เปิดงบประมาณ “3.78 ล้านล้าน” ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจประเทศไทย

28 พ.ค.นี้แล้ว วันอภิปรายเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 วงเงินกว่า 3.78 ล้านล้านบาท ระหว่างวันที่ 28-31 พ.ค.นี้ ซึ่งการอภิปรายฯ จะเป็นการพิจารณาต่อเนื่องรวมเป็นเวลา 41 ชั่วโมง

การอภิปรายในครั้งนี้ เกิดขึ้นภายใต้ปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังรุมเร้ารัฐบาล ทั้งผลกระทบจากการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าของสหรัฐฯ ปัญหาหนี้ครัวเรือน และภาวการณ์การบริโภคภายในประเทศที่ไม่คล่องตัว รวมทั้งการท่องเที่ยวที่ทรงตัว

ขณะที่รัฐบาลย้ำว่า การอภิปรายงบประมาณในครั้งนี้ ดำเนินการสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 โดยให้ความสำคัญกับประเด็นการพัฒนาที่ต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้บรรลุ 13 หมุดหมาย สนับสนุนโอกาสในการพัฒนาประเทศ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม

หากจะคลี่งบประมาณในครั้งนี้ รัฐบาลได้จัดสรร โดยแบ่งออกเป็น 6 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย

1.ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง จำนวน 415,327.9 ล้านบาท เพื่อให้ประเทศมีความมั่นคง ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันของคนในชาติอย่างมีความสุข

2.ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน จำนวน 394,611.6 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้มีเสถียรภาพและยั่งยืน

3. ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ จำนวน  605,927.3 ล้านบาท เพื่อให้สังคมไทยมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต

4. ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม จำนวน 942,709.2 ล้านบาท เพื่อสร้างความเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ

5. ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จำนวน 147,216.9 ล้านบาท เพื่อสร้างความสมดุลและยั่งยืนของฐานทรัพยากรธรรมชาติ อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในและนอกถิ่นกำเนิด และรักษาสมดุลของระบบนิเวศท้องถิ่น 

6. ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ จำนวน 605,441.6 ล้านบาท เพื่อยกระดับการบริการภาครัฐให้มีขีดสมรรถนะสูง

แต่หากจำแนกตามหน่วยงาน พบว่า งบกลาง ได้รับการจัดสรรมากที่สุด จำนวน 632,968 ล้านบาท ตามมาด้วย กระทรวงการคลัง จำนวน 397,856 ล้านบาท กระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 355,108 ล้านบาท กระทรวงมหาดไทย จำนวน 301,265 ล้านบาท กระทรวงกลาโหม จำนวน 204,434 ล้านบาท กระทรวงคมนาคม จำนวน 200,756 ล้านบาท กระทรวงสาธารณสุข จำนวน 177,639 ล้านบาท กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จำนวน 140,300 ล้านบาท และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 130,111 ล้านบาท

ขณะที่ข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ได้เผยภาพรวมแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2569 พบว่า มีแนวโน้มที่จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.3- 3.3 โดยมีแรงสนับสนุนจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการส่งออกสินค้าตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก การขยายตัวของการอุปโภคบริโภค และการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว 

สำหรับอัตราเงินเฟ้อ (GDP Deflator) ในปี 2569 คาดว่า จะอยู่ในช่วงร้อยละ 0.7–1.7 และดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มเกินดุล ร้อยละ 2.3 ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

และก่อนที่เวทีอภิปรายจะเริ่มต้นขึ้น ก็มีเสียงจากฝ่ายค้าน มองว่าการจัดสรรงบฯของแต่ละกระทรวง ไม่สอดคล้องกัน เหมือนกับว่าแต่ละพรรคเตรียมตัวสำหรับการเลือกตั้งครั้งใหม่ โดยนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี บอกว่า ขอให้ฝ่ายค้าน ทำหน้าที่ของตัวเองให้เต็มที่และตนเองจะทำหน้าที่ในการชี้แจงและตอบคำถามอย่างเต็มที่เช่นกัน และเชื่อว่า รัฐมนตรีทุกกระทรวง จะสามารถอธิบายในการใช้งบฯ ได้อย่างชัดเจน

ขณะที่ วิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ได้ออกมาย้ำว่า 324 เสียงของรัฐบาล หนักแน่น และพร้อมโหวตผ่านงบฯ ไม่มีปัญหาอะไรและไม่มีอุบัติเหตุทางการเมือง อย่างแน่นอน 

สำหรับไทม์ไลน์ การจัดสรรงบรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2569 จะเข้าสู่การประชุมสภาฯ ในวาระที่ 1 วันที่ 28-31 พ.ค.นี้ จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาและหารือในขั้นกรรมาธิการ ในวาระที่ 2 และวาระที่ 3 ในช่วงเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งหากผ่านทั้ง 3 วาระ รัฐบาลมั่นใจว่า งบประมาณปี 2569 จะสามารถประกาศก่อนเริ่มปีงบประมาณในเดือนตุลาคม 2568 และสามารถเบิกจ่ายเงินงบประมาณ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับศึกอภิปรายงบฯ ครั้งนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งบททดสอบของรัฐบาล ภายใต้การนำของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ว่า จะสามารถตอบคำถามและอธิบายได้อย่างชัดเจนหรือไม่ เพราะจากสถานการณ์การเมืองในตอนนี้ ต้องยอมรับว่า ซีกของรัฐบาลมีการงัดข้อกันภายในพรรคร่วมฯ ในหลายประเด็น จนหลายฝ่ายจับตาดูว่า จะมีการใช้เวทีนี้โหวตสวนมติพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ ขณะที่ในซีกของฝายค้าน ก็อาจจะใช้เวทีนี้ เป็นเวทีในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ก็เป็นได้เช่นกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง