มหาเถรสมาคม ในการประชุมเมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๘ มีมติรับทราบพระราชดำริ
ราชเลขานุการในพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีหนังสือที่ พว. ๐๒๐๒.๒/๑๐๖๐๙ ลงวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๖๘ กราบทูล สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกเพื่อทรงทราบว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดสถาปนาเลื่อนพระอิสริยยศเฉลิมพระนามพระอัฐิ พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็น “สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระชินวรวิสุทธิเทวารยวงศ์” ถือเป็นสมเด็จพระมหาสมณเจ้า พระองค์ที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า เป็นพระยศสูงสุดของสมเด็จพระสังฆราชไทย ซึ่งประกอบไปด้วย ๖ ชั้น
๑. สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยา
๒. สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระ
๓. สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวง
๔. สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมขุน
๕. สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหมื่น
๖. สมเด็จพระสังฆราช
สำหรับพระยศ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า จะสถาปนาจากพระบรมราชวงศ์ ชั้นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ คือเป็นพระราชโอรสของพระมหากษัตริย์ หรือพระราชนัดดาของพระมหากษัตริย์ที่ได้รับสถาปนาเป็นกรณีพิเศษ
ส่วนสมเด็จพระสังฆราชเจ้า สถาปนาจากสมเด็จพระสังฆราชที่เป็นพระราชวงศ์ หรือสามัญชนที่ทรงพระคุณูปการส่วนพระองค์ เช่น เป็นพระราชอุปัธยาจารย์ พระราชกรรมวาจาจารย์ หรือทรงพระราชศรัทธาเป็นพิเศษ
พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า เป็นสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ ๑๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายกนานถึง ๑๖ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๔
ในรัชกาลที่ ๖ ถึง พ.ศ. ๒๔๘๐ ในรัชกาลที่ ๘ ทรงพระคุณูปการแก่พระบวรพุทธศาสนาและประเทศชาติอย่างยิ่ง เสด็จสถิตเป็นที่พึ่งแห่งพระบรมราชวงศ์และพุทธศาสนิกชน และทรงเป็นหลักของพุทธศาสนจักรที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ
พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงเป็นเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม พระองค์ที่ ๒ เป็นพระราชกรรมวาจาจารย์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) และในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๗) เมื่อครั้งทรงผนวช เป็นที่ทรงเคารพบูชายิ่งของพระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์ และทรงเป็นพระอุปัชฌายะของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ (วาสนมหาเถร) พระราชอุปัธยาจารย์ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ มีพระบรมราชโองการโปรดพระราชทานสถาปนาเป็น “สมเด็จพระสังฆราชเจ้า” ทรงกรมที่ “กรมหมื่น” เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๔ ครั้นถึงรัชกาลที่ ๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเลื่อนเป็น “กรมหลวง” เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙
พระกรณียกิจสำคัญคือ ทรงพระอุตสาหะรับเป็นประธานชำระและจัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ สนองพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กระทั่งสำเร็จบริบูรณ์ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งยังทรงพระนิพนธ์พระคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา พจนานุกรมภาษาบาลีแปลเป็นไทยฉบับปฐม ทรงจัดตั้งมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยเมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๖ เป็นรากฐานแห่งการศึกษาทางพระพุทธศาสนาในระดับสูงและการบริหารจัดการศาสนสมบัติอย่างเป็นรูปธรรมและทรงพระกรุณาโปรดให้มีการสอบธรรมศึกษาสำหรับคฤหัสถ์ เปิดให้มีการศึกษาพระพุทธศาสนาสู่พุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป