นายกฯ นำทีมแถลงถกงบฯ 69 ชู “6 ยุทธศาสตร์”สำคัญ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคมและความมั่นคงของประเทศ

วันนี้ (28 พ.ค.68) ถือเป็นวันแรกของการประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยวิสามัญ ในการเปิดอภิปราย ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2569 วงเงิน 3.78 ล้านล้านบาท วาระแรก บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงต่อที่ประชุมสภาฯ ถึงหลักการและเหตุผลในการเสนอร่างต่อสภาฯ ว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณที่รัฐบาลนำเสนอต่อสภาฯ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ ผ่านการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทต่างๆ และนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภา เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์และประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม

ในรายละเอียด นายกฯ ได้แถลงฐานะการคลัง โดยระบุว่า หนี้สาธารณะคงค้าง ณ เดือนมีนาคม 2568 มีจำนวน 12,080,809.9 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 64.4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะ ตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ที่กำหนดไว้ต้องไม่เกินร้อยละ 70 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ  

ปัจจุบัน ฐานะเงินคงคลัง ณ วันที่ 30 เมษายน 2568 มีจำนวนทั้งสิ้น 252,124.8 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะบริหารเงินคงคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและบริหารรายรับและรายจ่ายของรัฐให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด

นายกฯ ยังแถลงว่า ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ  พ.ศ. 2569 มีวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 3,780,600 ล้านบาท จำแนกเป็นรายจ่ายประจำ จำนวน 2,652,301.3 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 70.2  รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง จำนวน 123,541.1 ล้านบาท หรือคิดเป็น ร้อยละ 3.3 รายจ่ายลงทุน จำนวน 864,077.2 ล้านบาท หรือคิดเป็น ร้อยละ 22.9  และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้จำนวน 151,200 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 4.0 โดยรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ที่เป็นรายจ่ายลงทุน กรณีการกู้เพื่อการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ จำนวน 10,519.6 ล้านบาท   

ขณะที่สาระสำคัญของงบประมาณรายจ่าย ได้จำแนกการนำเสนอตามกลุ่มงบประมาณ ประกอบด้วย

1. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 จำแนกตามกลุ่มงบประมาณ ประกอบด้วย 

1.1 งบประมาณรายจ่ายงบกลาง จำนวน 632,968.8 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 16.7 ของวงเงินงบประมาณ  

1.2 งบประมาณรายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณ จำนวน 1,408,060.3 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 37.2 ของวงเงินงบประมาณ  

1.3 งบประมาณรายจ่ายบูรณาการ จำนวน 98,767.8 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2.6 ของวงเงินงบประมาณ จำนวน 9 เรื่อง ได้แก่  

           1. ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 

           2. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก  

           3. ต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ 

           4. เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย 

           5. บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 

           6. ป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด 

           7. พัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต 

           8. รัฐบาลดิจิทัล 

           9. สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว 

1.4 งบประมาณรายจ่ายบุคลากร จำนวน 820,820.8 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 21.7 ของวงเงินงบประมาณ  

1.5 งบประมาณรายจ่ายสำหรับทุนหมุนเวียน จำนวน 274,576.8 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 7.3 ของวงเงินงบประมาณ  

1.6 งบประมาณรายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ จำนวน 421,864.4 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 11.2 ของวงเงินงบประมาณ 

1.7 งบประมาณรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง จำนวน 123,541.1ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.3 ของวงเงินงบประมาณ

หากจะแยกตามยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณ แบ่งออกเป็น 6 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย

ยุทธศาสตร์ที่ 1 : ด้านความมั่นคง  

รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 415,327.9 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 11.0 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อพัฒนาความมั่นคงของประเทศ

ยุทธศาสตร์ที่ 2 : ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน  

รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 394,611.6 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 10.5 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อส่งเสริมให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตและเพิ ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้มีเสถียรภาพ และยั่งยืน

ยุทธศาสตร์ที่ 3 : ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ 

รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 605,927.3 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 16.0 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อพัฒนาและส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้คู่คุณธรรมและคุณภาพชีวิตที่ดี

ยุทธศาสตร์ที่ 4 : ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม   

รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 942,709.2 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 24.9 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อให้คนไทยทุกคนได้รับสวัสดิการพื้นฐาน บริการสาธารณะอย่างทั่วถึงเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ

ยุทธศาสตร์ที่ 5 : ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม   

รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 147,216.9 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.9 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ ่งแวดล้อม สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมเศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจภาคทะเล ส่งเสริมการรับมือกับภัยธรรมชาติ การจัดการมลพิษและสุขภาพประชาชน และการบริหารจัดการผลิตภาพน้ำทั้งระบบ

ยุทธศาสตร์ที่ 6 : ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ 

รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 605,441.6 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 16.0 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อยกระดับการบริการภาครัฐ ให้มีขีดสมรรถนะสูง โดยเปลี่ยนผ่านไปสู่ราชการทันสมัยในระบบดิจิทัล การจัดการปัญหาทุจริตและประพฤติมิชอบ

หลังจากที่นายกฯ ได้แถลงจบถึงคิวฝ่ายค้าน โดยนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ได้ลุกขึ้นอภิปราย โดยระบุว่า เป็นปีที่สองของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่จัดงบขาดดุลสูงเกือบติดเพดาน ทำให้ต้องกู้ชดเชยการคลังสูงสุดในรอบ 36 ปี นับจากปี 2532 โดยงบประมาณที่เสนอขอ 3.78 ล้านล้านบาท พบว่าใช้ได้จริงเพียง 1 ใน 4 หรือ 1.06 ล้านล้านบาทเท่านั้น 

ผู้นำฝ่ายค้าน ยังอภิปรายว่า ประเทศไทยอยู่ในภาวะหัวเลี้ยวหัวต่อของวิกฤต การจัดงบประมาณปี 2569 และจะเป็นบทพิสูจน์ว่า รัฐบาลจะนำประเทศจะผ่านไปได้หรือไม่ ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจภายในประเทศ ที่กำลังรุมเร้า นอกจากนี้การจัดทำงบประมาณครั้งนี้ คือกระจกที่สะท้อนไปยังตัวนายกฯ และช่วงท้าย ผู้นำฝ่ายค้าน เกรงว่า ประเทศไทยจะไปสู่รัฐล้มเหลว หากรัฐบาลยังจัดทำงบประมาณแบบเดิม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง