าเทียม และการอยู่ร่วมกันอย่างเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของระบอบประชาธิปไตย ที่สำคัญเราไม่ได้อยู่เพียงลำพัง เพราะว่าปีนี้ขบวน Pride ไม่ได้จำกัดอยู่ในกรุงเทพมหานคร แต่ว่าเกิดขึ้นในกว่า 40 จังหวัดทั่วประเทศไทย สะท้อนให้เห็นว่าเสียงของความเคารพและความหลากหลาย กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่องในทุกพื้นที่ของสังคมไทย และในวันที่ 1 มิถุนายน 2568 ขอเชิญชวนทุกคนได้ร่วมเดินเคียงข้างกันในขบวนพาเหรด Bangkok Pride เพื่อแสดงให้โลกเห็นว่าประเทศไทยเป็นบ้านของทุกคน เป็นพื้นที่ของความหลากหลาย และความเคารพซึ่งกันและกัน
นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวในงานแถลงข่าวการจัดกิจกรรม “Bangkok Pride Festival 2025” และ “The Celebration: Right to Love 2025” เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2568 ว่าได้รับความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อเฉลิมฉลองสิทธิเสรีภาพและความหลากหลายทางเพศ พร้อมส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศไทยในฐานะเมืองแห่งความเท่าเทียมและจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก และย้ำว่า เทศกาล Bangkok Pride Festival มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของประเทศ ไม่เพียงแต่เป็นเวทีแสดงพลังของชุมชน LGBTQIAN+ แต่ยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายมิติ ตั้งแต่ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร การเดินทาง แฟชั่นและบริการต่างๆ ทั้งยังส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทยให้เป็นประเทศแห่งการยอมรับความหลากหลายและสร้างสังคมที่เปิดกว้าง
สำหรับการจัดงาน Bangkok Pride 2025 นั้น ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงกรุงเทพมหานครเพียงจังหวัดเดียว แต่มีการจัดงานขึ้นกว่า 40 จังหวัดทั่วประเทศไทย ซึ่งในกรุงเทพมหานครจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 พฤษภาคม – 1 มิถุนายน 2568 ที่สยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ สยามสแควร์วัน และลิโด้ คอนเน็คท์ ภายใต้ธีม “Born This Way” เฉลิมฉลองความเท่าเทียมและการยอมรับอัตลักษณ์ทางเพศอย่างเต็มรูปแบบ โดยมีไฮไลต์สำคัญคือ “Bangkok Pride Parade” ในวันที่ 1 มิถุนายน 2568 ตั้งแต่เวลา 14.00 – 22.00 น. พร้อมขบวนพาเหรดธงสีรุ้งและธงอัตลักษณ์ยาวกว่า 200 เมตร ซึ่งคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมกว่า 300,000 คน นอกจากนี้ ความสำเร็จในการผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียมของไทย และเป็นก้าวสำคัญของการผลักดันบทบาทของกรุงเทพมหานครสู่การเป็นเจ้าภาพจัดงาน “Bangkok World Pride 2030” โดยกิจกรรมตลอด 3 วัน ประกอบด้วย ขบวนพาเหรด 7 สี 7 คอนเซ็ปต์, เวทีเสวนา Bangkok Pride Forum, งานประกาศรางวัล Bangkok Pride Awards ครั้งแรกของไทยและงานศิลปะแดร็ก DRAG BANGKOK Festival 2025
นายเฉลิมพร ปิยณรงค์โรจน์ ปลัดเทศบาลนครภูเก็ต กล่าวว่า ภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับนานาชาติ การสร้างความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยว และเปิดกว้างในเรื่องสิทธิปัจจุบันในภาวะที่สังคมโลกเต็มไปด้วยความหลากหลาย หนึ่งในนั้นคือ LGBTQIAN+ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่สนับสนุนสิทธิมนุษยชนของผู้มีความหลากหลายทางเพศมากกว่าแค่เพศชายหรือเพศหญิง ดังนั้น การสร้างความเข้าใจต่อสังคมถึงการมีอยู่ของผู้คนที่มีเพศหลากหลาย และการเปิดกว้างในสิทธิทางสังคมอย่างเท่าเทียม ถือเป็นการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ดังนั้น เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวที่หลากหลาย กระตุ้นเศรษฐกิจในเขตเมืองตลอดทั้งปี เทศบาลนครภูเก็ต จึงร่วมกับ บริษัท อันดามันเจริญ จำกัด หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนในจังหวัดภูเก็ต กำหนดจัดงาน Phuket City Pride 2025 ภายใต้โครงการไพรด์พาเหรด (Pride Parade) ประจำปีงบประมาณ 2568 ในวันเสาร์ที่ 28 มิถุนายน 2568 ณ บริเวณพื้นที่ย่านเมืองเก่าภูเก็ต ในระหว่าง เวลา 17.00 – 19.00 น. เพื่อเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ให้แก่กลุ่ม LGBTQ+ ได้แสดงออกถึงความภูมิใจในอัตลักษณ์และสิทธิทางเพศมากขึ้น
กิจกรรมภายในงาน Phuket City Pride 2025 ปีนี้ จัดภายใต้ธีม “wave of generations” ไฮไลต์ของงาน คือ “ขบวนพาเหรด” ภาพธงสีรุ้งที่ยิ่งใหญ่ใจกลางเมืองเก่าภูเก็ต เสน่ห์และอัตลักษณ์ของความเท่าเทียม และฉลองความหลากหลายของชุมชน LGBTQIAN+ ซึ่งได้รับความสนใจจากทุกภาคส่วนแจ้งความประสงค์เข้าร่วมขบวนแล้วกว่า 500 คน มีกิจกรรมขบวนพาเหรด จำนวน 25 ขบวน เริ่มจากลานมังกร ถึงสี่แยกชาร์เตอร์ เวลา 17.00 น.
กิจกรรม “Pride Month” ในภูมิภาค ได้แก่
- ภาคเหนือ
– จังหวัดเชียงใหม่ “Chiang Mai Pride 2025” วันที่ 25 พฤษภาคม 2568 ณ พุทธสถานเชียงใหม่
ไนท์บาซาร์เชียงใหม่ และลานอเนกประสงค์
– จังหวัดพะเยา “Phayao Pride Embrace Equality 2025” วันที่ 28 มิถุนายน 2568 ณ กว๊านพะเยา
– จังหวัดน่าน “NAN Pride Festival” วันที่ 5 กรกฎาคม 2568 ณ ข่วงเมืองน่าน
– จังหวัดพิจิตร “พิจิตร Pride” วันที่ 5 กรกฎาคม 2568 ณ ริมแม่น้ำน่าน
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
– จังหวัดนครราชสีมา “KORAT PRIDE 2025” วันที่ 14 มิถุนายน 2568 ณ ลานอเนกประสงค์
ข้างอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี
– จังหวัดขอนแก่น “Khon Kaen Pride Festival 2025” วันที่ 29 มิถุนายน 2568 ณ ลานข้าวเหนียว เซ็นทรัลขอนแก่น
- ภาคกลาง
– จังหวัดลพบุรี “ลพบุรี Pride” 22 มิถุนายน 2568 ณ ศูนย์การค้าโรบินสันลพบุรี
- ภาคตะวันออก
– จังหวัดชลบุรี “Pattaya International Pride 2025” วันที่ 28 มิถุนายน 2568 ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล
พัทยา
– จังหวัดจันทบุรี “Chanthaburi PRIDE 2025” วันที่ 21 มิถุนายน 2568 ณ สวนสาธารณะแม่พุ่มนาเชย และ วันที่ 22 มิถุนายน 2568 ณ เซ็นทรัลจันทบุรี
- ภาคใต้
– จังหวัดสงขลา “Hatyai Pride Festival 2025” วันที่ 22 มิถุนายน 2568 ณ ถนนนิพันธ์อุทิศ 2 ถึง
ใจกลางหาดใหญ่
– จังหวัดภูเก็ต “Phuket Pride Festival 2025” วันที่ 8 มิถุนายน 2568 ณ ถนนทวีวงศ์ ศูนย์การค้าจังซีลอน ป่าตอง ภูเก็ต และ “Phuket City Pride 2025” วันที่ 28 มิถุนายน 2568 ณ ย่านเมืองเก่าภูเก็ต