นายกฯ ย้ำไทยไม่รับเขตอำนาจ ICJ รัฐบาลและกองทัพมีจุดยืนร่วมกันเพื่อปกป้องอธิปไตย

นายกฯ เรียกประชุมหน่วยงานความมั่นคง ย้ำจุดยืนแก้ปัญหาไทย-กัมพูชา ด้วยสันติ ไม่รับเขตอำนาจ ICJ พร้อมยืนยันรัฐบาลและกองทัพร่วมกันปกป้องอธิปไตย

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พลเอก ณัฐพล นาคพาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม รวมถึงผู้บัญชาการเหล่าทัพ ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ร่วมกันแถลงข่าวภายหลังการประชุมฝ่ายความมั่นคง ติดตามสถานการณ์ชายแดนไทย–กัมพูชา ที่บ้านพิษณุโลก ย้ำจุดยืนไทยแก้ไขสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา ด้วยสันติวิธีและภายใต้ความร่วมมือทวิภาคี

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย–กัมพูชา (Joint Boundary Commission – JBC) ครั้งล่าสุดที่จบลงไปนั้น ถือว่ามีความก้าวหน้าในการสร้างความเข้าใจระหว่างสองประเทศจากนี้ จะมีการจัดตั้ง “คณะทำงานเฉพาะกิจ” เป็นทีมประเทศไทย โดยมอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นผู้รับผิดชอบในการติดตามและประสานงานด้านข่าวสารและความมั่นคงอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ ประเทศไทยยืนยันไม่ยอมรับอำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice: ICJ) รวมถึงการดำเนินการในกรณีที่อยู่นอกกรอบทวิภาคีที่ได้ตกลงกันไว้ โดยรัฐบาลได้เตรียมทีมกฎหมายเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศไว้อย่างรอบด้านแล้ว

ส่วนการปรับเวลาเปิด–ปิดด่านชายแดนนั้น นายกรัฐมนตรียืนยันว่าประเทศไทยไม่ได้ปิดด่านแต่อย่างใด ยังคงเปิดให้บริการอยู่แต่เป็นการปรับเวลาเปิดและปิดให้เหมาะสมกับสถานการณ์ด้านความมั่นคง โดยเฉพาะเมื่อมีการเคลื่อนย้ายยุทโธปกรณ์จากฝั่งกัมพูชา ทั้งนี้รัฐบาลไทยได้แจ้งไปยังฝ่ายกัมพูชาว่าจะขอหารือในระดับกองทัพ เพื่อให้การบริหารจัดการด่านชายแดนเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและลดผลกระทบต่อประชาชนทั้งสองประเทศ

นายกรัฐมนตรีแสดงความกังวลต่อการสื่อสารของฝ่ายกัมพูชา ที่บางส่วนสื่อสารผ่านสังคมออนไลน์ที่อยู่นอกกรอบความตกลงระหว่างประเทศ โดยเห็นว่าการเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ผ่านการหารือร่วมกัน อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและไม่เกิดประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย พร้อมย้ำว่าไทยให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่ชายแดน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและความสงบเรียบร้อยของชุมชน และรัฐบาลไทยยืนยันว่าการหารือระหว่างไทย–กัมพูชา จะดำเนินต่อไปภายใต้กรอบ JBC และคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (Regional Border Committee – RBC) โดยมีการจัดทำบันทึกอย่างเป็นทางการทุกขั้นตอน ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ในระดับสากล และกระทรวงการต่างประเทศได้เชิญคณะทูตานุทูตต่างประเทศ ในประเทศไทยเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจร่วมกัน ถึงท่าทีของประเทศไทยที่ยึดมั่นในหลักการเจรจาระหว่างประเทศและกฎหมายสากล แต่สิ่งที่เราอาจทำน้อยคือการสื่อสารออกสาธารณะ เพราะเคารพการเจรจา เคารพกรอบทวิภาคี ว่าสิ่งที่คุยควรเป็นกรอบทางการทวิภาคีเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ไทยไม่เคยยั่วยุหรือพูดให้เกิดการปะทะใดๆ ในประเทศและต่างประเทศ

นายกรัฐมนตรีย้ำว่า รัฐบาลและกองทัพไทยมีจุดยืนร่วมกันในการปกป้องอธิปไตยของประเทศ โดยหลีกเลี่ยงความขัดแย้งและการเผชิญหน้าทางทหาร พร้อมขอให้ประชาชนมั่นใจในความแข็งแกร่งของประเทศไทยในฐานะรัฐเอกราชที่มีศักดิ์ศรี และขอให้ทุกฝ่ายสนับสนุนการดำเนินงานของรัฐบาลและกองทัพเพื่อรักษาสันติภาพและผลประโยชน์ของชาติอย่างยั่งยืน

นายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมด้วยนายประศาสน์ ประศาสน์วินิจฉัย ประธานคณะกรรมาธิการ JBC ฝ่ายไทย และนายเบจมินทร์ สุกาญจนัจที อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย แถลงข่าวสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา ภายหลังการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 6 (JBC)

นายนิกรเดช เปิดเผยว่า เมื่อคืนวันที่ 15 มิ.ย.68 กระทรวงการต่างประเทศได้ออกแถลงข่าวเรื่องผลการประชุม JBC สะท้อนท่าทีของไทยที่ชัดเจนเรื่องการปกป้องผลประโยชน์ของชาติ และกลไกทวิภาคี ตามที่รัฐบาลไทยได้แถลงยืนยันมาโดยตลอดเพื่อแก้ไขปัญหาเขตแดนด้วยความจริงใจและสุจริตใจ รวมถึงการเข้าร่วมประชุม JBC ที่ผ่านมาที่ไทยเข้าร่วมด้วยความตั้งใจจริงและความสุจริตใจที่จะเห็นผลลัพธ์เป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย วันนี้เห็นแล้วว่าฝ่ายกัมพูชาไม่ได้ตอบสนองแต่ยังคงเลือกที่จะเสนอพื้นที่ 4 จุด ได้แก่ ช่องบก ปราสาทตาเมือนธม ปราสาทตาเมือนโต๊ด และปราสาทตาควาย ต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ซึ่งในการเจรจาร่างระเบียบวาระการประชุม ฝ่ายกัมพูชาเลือกที่จะไม่หารือกรณีพื้นที่ 4 จุดในการประชุมครั้งนี้ ฝ่ายไทยจึงแสดงความผิดหวัง เพราะประเด็นด้านเขตแดนทั้งหมดอยู่ในขอบเขตการทำงานของ JBC ซึ่งเป็นประเด็นเชิงเทคนิค

การประชุม JBC ทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมีประสิทธิผลและทำต่อเนื่องมาตลอด 25 ปี จึงย้ำว่ากลไกทวิภาคีผ่านการประชุม JBC ยังดำเนินการได้ มีส่วนช่วยลดความตึงเครียดของสถานการณ์นำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนในอนาคต โดยไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุม JBC สมัยพิเศษในเดือนกันยายนนี้ ซึ่งฝ่ายกัมพูชาได้ตอบตกลงที่จะเข้าร่วม

ส่วนการยื่นเรื่อง 4 พื้นที่พิพาทต่อ ICJ ของกัมพูชา รัฐบาลไทยไม่รับเขตอำนาจศาล ICJ มาตั้งแต่ปี 2503 จนถึงปัจจุบัน ประธาน JBC ฝ่ายไทยได้ย้ำในถ้อยแถลง ซึ่งประธาน JBC ฝ่ายกัมพูชาได้รับทราบ และกระทรวงการต่างประเทศได้เตรียมแนวทางการรับมือเรื่องนี้ไว้แล้ว

สำหรับมาตรการตอบโต้ระหว่างไทย-กัมพูชา กัมพูชามีมาตรการต่างๆ รวมถึงคำขู่ว่าจะปิดด่านและงดนำเข้าสินค้าจากไทยหากไม่เปิดด่าน ย้ำว่าไทยปฏิบัติตามหลักสากลการเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่ดีจะไม่ใช้การยื่นคำขาดต่อกันโดยที่ไม่มีการหารือหรือหาทางออกอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนทั้งสองฝ่ายมากที่สุด ทั้งนี้ไทยยึดถือผลประโยชน์สูงสุดของประชาชนมาโดยตลอด มาตรการของไทยที่ผ่านมาเป็นการตอบโต้ระดับรัฐบาล ไม่มีเป้าหมายโจมตีประชาชน แนวทางการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดีย ไม่ใช่ช่องทางที่เป็นทางการ

การยื่นคำขาดต่อกันอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดระดับประชาชน สะท้อนว่ากัมพูชาขาดความตั้งใจจริงในการใช้กลไกทวิภาคีที่มีอยู่ร่วมกันบนพื้นฐานความเป็นเพื่อนบ้านที่ดี ทั้งนี้รัฐบาลใช้วิจารณญาณและความมีสติในการออกมาตรการตอบโต้อย่างรอบคอบและมีวุฒิภาวะ ไม่ใช้อารมณ์และจะไม่นำเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
มาเป็นประเด็นทางการเมือง

ส่วนการชี้แจงต่อประชาคมระหว่างประเทศ รัฐบาลไทยยังดำเนินการอยู่และดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว เราไม่เคยนิ่งนอนใจ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้รายงานสรุปให้กับคณะทูตประจำประเทศไทย ในเวลา 15.30 น. เพื่อให้ข้อมูลข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ทั้งนโยบายสันติที่ไทยดำเนินการมาโดยตลอดและแนวทางที่ไทยจะใช้ต่อไป

นายนิกรเดช ย้ำขอให้ประชาชนตรวจสอบข้อมูลอย่างชัดเจน ฝ่ายไทยจะนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้อง ไม่บิดเบือนเพื่อให้ประชาชนรับทราบอย่างถูกต้อง และหลีกเลี่ยงการนำข้อมูลที่ไม่ถูกต้องไปเผยแพร่ในวงกว้าง

ด้านนายประศาสน์ ประศาสน์วินิจฉัย ประธานคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) กล่าวว่า การประชุมดังกล่าวถือว่าราบรื่นที่สุดตั้งแต่ตนเองเคยประชุมมา ซึ่งขั้นตอนการทำงานของ JBC มี 5 ขั้นตอน 2 ระยะ ระยะที่ 1 ขั้นตอนแรก คือการสอบหาหลักเขตที่ปักไว้สมัยรัชกาลที่ 6 ทั้งหมด 74 หลัก ได้รับความเห็นชอบในปี 2561 ไปแล้ว 45 หลัก ส่วนอีก 29 หลัก ทั้งสองรัฐบาลยังเห็นต่างกัน ระยะที่ 2 คือการทำแผนที่จากถ่ายภาพทางอากาศ เนื่องจากกัมพูชาต้องการให้หาหลักเขตเก่าที่ปักไว้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 แต่ไทยมองว่าไม่เพียงพอ เพราะต้องการให้ดำเนินการคล้ายกับประเทศมาเลเซีย ให้เห็นเขตแดนที่ชัดเจนขึ้นเพื่อปักหลักเขตแดนเพิ่มเติม จากนั้นเมื่อได้แผนที่จากภาพถ่ายอากาศแล้วทั้งสองฝ่ายต้องมาพูดคุยกันว่าจะเดินสำรวจเพื่อที่จะปักปันเขตแดนในแนวใด หากเห็นพื้นที่ต่างกันก็ต้องเดินสำรวจทั้ง 2 แนวทาง ทำเป็นคู่มือให้เจ้าหน้าที่ได้ทำงาน เมื่อเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานเห็นพ้องตรงกันในพื้นที่ ก็นำข้อมูลกลับมาประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาเห็นชอบในแผนที่ฉบับใหม่ โดยไม่ต้องใช้แผนที่เดิมจากฝรั่งเศส

ซึ่งในการประชุม JBC ประธานในที่ประชุมของทั้งสองฝ่ายเห็นชอบในหลักเขตแดน 45 จุด ในการประชุมของคณะอนุกรรมาธิการด้านเทคนิค (คณะอนุกรรมาธิการร่วมไทย – กัมพูชา Joint Technical Sub-Committee : JTSC ) ก่อนหน้านี้ รวมทั้งเห็นในการปฏิบัติงานในการใช้อากาศยานไร้คนขับ หรือโดรนในการสร้าง Photo Map โดยใช้ระบบไรด้าสแกน (LiDAR Scan : Light Detection and Ranging) แต่ขณะนี้ติดปัญหาว่าใครจะทำ จะจ่ายเงิน ซึ่งตามหลักการปฏิบัติทั่วไปคือ การช่วยกันจ่ายคนละครึ่ง อีกทั้งการร่วมปฏิบัติงานกับกัมพูชามีความละเอียดอ่อนว่าใครจะเป็นฝ่ายบิน หรือดำเนินการบนเครื่องบินอย่างไร ทั้งนี้ในการประชุมที่มีเนื้อหาละเอียดอ่อนจะเป็นการประชุมกลุ่มเล็กก่อน ซึ่งข่าววาระการประชุมที่มีหลุดออกมาคือ วาระก่อนการประชุมกลุ่มเล็กของทั้ง 2 ฝ่าย ย้ำว่าการทำงานของคณะ JBC คือการทำให้เห็นเขตแดนอย่างชัดเจน ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง ขณะที่กรณีสัดส่วนแผนที่ 1:200,000 ยืนยันว่าไม่มีการพูดคุยซึ่งแผนที่ใหม่นี้เป็นการทำร่วมกันของทั้งสองฝ่าย

ด้านนายเบญจมินทร์ สุกาญจนัจที อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กล่าวว่า ตามข้อเท็จจริงทราบกันดีแล้วว่าฝ่ายกัมพูชานำประเด็น 4 พื้นที่พิพาทไปสู่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) แต่รัฐบาลยังไม่ได้รับแจ้งจากฝ่ายกัมพูชาหรือ ICJ ทั้งนี้การจะนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของ ICJ ทั้งสองฝ่ายต้องยอมรับเขตอำนาจศาล ซึ่งไทยชัดเจนว่าไม่ยอมรับอำนาจของ ICJ ตั้งแต่ปี 2503 เช่นเดียวกับอีก 118 ประเทศ เราจึงต้องพิจารณากลไกการแก้ปัญหาข้อพิพาทต่างๆ อย่างถี่ถ้วน รวมถึงนัยยะของอธิปไตยต่อประเทศ ทั้งนี้ยอมรับว่าการที่กัมพูชา ร้องต่อ ICJ เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย โดยปกติทั้งสองฝ่ายจะต้องมาตีกรอบตกลงร่วมกัน แต่ประเด็นนี้กัมพูชากลับเสนอเรื่องต่อสาธารณชนมากกว่าจะมาพูดกับรัฐบาลไทย เป็นการปิดโอกาสที่ทั้งสองฝ่ายพูดคุยกันอย่างเปิดอก

สำหรับ MOU 2543 เป็นสนธิสัญญาระหว่างไทยกับกัมพูชา เกี่ยวกับเรื่องการปักปันเขตแดน ในข้อ 8 กำหนดไว้ว่าหากมีปัญหาหรือการตีความหรือการบังคับใช้ MOU ให้ทั้งสองฝ่ายปรึกษาหารือหรือเจรจากันก่อน ขณะที่กฎบัตรสหประชาชาติ เน้นให้คู่กรณีได้พูดคุยกันก่อน และยังมีกลไกอื่น ๆ อีกมากก่อนที่จะนำเรื่องไปศาลโลก ทั้งนี้หากดูข้อเท็จจริงกัมพูชายังไม่เคยพูดคุยเรื่อง 4 พื้นที่ข้อพิพาทกับไทยเลย

กระทรวงการต่างประเทศ ออกแถลงการณ์ท่าทีไทยต่อการยื่นหนังสือโดยกัมพูชาต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) เกี่ยวกับพื้นที่สามเหลี่ยมมรกต ปราสาทตาเมือนธม ปราสาทตาเมือนโต๊ด และปราสาทตาควาย

1. ประเทศไทยไม่ยอมรับเขตอำนาจของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503 ซึ่งเป็นท่าทีเดียวกับประเทศสมาชิกสหประชาชาติอีก 118 ประเทศ

2. ประเทศไทยยืนยันความยึดมั่นอย่างแน่วแน่ต่อการแก้ไขข้อพิพาทโดยสันติตามกฎบัตรสหประชาชาติและหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศ การที่ไทยตัดสินใจไม่ยอมรับอำนาจของ ICJ สะท้อนท่าทีของไทpที่ได้พิจารณาแล้วว่า การใช้แนวทางใดๆ เพื่อแก้ไขความเห็นที่แตกต่างระหว่างรัฐ จะต้องคำนึงถึงบริบทเฉพาะของเรื่องนั้นๆ ลักษณะของสถานการณ์และนัยต่ออธิปไตยของประเทศ

3. ประเทศไทยมีความเห็นว่าการนำเรื่องไปสู่ฝ่ายที่สาม อาจมิใช่หนทางที่ดีที่สุดที่จะรักษาความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างรัฐไว้ได้เสมอไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นละเอียดอ่อนที่มีมิติทางประวัติศาสตร์ ดินแดน และการเมืองที่ซับซ้อน ดังนั้น ไทยจึงสนับสนุนแนวทางแก้ไขความเห็นที่แตกต่างระหว่างรัฐที่มีความยืดหยุ่น เป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่าย ซึ่งจะเปิดโอกาสให้แต่ละรัฐสามารถหารือกันอย่างสร้างสรรค์โดยเป็นไปตามสภาวการณ์
ในเรื่องนั้นๆ และผลประโยชน์ร่วมกัน

4. ดังที่ได้ระบุไว้ในหลายๆ โอกาส ประเทศไทยขอยืนยันท่าทีที่ว่า ประเด็นปัญหาเกี่ยวกับเขตแดนในปัจจุบัน ควรที่จะได้รับการแก้ไขตามกลไกทวิภาคีที่มีอยู่ระหว่างสองฝ่าย ซึ่งรวมไปถึงคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (JBC) คณะกรรมการชายแดนทั่วไป (GBC) และคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (RBC) ตลอดจนเวทีทวิภาคีอื่นๆ

5. นอกจากนี้ ยังเป็นที่น่าเสียใจว่าแม้ไทยและกัมพูชามีความสัมพันธ์อันใกล้ชิด ทั้งในระดับผู้นำและระดับประชาชน ประเทศไทยไม่เคยได้รับการติดต่อจากฝ่ายกัมพูชาเพื่อหารือหรือพิจารณาอย่างจริงจังถึงความเป็นไปได้ในการนำข้อพิพาทในพื้นที่ดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) เพื่อยุติความเห็นที่แตกต่างกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง