นายกฯ ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 46 ร่วมกำหนดวิสัยทัศน์ใหม่ขับเคลื่อนอาเซียน

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เวลา 09.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่น กรุงกัวลาลัมเปอร์ เร็วกว่ากรุงเทพฯ 1 ชม.) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 46 กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย ซึ่งมาเลเซียเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นภายใต้แนวคิดหลัก “การมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึงและความยั่งยืน” (Inclusivity and Sustainability) ผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย ผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน 9 ชาติ ได้แก่ สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนดารุสซาลาม ประธานาธิบดีสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ประธานาธิบดีสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสิงคโปร์ นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี รวมถึง ดร. เกา กิม ฮวน เลขาธิการอาเซียน และนายกรัฐมนตรีติมอร์-เลสเต เข้าร่วมในฐานะผู้สังเกตการณ์

ดาโตะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย กล่าวเปิดการประชุมและหารือในประเด็นต่างๆ ได้แก่ ทิศทางการเสริมสร้างประชาคมอาเซียนให้มั่นคงและมีเสถียรภาพ โดยเฉพาะจากความไม่แน่นอนของโลก รวมถึงแนวทางการดำเนินความสัมพันธ์ของอาเซียนกับภาคีภายนอก

โดยนายจิรายุ ได้สรุปถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรี ดังนี้

นายกรัฐมนตรี ระบุว่า การประชุมสุดยอดอาเซียนจัดขึ้นในช่วงเวลาที่ภูมิทัศน์โลกกำลังเปลี่ยนไปสู่นโยบายที่แข็งกร้าวและมุ่งผลประโยชน์ตอบแทน ถอยห่างจากแนวทางความร่วมมือพหุภาคีไปสู่การปฏิบัติฝ่ายเดียว มาตรการด้านภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ได้ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อพลวัตทางการค้าโลกและต่อแนวโน้มเศรษฐกิจของอาเซียนโดยรวม ทำให้อาเซียนต้องประเมินยุทธศาสตร์อีกครั้ง เพื่อเสริมสร้างความยืดหยุ่นร่วมกัน และขอบคุณความพยายามของนายกรัฐมนตรีมาเลเซียในการส่งเสริมจุดยืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของอาเซียน เพื่อรับมือกับภูมิทัศน์เศรษฐกิจโลกที่ผันผวน อาเซียนจำเป็นต้องสร้างเครือข่ายห่วงโซ่อุปทานแบบครบวงจร และทำงานร่วมกันมุ่งไปสู่การบูรณาการระดับภูมิภาค เพื่อให้อาเซียนยังคงมีบทบาทความสำคัญที่น่าดึงดูด และแข่งขันได้ จึงต้องมีการสนับสนุนการค้าภายในอาเซียนใช้ประโยชน์จาก FTA ที่มีอยู่ให้เต็มที่ พิจารณาจัดทำ FTA กับภาคีใหม่ๆ ควบคู่กับส่งเสริมความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบ MSMEs (Micro, Small and Medium Enterprises: ผู้ประกอบวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย ครอบคลุมผู้ประกอบการในทุกกลุ่มธุรกิจ) เพื่อให้สามารถต่อสู้กับความท้าทายในอนาคตได้

นายกรัฐมนตรียืนยันว่า ประเทศไทยสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อระบบการค้าพหุภาคีที่โปร่งใส เสรี ยุติธรรม และมีกฎเกณฑ์ที่คาดเดาได้ โดยประเทศไทยจะเร่งรัดการจัดทำ Digital Economy Framework Agreement (DEFA) ให้แล้วเสร็จภายในปี 2568 เพื่อปลดล็อคการเติบโตครั้งใหม่ ควบคู่กับการตอบสนองต่อภูมิทัศน์ของการค้าและการลงทุนระดับโลก เพื่อให้บรรลุการบูรณาการที่มีประสิทธิผล อาเซียนต้องส่งเสริมกลไกการเจรจาจากทั้งภายในและภายนอกที่ตรงไปตรงมา ครอบคลุม สร้างสรรค์ และมุ่งเน้นที่การแก้ปัญหา ยึดมั่นตามหลักการของอาเซียน และขับเคลื่อนในประเด็นที่เป็นผลประโยชน์ของพลเมืองอาเซียนอย่างแท้จริง ซึ่งไทยจะยังคงส่งเสริมสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันอย่างแข็งขัน เพื่อสร้างอนาคตสำหรับภูมิภาคอาเซียน ประชาคมอาเซียนจะต้องเน้นที่ประชาชนเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และต้องเพิ่มความพยายาม เพื่อปกป้องความมั่นคงของมนุษย์ในทุกมิติ ทั้งด้านสุขภาพและความมั่นคงทางอาหาร การปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะยาเสพติด การหลอกลวงทางออนไลน์ หมอกควันข้ามพรมแดนและภัยพิบัติต่างๆ

ขณะเดียวกัน อาเซียนควรริเริ่มส่งเสริมเครื่องยนต์ตัวสำคัญที่จะสนับสนุนการเติบโตของอาเซียนร่วมกัน เช่น ภาคการท่องเที่ยว และการเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานข้ามพรมแดน ปรับปรุงแนวทางปฏิบัติในการเดินทางระหว่างกัน และส่งเสริมมรดกทางวัฒนธรรมที่หลากหลายร่วมกัน และในฐานะที่ประเทศไทยเป็นผู้ประสานงานของอาเซียนด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อผลักดันอาเซียนสีเขียวให้มีความยั่งยืนมากขึ้นในอนาคต ประเทศไทยจะแสดงบทบาทนำขับเคลื่อนอาเซียนสู่เป้าหมาย ที่ระบุไว้ใน “วิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ปี ค.ศ. 2045” (ASEAN Community Vision 2045) เน้นเรื่องการเงินสีเขียว การรับมือกับ
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พลังงานสะอาดและการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล และเชื่อว่าวิสัยทัศน์ใหม่นี้ จะทำให้อาเซียนเติบโตที่นำไปสู่สันติสุข ความเป็นหุ้นส่วน และก้าวหน้ายิ่งขึ้น

ภายหลังการประชุมผู้นำอาเซียนได้ร่วมรับรองเอกสารผลลัพธ์ 9 ฉบับ ได้แก่

1. ปฏิญญากรุงกัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยการครบรอบ 10 ปี ของการจัดตั้งประชาคมอาเซียน
(KL Declaration on the 10th Anniversary of the Establishment of the ASEAN Community)

2. ปฏิญญากรุงกัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยอาเซียน 2045: อนาคตร่วมกันของเรา (KL Declaration on ASEAN 2045: Our Shared Future)

3. วิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2045 “อาเซียนที่เข้มแข็ง มีนวัตกรรม มีพลวัตและมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง” (ASEAN Community Vision 2045: “Resilient, Innovative, Dynamic and People-Centred ASEAN”)

4. แผนยุทธศาสตร์ประชาคม การเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political-Security Community Strategic Plan)

5. แผนยุทธศาสตร์ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community Strategic Plan)

6. แผนยุทธศาสตร์ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community Strategic Plan)

7. แผนยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยงอาเซียน (ASEAN Connectivity Strategic Plan)

8. กรอบความยั่งยืนสำหรับเศรษฐกิจสร้างสรรค์อาเซียน (ASEAN Creative Economy Sustainability Framework)

9. ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยความมุ่งมั่นเพื่อความมั่นคงและการพึ่งพาตนเองด้านยา (ASEAN Declaration of Commitment on ASEAN Drug Security and Self-Reliance: ADSSR)

นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 46 อย่างไม่เป็นทางการ โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ท่ามกลางภาวะไม่แน่นอนและการแบ่งแยกที่เพิ่มขึ้น การส่งเสริมระบอบพหุภาคีเพื่อรักษาบทบาทเชิงยุทธศาสตร์และผลประโยชน์ของอาเซียนเป็นสิ่งสำคัญ อาเซียนจะต้องขยายความร่วมมือและทำหน้าที่เป็นสะพานที่สร้างความไว้วางใจ ต้องเสริมสร้างความเป็นศูนย์กลางและเอกภาพของอาเซียนให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ส่งเสริมความร่วมมือทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก พร้อมกับเสริมสร้างความสมดุล ในความสัมพันธ์กับมหาอำนาจ ผ่านการหารือกับทุกฝ่ายอย่างทั่วถึงและสร้างสรรค์ อาเซียนต้องยืนหยัด
เป็นเสียงเดียวกัน และต้องยึดมั่นในค่านิยมหลักที่ปกป้องผลประโยชน์ร่วมกัน โดยเฉพาะแนวทางร่วมกันของอาเซียนต่อนโยบายภาษีของสหรัฐฯ

สำหรับประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อภูมิภาค กรณีทะเลจีนใต้ ประเทศไทยขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหลีกเลี่ยงการกระทำที่ยั่วยุ และหาทางแก้ไขข้อพิพาทด้วยสันติวิธี หรือกรณีสถานการณ์ในตะวันออกกลางและยูเครน ไทยเรียกร้องให้ยุติการสู้รบทันที มีการคุ้มครองพลเรือนอย่างเต็มที่ และสถานการณ์ในเมียนมา อาเซียนยังคงมีความสำคัญในการนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างสันติ เพื่อส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงชายแดน เสริมสร้างความพยายามของอาเซียนในการดำเนินการตามฉันทามติ 5 ข้อ (Five-Point Consensus) เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตในประเทศเมียนมา

นายกรัฐมนตรี หารือทวิภาคีกับนายแฟร์ดีนันด์ โรมูอัลเดซ มาร์โคส จูเนียร์ (H.E. Mr. Ferdinand Romualdez Marcos Jr.) ประธานาธิบดีสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ โดยไทยพร้อมสนับสนุนการทำหน้าที่ประธานอาเซียนของฟิลิปปินส์ในปีหน้า

สรุปสาระสำคัญของการหารือความร่วมมือทวิภาคีระหว่างกัน ดังนี้

  • การค้าและการลงทุน ไทย-ฟิลิปปินส์ ต้องการเพิ่มปริมาณการค้าให้มีมูลค่าสูงขึ้น ซึ่งในปี 2567 ฟิลิปปินส์เป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 5 ของไทย ด้วยมูลค่ากว่า 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ฟิลิปปินส์พร้อมต้อนรับการลงทุนของภาคเอกชนไทยในฟิลิปปินส์
  • ความมั่นคงทางอาหาร ไทยมีความสามารถด้านการเกษตรและประสงค์ส่งออกผลผลิตทางการเกษตรไปยังฟิลิปปินส์มากขึ้น โดยเสนอให้รัฐมนตรีพาณิชย์ของทั้งสองประเทศศึกษาความเป็นไปได้
    ในการค้าข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) พร้อมผลักดันให้สองประเทศเริ่มดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ความร่วมมือด้านการขยายตลาดส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าอุปโภคบริโภค ระหว่างองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ Food Terminal Incorporated (FTI) สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ที่ได้ลงนามกันไปแล้ว
  • ความมั่นคงทางพลังงาน ไทยสนใจที่จะเพิ่มการทำงานร่วมกับฟิลิปปินส์ด้านพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน รวมทั้งความร่วมมือด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น AI และด้านการศึกษา
  • การท่องเที่ยว ไทย-ฟิลิปปินส์ ร่วมมือด้านการท่องเที่ยวที่มีศักยภาพร่วมกัน
  • ความร่วมมือด้านการปราบปรามขบวนการหลอกลวงออนไลน์

นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมและกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมระหว่างผู้นำอาเซียนกับผู้แทนเยาวชนอาเซียน (ASEAN Youth) โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวยินดีที่ได้มีโอกาสพบและรับฟังความคิดเห็นของผู้แทนเยาวชนอาเซียน เกี่ยวกับแนวทางในการสร้างอนาคตที่ครอบคลุมและยั่งยืนให้กับภูมิภาค เยาวชนถือเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนอาเซียนไปข้างหน้า พร้อมทั้งเสนอ 3 แนวทางสำคัญส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาและการมีส่วนร่วมของเยาวชนในอาเซียน ได้แก่

ประการแรก อาเซียนควรส่งเสริมบทบาทเชิงรุกของเยาวชนในการรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคดิจิทัล และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยจะสามารถดึงทักษะและความสามารถของเยาวชน ทั้งในด้านการปรับตัว ความคิดสร้างสรรค์ และทักษะดิจิทัล จะสนับสนุนให้เกิดสภาพแวดล้อมทางดิจิทัลที่ส่งเสริมนวัตกรรม ซึ่งจะสร้างโอกาสใหม่ๆ และความปลอดภัยในโลกออนไลน์

ประการที่สอง อาเซียนควรลงทุนเพิ่มเติมในโครงการพัฒนาเยาวชน และส่งเสริมความร่วมมือข้ามพรมแดน เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนได้แสดงพลังในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้าของภูมิภาค ผ่านการเรียนรู้ การริเริ่มของประชาคม และการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย

ประการสุดท้าย อาเซียนต้องเตรียมความพร้อมของเยาวชนให้มีทักษะที่จำเป็นต่ออนาคต ผ่านการส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาและการฝึกอบรมที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียม มีทักษะการวิเคราะห์ (Analytical) และการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) ที่เข้มแข็ง บนพื้นฐานจริยธรรมและค่านิยมสากล

ทั้งนี้ ไทยพร้อมสนับสนุนการทำงานของเครือข่ายเยาวชนอาเซียน เพื่อเสริมสร้างมิตรภาพ ความเป็นเอกภาพจะนำไปสู่การสร้างอนาคตของอาเซียนที่ครอบคลุมและยั่งยืน

นายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมพิธีลงนาม “ปฏิญญากรุงกัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยอาเซียน 2045: อนาคตร่วมกันของเรา” (Kuala Lumpur Declaration on ASEAN 2045: Our Shared Future) โดยนายกรัฐมนตรีมาเลเซียในฐานะประธานอาเซียน ปี 2568 ลงนามเป็นลำดับแรก และประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ในฐานะประธานอาเซียน ปี 2569 ตามด้วยประเทศสมาชิกอื่นๆ จากนั้น นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ได้มอบปฏิญญาฯ ที่ลงนามแล้วให้แก่เลขาธิการอาเซียนและถ่ายภาพการจับมือแบบวิถีอาเซียน (ASEAN Way) ร่วมกัน

สำหรับวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2045 พร้อมทั้งแผนยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง จะรวมเป็นชุดเอกสารเรียกว่า “ASEAN 2045: Our Shared Future” มีความครอบคลุมในด้านการเมืองและความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมและวัฒนธรรม ด้านความเชื่อมโยงและด้านการเสริมสร้างความเข้มแข็งเชิงสถาบัน เพื่อให้บรรลุการเป็นประชาคมอาเซียนที่เข้มแข็ง มีนวัตกรรม มีพลวัตและมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ทั้งนี้จะเป็นประโยชน์กับประเทศไทยในการส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและกับประเทศนอกภูมิภาคในประเด็นที่ไทยต้องการเพิ่มพูนศักยภาพ เช่น การเสริมสร้างความปลอดภัยและความมั่นคง การพัฒนาแรงงาน การส่งเสริมการสาธารณสุข การเสริมสร้างความเชื่อมโยง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและเป็นสิ่งที่ประเทศไทยดำเนินการอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว

นายกรัฐมนตรีเข้าเฝ้าทูลละอองพระบาท เจ้าชายซัลมาน บิน ฮะมัด อาล เคาะลีฟะฮ์ (His Royal Highness Prince Salman bin Hamad Al Khalifa) มกุฎราชกุมารและนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรบาห์เรน โดยไทย – บาห์เรน เห็นว่าทั้งสองประเทศสามารถขยายความร่วมมือระหว่างกันด้านการท่องเที่ยว การเชื่อมโยงคมนาคม และการขนส่ง ซึ่งไทยพร้อมส่งรายละเอียดโครงการ Landbridge ที่เชื่อมโยงอ่าวไทยและทะเลอันดามัน เป็นการยกระดับศักยภาพด้านโลจิสติกส์ให้แก่ทางบาห์เรน ที่มีศักภาพเป็นศูนย์กลางขนถ่ายสินค้า (Cargo hub) เชื่อมโยงการขนส่งทางอากาศและทะเล (Air to Sea)

จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้ร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำ (Gala Dinner) เพื่อเป็นเกียรติ แก่ประมุข/หัวหน้ารัฐบาลที่เข้าร่วมการประชุมฯ และคู่สมรส โดยมีดาโตะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม (Dato’ Seri Anwar Ibrahim) นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย และดาโตะ เซอรี ดร.วัน อาซีซะฮ์ บินตี วัน อิซมาอิล (Dato’ Seri Dr. Wan Azizah binti Wan Ismail) ภริยา เป็นเจ้าภาพ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง