รัฐบาลเตือนผู้ปกครอง-ครู ระวัง “โรคมือเท้าปาก” ในเด็กเล็ก พบป่วยแล้วกว่า 2.1 หมื่นราย

นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาล โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกประกาศเตือนให้ระวังโรคมือเท้าปาก โรคระบาดในเด็กเล็กช่วงหน้าฝน ผู้ปกครองและคุณครูจะต้องเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ให้กับบุตรหลาน โดยเฉพาะเรื่องการดูแลสุขภาพเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะเป็นช่วงที่ตรงกับต้นฤดูฝนอากาศเริ่มเย็นลงและมีความชื้นสูงขึ้น ทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตและแพร่กระจายได้ดี ส่งผลให้เกิดโรคที่มาพร้อมกับฤดูฝนในเด็กเล็กที่มักเสี่ยงต่อโรคระบาดเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะโรคติดต่อผ่านการสัมผัส พบผู้ป่วย จำนวน 21,315 ราย แยกเป็นเด็กแรกเกิด – 4 ปี จำนวน 15,753 ราย เด็กอายุ 5 – 9 ปี จำนวน 4,658 ราย เด็กอายุ 10 – 14 ปี จำนวน 544 ราย (ข้อมูลสถานการณ์ระบาด วันที่ 1 มกราคม – 25 มิถุนายน 68)

โรคมือเท้าปาก เป็นโรคติดต่อที่พบได้บ่อยในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) ซึ่งมีหลากหลายสายพันธุ์ แม้เคยป่วยแล้วก็สามารถป่วยซ้ำได้อีก พบการระบาดมากในช่วงฤดูฝน ระหว่างเดือนมิถุนายน – สิงหาคม สามารถติดต่อได้จากการสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย สัมผัสผื่น ตุ่มน้ำใสหรือตุ่มแผล รวมทั้งอุปกรณ์เครื่องใช้หรือภาชนะสิ่งของที่ใช้ร่วมกับผู้ป่วย อาการที่พบบ่อย มีไข้ต่ำๆ มีตุ่มหรือแผลในปาก บริเวณเพดานอ่อน กระพุ้งแก้ม ลิ้น ในเด็กเล็กสังเกตได้จากการไม่ยอมดูดนม ไม่รับประทานอาหาร มีน้ำลายไหล หรือบ่นเจ็บปาก มีผื่นแดงหรือตุ่มน้ำใสขนาดเล็ก บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า ลำตัว ก้น หากอาการไม่ดีขึ้น เช่น มีไข้สูง รับประทานอาหารและน้ำได้น้อยมาก ซึมลง ชักเกร็งหายใจหอบเหนื่อย อาเจียนมาก ควรรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด

ความทนทานของเชื้อเอนเทอโรไวรัส (Enterovirus)

  • ถูกทำลายโดยแสงอุลตราไวโอเล็ต ในสภาพที่แห้งเชื้อจะมีชีวิตอยู่ไม่นาน
  • ถูกทำลายโดยการต้มที่ 50 องศาเซลเซียส นาน 30 นาที แต่ถ้ามีเกลือ magnesium อยู่ด้วย จะยังทน
    อยู่ได้
  • เชื้อมีชีวิตอยู่ได้หลายวันในอุณหภูมิห้องและเมื่ออยู่ในสภาพที่มีโปรตีนผสมอยู่ด้วย เช่น ในน้ำนม ไอศกรีม หรือครีม จะมีชีวิตอยู่นานกว่าในน้ำ การทำให้น้ำนมปราศจากเชื้อโดยวิธีการพาสเจอไรซ์ (pasteurization คือ กระบวนการถนอมอาหารและเครื่องดื่มโดยใช้ความร้อนในระดับหนึ่ง เพื่อทำลายจุลินทรีย์ที่ก่อให้
    เกิดโรคและจุลินทรีย์ที่ทำให้อาหารเสื่อมเสีย โดยยังคงรักษาสภาพและคุณค่าทางอาหารไว้ได้มากที่สุด)
  • คลอรีนผสมน้ำ 0.1 ppm, (part per million) สามารถทำลายเชื้อได้ หากทำลายเชื้อในอุจจาระจะต้องใช้คลอรีนที่เข้มข้นมากกว่านี้
  • ฟอร์มาลินขนาด 0.3% สามารถทำลายเชื้อได้
  • เชื้อนี้ค่อนข้างทนทาน ไม่ถูกทำลายโดยอีเธอร์ แอลกอฮอล์ และสาร deoxycholate

ผู้ปกครองควรเฝ้าระวัง ดังนี้ ให้เด็กล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ (แอลกอฮอล์ไม่สามารถฆ่าเชื้อนี้ได้) ทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำและหลังเล่นของเล่น หมั่นทำความสะอาดของใช้ของเล่น และพื้นที่ที่เด็กใช้ร่วมกันเป็นประจำ หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น แก้วน้ำ ช้อนตักอาหาร ผ้าเช็ดหน้า

คุณครูควรเฝ้าระวัง ดังนี้ 1) คัดกรองเด็กทุกเช้าอย่างเคร่งครัด หากพบเด็กป่วยให้แยกออกจากเด็กปกติ แจ้งให้ผู้ปกครองรับกลับบ้านเพื่อพาไปพบแพทย์และให้หยุดเรียนจนกว่าจะหายดี 2) หากมีเด็กป่วย 2 รายขึ้นไป ในห้องเดียวกันภายใน 1 สัปดาห์ ควรปิดห้องเรียนอย่างน้อย 1 วัน เพื่อทำความสะอาดและเฝ้าระวังคัดกรอง เด็กในห้องเรียนที่มีการระบาดให้เข้มข้นต่ออีก 1 สัปดาห์ 3) ปฏิบัติตามคำแนะนำทั่วไป

นายอนุกูล กล่าวด้วยว่า รัฐบาลห่วงใยสุขภาพเด็กแนะนำให้ผู้ปกครองควรเสริมภูมิคุ้มกันให้บุตรหลานเพื่อป้องกันโรคระบาด โดยให้เด็กกินอาหารครบ 5 หมู่ รวมถึงผักผลไม้ที่ช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน และควรนอนหลับอย่างน้อย 8-10 ชั่วโมงต่อวัน นอกจากนี้ ควรฉีดวัคซีนและแนะนำให้บุตรหลานรักษาความสะอาด ใช้ช้อนกลาง ฉีดสเปรย์แอลกอฮอล์หรือล้างมือบ่อย ๆ และสวมใส่หน้ากากอนามัย หากพบอาการเจ็บป่วยหรืออาการผิดปกติ ที่น่าเป็นห่วงจะได้พาไปพบแพทย์ทันที เพื่อให้ลูกหลานของเราปลอดภัยมากขึ้นโดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง