รองนายกฯ ประเสริฐ ประชุมติดตามสถานการณ์น้ำ กำชับทุกหน่วยงานเตรียมพร้อมรับมือ ช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างทันท่วงที

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์น้ำและการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ณ ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน โดยมีนายพรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้บริหารกรมชลประทาน ตลอดจนผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมทรัพยากรธรณี  กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณาภัย พร้อมด้วยผู้ว่าราชการจังหวัด 7 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย น่าน หนองคาย สกลนคร บึงกาฬ นครพนม และ มุกดาหาร เข้าร่วมประชุมออนไลน์ผ่านทางระบบ Video Conference

นายประเสริฐ กล่าวก่อนเปิดการประชุมว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติในช่วงฤดูฝน ซึ่งปีนี้ฝนมาเร็วกว่าปกติ ขณะนี้มีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น จังหวัดเชียงราย หนองคาย บึงกาฬ และหนองบัวลำภู ที่ได้รับผลกระทบจากพายุฝนที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ จากการประเมินของกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมถึงเดือนตุลาคมจะมีฝนตกมากในหลายพื้นที่ ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม โดยเฉพาะในพื้นที่ลาดเชิงเขาและพื้นที่ลุ่มต่ำ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวสร้างความกังวลให้กับประชาชนอย่างมาก

นอกจากนี้ ยังมีรายงานเหตุแผ่นดินไหวเกิดขึ้นในหลายประเทศ อาทิ ฟิลิปปินส์ อินเดีย และญี่ปุ่น ซึ่งขณะนี้สถานการณ์ในประเทศไทยยังไม่ถึงขั้นวิกฤต แต่ก็สร้างความไม่สบายใจให้กับประชาชนอย่างกว้างขวาง รัฐบาลจึงได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัด เข้าร่วมประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือสถานการณ์อุทกภัย วาตภัยและภัยพิบัติในรูปแบบต่างๆ โดยเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานมีแผนเผชิญเหตุที่ชัดเจนและสามารถให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที

ทั้งนี้ กรมชลประทานรายงานว่า ได้ติดตามสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝนอย่างใกล้ชิด เพื่อนำข้อมูลที่เกี่ยวข้องมาบูรณาการ วิเคราะห์ วางแผนการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ รวมทั้งพิจารณาปรับแผนการระบายน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม โดยไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายเขื่อน รวมทั้งปฏิบัติตาม 9 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2568 ที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบอย่างเคร่งครัด เพื่อรองรับปริมาณฝนที่จะเพิ่มขึ้นในเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคม ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ไว้ ที่สำคัญได้เน้นย้ำให้ทุกโครงการชลประทาน ตรวจสอบอาคารชลศาสตร์ (สิ่งก่อสร้างหรืออุปกรณ์ที่จำเป็นในงานชลประทานใช้เพื่อการจัดการน้ำ) และกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนกำหนดพื้นที่เฝ้าระวังอุทกภัยทั่วประเทศรวม 1,652 จุด พร้อมจัดเจ้าหน้าที่และเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ อาทิ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ รถบรรทุกและเครื่องจักรอื่นๆ ไว้ประจำจุดเสี่ยงเพื่อให้สามารถเข้าช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที

ภายหลังการประชุม รองนายกรัฐมนตรี มอบนโยบายและข้อสั่งการว่า ในปีนี้จังหวัดและหน่วยงาน มีการเตรียมความพร้อมไว้เป็นอย่างดี แต่สิ่งสำคัญที่อยากเน้นคือเรามีบทเรียนที่อำเภอแม่สาย ให้ทุกหน่วยงานถอดบทเรียนตรงนี้แล้วนำมาปรับใช้ในการรับมือให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ตามบริบทของแต่ละจังหวัด และเน้นให้ทุกหน่วยงานมีการทำงานเชิงบูรณาการร่วมกันมีการประสานความร่วมมือ สร้างเครือข่ายที่พร้อมจะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน สำหรับแนวทางและนโยบายให้หน่วยงานรับไปพิจารณาดำเนินการ ดังนี้

1. การเตือนภัย ให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ร่วมกันติดตาม คาดการณ์การก่อตัวของพายุหรือร่องมรสุมหรือสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งพยากรณ์อากาศล่วงหน้า (ระยะสั้น ระยะปานกลาง) คาดการณ์พื้นที่ฝนตกหนักถึงหนักมาก การประเมินพื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดปัญหาอุทกภัย ออกประกาศคำเตือนภัยล่วงหน้าอย่างน้อย 2-3 วัน เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบและเตรียมการรับมือได้อย่างทันท่วงที และให้ตรวจสอบระบบเตือนภัยล่วงหน้า (Early Warning System)ให้พร้อมใช้งาน รวมถึงเตรียมระบบสำรองในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน รวมทั้ง ให้กรมทรัพยากรธรณีติดตามและประเมินสถานการณ์ธรณีพิบัติภัยจากดินโคลนถล่ม แผ่นดินไหวอย่างต่อเนื่อง และบูรณาการข้อมูลการดำเนินงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งสื่อสารสร้างการรับรู้ความเสี่ยงภัยให้กับหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์พิบัติภัยได้อย่างทันท่วงที

2. การเตรียมพื้นที่รับมือภัยพิบัติ ให้กรมชลประทานร่วมกับจังหวัดในพื้นที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เร่งสำรวจและเร่งรัดดำเนินการรื้อสิ่งปลูกสร้างกลางลำน้ำที่ขวางทางน้ำเพื่อให้น้ำไหลได้สะดวก พร้อมทั้งให้ประสานหน่วยบัญชาการทหารพัฒนาเพื่อบูรณาการในการเร่งรัดขุดลอกแม่น้ำสายต่างๆ และให้กองทัพบก กองทัพเรือ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ดำเนินการและสนับสนุนกำลังคน อากาศยาน เครื่องมือ เครื่องจักรกลหนัก รถยนต์ เรือยางและอุปกรณ์ที่จำเป็นเพื่อเตรียมการสำหรับการเข้าพื้นที่ได้ทันท่วงที และให้กรมชลประทานตรวจสอบอาคารชลศาสตร์ให้พร้อมใช้งานและประสานงานเพื่อสนับสนุนทรัพยากรให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย เช่น เครื่องสูบน้ำ เรือตรวจการณ์ เสบียงอาหารสัตว์ ถุงยังชีพสัตว์ เมล็ดพันธุ์พืช หัวเชื้อจุลินทรีย์ และชีวภัณฑ์ควบคุมศัตรูพืช พร้อมกับให้จังหวัด และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์อุทกภัยไว้ล่วงหน้า พร้อมทั้งให้มีการซักซ้อมทำความเข้าใจกับทุกหน่วยงานในพื้นที่ของแต่ละจังหวัด จัดเตรียมพื้นที่สถานที่สำหรับการอพยพประชาชนมายังที่ปลอดภัย จัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว จัดเตรียมสิ่งของจำเป็นในการดำรงชีพ น้ำ อาหารแห้ง เครื่องดื่ม จัดตั้งโรงครัวพระราชทาน หน่วยรักษาพยาบาลหากเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติจะได้พร้อมให้การช่วยเหลือได้ทันที พร้อมทั้งจัดเตรียมสถานที่และประสานงานกับมูลนิธิต่างๆ จิตอาสาที่เข้ามาช่วยเหลือเพื่ออำนวยความสะดวกให้สามารถเข้ามาสนับสนุนและปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้น ให้กรมโยธาธิการและผังเมืองก่อสร้างคันกั้นน้ำริมตลิ่งในจุดวิกฤตตามแผนแก้ไขปัญหาระยะกลางโดยเร็ว และให้กรมควบคุมมลพิษ ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ กองทัพบก สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ใช้กลไกต่างๆ เพื่อเจรจากับรัฐบาลเมียนมาเพื่อแก้ไขปัญหาการชะล้างดินตะกอนที่เกิดขึ้นจากการเปิดเหมืองและการปนเปื้อนของสารพิษโดยเร็วที่สุด

3. การประชาสัมพันธ์ ให้จังหวัด กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ทบทวนแผนการปฏิบัติและการสื่อสารประชาสัมพันธ์การให้ข้อมูลผ่านระบบ Cell Broadcast (CB) โดยร่วมกับการแจ้งเตือนในรูปแบบอื่นๆ ตลอดเวลา หากพบว่ามีความเสี่ยงเกิดขึ้นให้รีบแจ้งเตือนประชาชนได้รับทราบข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องอย่างทันท่วงที เพื่อให้ประชาชนสามารถเตรียมการ พร้อมรับมือสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นเพื่อลดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน โดยเฉพาะในสถานการณ์วิกฤตให้มีความชัดเจน ลดความสับสน ป้องกันการเกิด Fake News รวมทั้งการประสานเครือข่ายอาสาสมัครแจ้งเตือนภัยในพื้นที่ รวมทั้ง ให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมทรัพยากรธรณี เผยแพร่องค์ความรู้และสร้างการรับรู้แก่ประชาชน โดยแจ้งเตือนให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยทราบถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งแจ้งแนวทางการปฏิบัติตนให้เกิดความปลอดภัย และช่องทางการรับความช่วยเหลือจากภาครัฐโดยกำชับให้ฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายอาสาสมัคร ประชาชนจิตอาสาให้ความสำคัญกับการจัดเตรียมพื้นที่ปลอดภัยสำหรับรองรับประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบให้เพียงพอและมีมาตรฐาน

4. การฟื้นฟู ช่วยเหลือเยียวยา ให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ร่วมกับจังหวัดจัดทำข้อมูล สำรวจพื้นที่ บ้านเรือน ทรัพย์สินของประชาชนที่ได้รับความเสียหายเพื่อประเมิน และเร่งจ่ายเงินชดเชยเยียวยาให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยและวาตภัย รวมถึงให้จังหวัดในพื้นที่เป็นหน่วยงานหลักในการประสานงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ จิตอาสา ภาคเอกชน มูลนิธิต่างๆ ในการร่วมให้ความช่วยเหลือประชาชนในการล้างทำความสะอาดบ้านเรือนประชาชน ที่สาธารณประโยชน์ และสถานที่ราชการในพื้นที่ที่ประสบภัยพิบัติและสำรวจความเสียหาย โดยเฉพาะบ้านเรือนที่พักอาศัย พื้นที่การเกษตร ที่สาธารณประโยชน์ เพื่อซ่อมแซม ฟื้นฟูให้กลับสู่สภาพปกติ และให้ความช่วยเหลือตามระเบียบและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว นอกจากนั้น ให้จังหวัดบูรณาการกับหน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มูลนิธิต่างๆ จัดชุดเคลื่อนที่เร็วให้ความช่วยเหลือลงพื้นที่ตามแผนเผชิญเหตุ ด้านการช่วยเหลือ การพยาบาลและการบรรเทาทุกข์โดยเฉพาะพื้นที่ที่อยู่บนดอย หรือพื้นที่ห่างไกลจากชุมชน

นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่ากระทรวงมหาดไทยได้ขับเคลื่อนการบริหารจัดการสาธารณภัยเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติร่วมกันในลักษณะครบวงจร ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังเกิดภัย ได้แก่

“ก่อนเกิดภัย” โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้จัดทำแผนเผชิญเหตุและมีการซักซ้อม แจ้งเตือนภัยผ่าน Cell Broadcast รวมถึงความพร้อมเจ้าหน้าที่ เครื่องจักรกลต่างๆ ขณะเดียวกันในพื้นที่ก็มีผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีข้อมูลทรัพยากรทั้งรถ เครื่องจักรกล บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการรับมือและกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จัดสรรงบประมาณอุดหนุนเพื่อปรับปรุง ก่อสร้าง และพัฒนาแหล่งเก็บน้ำทั่วประเทศ รวมถึงกรมโยธาธิการและผังเมือง ติดตามความมั่นคงแข็งแรงของพนังกันน้ำ ทำนบต่างๆ ของพื้นที่ชุมชน รวม 249 โครงการ และให้คำแนะนำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซ่อมแหล่งกักเก็บน้ำที่มีความชำรุดเล็กน้อยถึงปานกลาง แต่ถ้าชำรุดมาก กรมโยธาธิการและผังเมืองจะเป็นหน่วยดำเนินการ พร้อมทั้งได้เร่งจัดเก็บผักตบชวาในแหล่งน้ำทั่วประเทศเพื่อให้การระบายน้ำคล่องตัวอีกด้วย

“ขณะเกิดภัย” ทุกพื้นที่จะช่วยเหลือตามแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ทั้งการอพยพประชาชนพื้นที่เสี่ยง การจัดตั้งศูนย์พักพิงตามมาตรฐานสุขอนามัย การจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ การประกอบอาหารเลี้ยง และอำนวยความสะดวกต่างๆ และการเยียวยา

“หลังเกิดภัย” โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในท้องที่ สำรวจความเสียหาย เพื่อใช้งบประมาณเยียวยาตามระเบียบและกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ กลไกกระทรวงมหาดไทย ทั้งในส่วนกลางและในระดับพื้นที่ ท้องที่ ท้องถิ่น พร้อมในการบูรณาการภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ในการดูแลคนไทยในทุกสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง

ด้านนายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า การแจ้งเตือนสถานการณ์อุทกภัย แผ่นดินไหว และภัยพิบัติต่างๆ ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ จะมีเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสาธารณภัย 7 ภัย ได้แก่ แผ่นดินไหว สึนามิ พายุหมุนเขตร้อน อุทกภัย ดินโคลนถล่ม ภัยหนาว และภัยจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ตลอด 24 ชั่วโมง และแบ่งการดำเนินการเป็น 3 ส่วน คือ 1. การรับข้อมูล 2. วิเคราะห์ข้อมูล 3. กระจายข้อมูล โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่มีเครื่องมือตรวจวัดปัจจัยความเสี่ยงจากสาธารณภัย ทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยผู้เชี่ยวชาญ ในรูปแบบห้องปฏิบัติการ War room เพื่อประเมินโอกาสการเกิดสาธารณภัย ระดับความรุนแรง และพื้นที่เสี่ยงเกิดสาธารณภัยต่างๆ เพื่อกระจายข้อมูลเตือนภัยในรูปแบบต่างๆ อาทิ การรายงานข่าว การแจ้งเตือนผ่านหอกระจายข่าว ทั้งนี้ หากประเมินแล้วว่าจำเป็นต้องแจ้งเตือนไปยังประชาชนจะใช้ระบบ Cell Broadcast ซึ่งจะแล้วเสร็จโดยสมบูรณ์ทั้งระบบภายในเดือนกรกฎาคมนี้ และสำหรับกรณีสึนามิ กรมฯ มีทุ่นวัด 2 ตัว ตัวแรกในมหาสมุทรอินเดีย ห่างฝั่งจังหวัดภูเก็ต 965 กิโลเมตร โดยทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งสหรัฐอเมริกา อินโดนีเซีย มาเลเซีย และออสเตรเลีย หากประเมินแล้วว่าจะเกิดสึนามิ ทุ่นตัวที่สองบริเวณทะเลอันดามัน จะส่งสัญญาณเพื่อกดปุ่มแจ้งเตือนภัย โดยหอเตือนภัย 129 หอ ทุกจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน 

การประชุมครั้งนี้ นายชรินทร์ ทองสุข ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นายชัยนรงค์ วงศ์ใหญ่ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน นายสมภพ สมิตะสิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย นายชูศักดิ์ รู้ยิ่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร
นายปราชญา อุ่นเพชรวรากร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม นายวรญาณ บุญณราช ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร และนายนคร ศิริปริญญานันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ ได้รายงานสถานการณ์รวมถึงมาตรการการบริหารจัดการภัย เพื่อดูแลประชาชนตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มกำลังความสามารถ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง