รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาน้ำกกต่อเนื่อง เพิ่มความถี่ตรวจคุณภาพน้ำสัปดาห์ละครั้ง

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากสถานการณ์พบสารปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐานในแม่น้ำกก นายกรัฐมนตรีมีข้อห่วงใยให้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการดำเนินชีวิตของประชาชน ตั้งแต่บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดเชียงราย ซึ่งได้มุ่งประเด็นไปที่การทำเหมืองของประเทศเพื่อนบ้านเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหา โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะกำกับดูแลกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ติดตามและรายงานการจัดการแหล่งที่มาของปัญหา เจรจาหารือกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อการหยุดหรือปรับปรุงวิธีการทำเหมือง เพื่อป้องกันการระบายสารปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำ

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนในแม่น้ำกก จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดเชียงรายว่า ตนเองในฐานะประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดิน โดยเป็นประธานคณะอนุกรรมการด้วยตนเองเพื่อเร่งรัดการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยนางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นรองประธาน โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นอนุกรรมการ เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ สภาพปัญหา และสาเหตุที่ส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำ รวมทั้งกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหา การฟื้นฟู การปนเปื้อน การบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน และการเจรจาระหว่างประเทศเพื่อควบคุมแหล่งกำเนิดมลพิษภายนอกประเทศ

ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำ ตะกอนดิน การปนเปื้อนในสัตว์น้ำ และการสะสมในร่างกายมนุษย์ การใช้นวัตกรรมดาวเทียมและเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ บ่งชี้แหล่งที่มาเพื่อแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ ใช้กลไกความร่วมมือทางการทูต และการทหารผ่านคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (Regional Border Committee : RBC) ระหว่างไทยกับประเทศเมียนมา รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนเป็นลำดับต้น ซึ่งการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ จะเป็นการเร่งรัด และติดตามการแก้ไขปัญหา โดยจะมีการจัดประชุมคณะอนุกรรมการในวันที่ 27 พฤษภาคม 2568 ณ ทำเนียบรัฐบาล เพื่อให้มีการรายงานผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจะมีการพิจารณาจัดทำระบบดักตะกอนในแม่น้ำกก เพื่อลดการปนเปื้อนของสารหนูในน้ำ

นายชรินทร์ ทองสุข ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบคุณภาพน้ำแม่น้ำกก จังหวัดเชียงราย ครั้งที่ 1/2568 เพื่อติดตามความคืบหน้าการตรวจสอบคุณภาพน้ำแม่น้ำกก โดยมีคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบคุณภาพน้ำแม่น้ำกก จังหวัดเชียงราย จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมที่ประชุมได้มีการชี้แจงสถานการณ์การตรวจสอบคุณภาพน้ำแม่น้ำกกและตะกอนดิน ซึ่งสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 ได้เก็บตัวอย่างน้ำผิวดิน โดยมีจุดเก็บที่แม่น้ำกก จังหวัดเชียงราย จำนวน 9 จุด แม่น้ำสาขาที่ไหลลงแม่น้ำกก จังหวัดเชียงราย จำนวน 3 จุด และแม่น้ำสาย จำนวน 3 จุด ที่ผ่านมา ได้มีการเก็บตัวอย่างน้ำไปตรวจแล้ว 3 ครั้ง คือ เดือนมีนาคม – พฤษภาคม 2568

ทั้งนี้ ได้มีการวางแนวทางการบริหารจัดการ ทั้งแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยระยะสั้นได้มีการตรวจวัดมลพิษ เพื่อประเมินระยะปลอดภัยของการลงสัมผัสน้ำ การจัดทำแผนรับความเสี่ยง เช่น การวิเคราะห์การแพร่กระจายและการปนเปื้อนของมลพิษน้ำในแม่น้ำกก การจัดทำแผนเตือนภัย การปรับปรุงประปาหมู่บ้าน/ชุมชน ที่ใช้น้ำจากแม่น้ำกก การติดตั้งระบบดูดซับโลหะหนัก การติดตั้งระบบบำบัดแยกย่อยตามครัวเรือน สำหรับน้ำบริโภค

ส่วนแผนระยะกลาง มีมาตรการด้านโครงสร้าง ลดความรุนแรง และเตือนภัย การเจรจาความร่วมมือระหว่างประเทศ การจัดทำระบบเฝ้าระวังคุณภาพน้ำ การจัดทำแผนการจัดการรับมือปัญหาการแพร่กระจายมลพิษน้ำในแม่น้ำกกและแผนระยะยาว ได้มีการหาแนวทางชะลอ/ป้องกันการปนเปื้อนของมลพิษ ทั้งการติดตั้งฝาย/บ่อดักตะกอนและขังน้ำช่วงน้ำน้อย การติดตามคุณภาพน้ำอย่างต่อเนื่องและมีระบบเฝ้าระวังคุณภาพน้ำออนไลน์ ติดตั้งระบบกรองน้ำที่สามารถกำจัดโลหะหนัก เป็นต้น

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย ได้เก็บตัวอย่างน้ำประปาขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ๆ ที่นำน้ำจากแม่น้ำกกไปผลิตน้ำประปา ส่งตรวจศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 1/1 เชียงราย โดยผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำทุกแห่งอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานและมีความปลอดภัยในการอุปโภคบริโภค  

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวถึงกรณีการแก้ไขปัญหาสารปนเปื้อนในแม่น้ำกก ว่า มีการประชุมเรื่องนี้ 2 ครั้งแล้ว โดยมีการประชุมอย่างเป็นทางการ 1 ครั้ง และไม่เป็นทางการ 1 ครั้ง ซึ่งได้มีการประสานอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เดินทางไปดูในพื้นที่ ซึ่งจากเดิมมีการเก็บตัวอย่างน้ำที่มีข้อกังวลอยู่บ้าง โดยข้อมูลเดิมจากการทดสอบเมื่อนำน้ำไปตรวจไม่พบค่าที่เป็นอันตรายต่อประชาชน โดยขณะนี้ได้สั่งให้ตรวจถี่ขึ้น จากเดิมตรวจเดือนละ 1 ครั้ง เป็นสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนว่าคุณภาพน้ำยังสามารถอุปโภคบริโภคได้อยู่ และยังกำชับเรื่องสัตว์น้ำ ระบบนิเวศและภาวะอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องคุณภาพน้ำที่ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ และได้พูดคุยกับทางจังหวัด ซึ่งมีการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

ส่วนการพูดคุยกับรัฐบาลเมียนมานั้น ได้มีการประสานผ่านกระทรวงการต่างประเทศให้มีการพูดคุยกัน และในส่วนของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้เตรียมการพบปะพูดคุยกับฝั่งเมียนมา โดยเข้าใจว่าสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่มีการทำเหมืองทองและอาจมีการใช้สารเคมีบางอย่างในฝั่งเมียนมา ซึ่งรัฐบาลเมียนมาจะสามารถการันตีได้หรือไม่ ว่าจะมีการพูดคุยกับกลุ่มว้าในพื้นที่ได้ นายประเสริฐ กล่าวว่า กำลังหาวิธีพูดคุยกับรัฐบาลเมียนมาอยู่ โดยพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ทราบกันดีว่ามีปัญหาภายใน ซึ่งต้องมีวิธีสื่อสารพูดคุยกันให้ได้ เพราะส่งผลกระทบต่อประเทศไทย

สำหรับแนวทางการเยียวยาประชาชน ยังไม่พบความเสียหายหนัก ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลแก้ปัญหาล่าช้านั้น ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้เพิกเฉย นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด และแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้ประชาชนอย่างเร่งด่วน ซึ่งได้มีการประชุมเรื่องนี้ไปแล้ว และในวันอังคารที่ 27 พฤษภาคม 2568 จะมีการประชุมเพื่อสรุปผลอีกครั้ง

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้มีการติดตามต้นต่อของปัญหาและดำเนินการแก้ไข โดยในการประชุมคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค ณ เมืองเชียงตุง รัฐฉาน ประเทศเมียนมา ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 17 – 20 มิถุนายน 2568 นี้ กรมกิจการชายแดนทหารจะได้บรรจุปัญหาการปนเปื้อนมลพิษในแม่น้ำกก – แม่น้ำสาย เป็นประเด็นหารือด้วย นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศ โดยกรมเอเชียตะวันออก ได้ทำหนังสือจากสถานทูตไทยในเมียนมา และเชิญผู้แทนจากสถานทูตเมียนมาประจำประเทศไทย เพื่อหารือแนวทางแก้ปัญหาต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง