นายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงความคืบหน้าสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งฝ่ายไทยได้เตรียมความพร้อมสำหรับการเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยเขตแดนไทยและกัมพูชา โดยนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เน้นแนวทางในการเจรจาที่จะลดความตึงเครียดและทำให้ประชาชนในพื้นที่อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติและทำให้เส้นเขตแดนมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน รวมถึงยืนหยัดที่จะปกป้องอธิปไตยของไทย โดยไม่ยอมให้ไทยเสียดินแดนโดยเด็ดขาด
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ย้ำว่าฝ่ายไทยมุ่งมั่นใช้กลไกทวิภาคีในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ซึ่งเป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมที่สุดในเวลานี้ อีกทั้งยังเป็นกลไกที่เป็นที่ยอมรับตามธรรมเนียมปฏิบัติสากล โดยกลไกทวิภาคีที่ไทยและกัมพูชา มีอยู่ในปัจจุบันคือ คณะกรรมาธิการเขตแดน (JBC) คณะกรรมการชายแดนทั่วไป (GBC) และ คณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (RBC) ซึ่งไทยจะใช้ทั้ง 3 กลไกนี้ควบคู่กันไปในการเจรจา โดยยึดถือบันทึกความเข้าใจ MOU 2543 ว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก ซึ่งถือเป็นสนธิสัญญาที่ทั้งสองฝ่ายได้เจรจาตกลงกัน และมีผลบังคับทางกฎหมายกับทั้งสองฝ่ายที่จะต้องปฏิบัติตาม ในการประชุม JBC ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 14 มิถุนายน พร้อมขอให้มั่นใจว่า คณะผู้แทนไทยที่เดินทางไปจะปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่
ส่วนหัวข้อและรายละเอียดของการประชุม ยังอยู่ระหว่างการหารือของสองฝ่าย ซึ่งหนึ่งวาระที่พูดคุยอย่างแน่นอนคือ การทำสำรวจร่วมในหลักเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชา อย่างไรก็ตาม ไทยมุ่งมั่นที่จะลดความตึงเครียดของการเผชิญหน้า ซึ่งการประชุม JBC ในครั้งนี้ เป็นความหวังของไทยและกัมพูชา
นอกจากนี้ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ยอมรับว่าปัญหาเขตแดนที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะตกลงสำเร็จในภายครั้งเดียว เนื่องจากมีการเจรจากันมาอย่างต่อเนื่อง ในระยะเวลา 25 ปี และคาดว่าจะมีการเจรจากันอย่างต่อเนื่องต่อไป ทั้งนี้ ความตั้งใจของกัมพูชาที่จะใช้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือ ICJ ในการตัดสินข้อพิพาท ย้ำว่าไทยประกาศไม่ยอมรับเขตอำนาจศาลโลกมาตั้งแต่ปี 2503 จนถึงปัจจุบัน เช่นเดียวกับอีก 118 ประเทศ ที่ไม่รับเขตอำนาจของ ICJ จาก 193 ประเทศที่เป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ (UN) ดังนั้น กลไกที่ใช้จะต้องเป็นกลไกที่ได้รับการยอมรับทั้งสองฝ่าย เพราะขณะนี้ กลไกที่เป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่ายคือ JBC ที่เป็นผลพวงมาจาก MOU 2543
ส่วนกระแสวิพากษ์วิจารณ์ นายประศาสน์ ประศาสน์วินิจฉัย อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ หัวหน้าคณะกรรมาธิการ JBC ฝั่งไทย มีคุณสมบัติไม่เหมาะสมและเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนตัว นายนิกรเดช กล่าวว่า นายประศาสน์ เป็นคนที่มีความเชี่ยวชาญด้านเขตแดนที่สุดคนหนึ่ง ดูจากการทำงานท่านทำงานอยู่ที่กรมสนธิสัญญามาโดยตลอด มีความคุ้นเคยและได้รับการยอมรับ และกรมสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ก็อยากจะให้มาเป็นหัวหน้า พร้อมย้ำว่า รัฐบาลจะยึดถึงผลประโยชน์ของประชาชนและอธิปไตยของชาติ ยืนยันว่าคณะกรรมาธิการ JBC เชี่ยวชาญด้านเทคนิคเขตแดน ดังนั้น ยืนยันในความซื่อสัตย์สุจริต ความเป็นมืออาชีพ