สธ. Kick off โครงการ “คนไทย 7.2 ล้านคน รู้ค่าความเสี่ยงโรคไต” ภายใต้โครงการป้องกันโรคไต อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดกิจกรรม Kick off โครงการคนไทย 7.2 ล้านคน รู้ค่าความเสี่ยงโรคไต ภายใต้โครงการป้องกันโรคไต อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568  เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 72 พรรษา ในปี พ.ศ. 2570 จัดขึ้นที่โรงพยาบาลปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี โดยมี นายคมสัน ญาณวัฒนา รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี นายแพทย์ปรีชา เปรมปรี ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 4 คณะผู้บริหาร และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เข้าร่วมกว่า 1,000 คน

นายแพทย์โอภาส กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้น้อมนำพระราโชวาทในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานการประชุมใหญ่สามัญประจำปี คณะกรรมการบริหารมูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย ความตอนหนึ่งว่า “การรณรงค์เผยแพร่ความรู้แก่ประชาชนในเรื่องอาหารและโภชนาการ ตลอดจนวิธีปฏิบัติตนให้ปลอดภัยจากโรคไต เป็นทางหนึ่งที่จะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยโรคไตลงได้” มาดำเนินการ โดยจัดทำโครงการ “คนไทย 7.2 ล้านคน รู้ค่าความเสี่ยงโรคไตภายใต้โครงการป้องกันโรคไต อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568” เพื่อค้นหาผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงและคัดกรองตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ซึ่งจะช่วยชะลอความเสื่อมของไตและลดโอกาสการเกิดภาวะไตวายระยะสุดท้ายได้ รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพไตและเข้าถึงการตรวจคัดกรองอย่างทั่วถึง

ปัจจุบันคนไทยป่วยเป็นโรคไตเรื้อรัง ประมาณ 1,120,000 คน ซึ่งส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายด้านการรักษา พยาบาล คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัวอย่างมาก ทั้งนี้ การตรวจคัดกรองเพื่อให้รู้ค่าความเสี่ยงโรคไตตั้งแต่ระยะแรก จะทำให้สามารถควบคุมและชะลอการดำเนินของโรค ลดความเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อน รวมถึงช่วยให้ผู้ป่วยสามารถวางแผนการรักษาและดูแลตนเองได้อย่างเหมาะสม โดยกระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าคัดกรองผู้ป่วยกลุ่มที่มีความเสี่ยงเกิดโรคไตวายเรื้อรัง ได้แก่ ผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง นิ่วในไต เก๊าท์ และผู้ป่วยที่มีประวัติซื้อยาชุดหรือยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDS กินเป็นประจำ ในทุกเขตสุขภาพ ซึ่งมีประมาณ 7.2 ล้านคนทั่วประเทศ เพื่อให้รู้ค่าความเสี่ยงและตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพไต ช่วยลดผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการบำบัดทดแทนไตรายใหม่ ที่มีเฉลี่ยปีละ 17,000 ราย ทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการบำบัดทดแทนไตคนละ 220,000 – 280,000 บาทต่อปี และลดค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลในระยะยาวได้ถึง 3 ล้านล้านบาท โดยนำร่องที่เขตสุขภาพที่ 4  จังหวัดปทุมธานี เป็นพื้นที่แรก*(Non-steroidal Anti-inflammatory drugs: NSAIDS) คือ กลุ่มยาที่ใช้สำหรับลดไข้ ลดอาการปวด และลดการอักเสบของร่างกาย)

นอกจากนี้ ยังขอให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ทำหน้าที่นำความรู้จากโครงการคนไทย 7.2 ล้านคน รู้ค่าความเสี่ยงโรคไต ภายใต้โครงการป้องกันโรคไตอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ไปแนะนำประชาชน 
เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพไต การคัดกรองความเสี่ยง การปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรค การดูแลตนเองในเบื้องต้น รวมถึงการรณรงค์ให้ความรู้เรื่องอาหาร โภชนาการ และการปฏิบัติตนที่ถูกต้อง
เพื่อป้องกันโรคไต

นายคมสัน ญาณวัฒนา รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า ชาวจังหวัดปทุมธานีถือเป็นผู้โชคดีได้มีโอกาสที่ดีในการดูแลรักษาตนเอง การป้องกันรักษาโรคภัยไข้เจ็บ เชื่อว่าการจัดกิจกรรมครั้งนี้จะสามารถทำให้คนปทุมธานีกว่า 2 ล้านคน รับทราบความรุนแรงของโรคไต การป้องกันตนเองจากโรคไต ซึ่งการป้องกันดีกว่าการรักษา และจะทำให้กลุ่มเสี่ยงทราบอาการทำให้เกิดการรักษาได้รวดเร็ว

นายแพทย์ปรีชา เปรมปรี ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 4 กล่าวว่า การจัดโครงการนี้เพื่อค้นหาผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงและคัดกรองตั้งแต่ระยะเริ่มต้น เพื่อช่วยชะลอความเสื่อมของไตและลดการเกิดภาวะไตวายระยะสุดท้าย อีกทั้งส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญต่อการดูแลสุขภาพไต และการเข้าถึงการตรวจคัดกรองอย่างทั่วถึง ปัจจุบันมีจำนวนผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายกว่า 61,000 คน ที่ผ่านมาในเขตสุขภาพที่ 4 มีเป้าหมายคัดกรองโรคไตด้วยการเจาะหาอัตราการกรองของเสียของไตในผู้ป่วยเบาหวาน และความดัน 552,711 คน สำเร็จแล้ว 280,228 ราย และจะคัดกรองกลุ่มเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เป็นประธานเปิดตัวและประกาศเจตนารมณ์ขับเคลื่อนโครงการคนไทย 7.2 ล้านคน รู้ค่าความเสี่ยงโรคไต ภายใต้โครงการป้องกันโรคไต อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งโครงการนี้เป็นความร่วมมือของกระทรวงสาธารณสุขและภาคีเครือข่าย เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 72 พรรษา ในปี พ.ศ. 2570 โดยมีเป้าหมายให้คนไทย 7.2 ล้านคน ได้รับการตรวจคัดกรองความเสี่ยงและวินิจฉัยโรคไตตั้งแต่ระยะเริ่มต้นอย่างทั่วถึงด้วย 4 มาตรการหลัก ได้แก่
1) ส่งเสริมความรอบรู้สุขภาพ ด้วยการพัฒนาสื่อ เครื่องมือ และนวัตกรรมในการเผยแพร่ความรู้ที่ช่วยป้องกันโรคไตเรื้อรัง

2) พัฒนาความเข้มแข็งของชุมชนและจัดการปัจจัยสภาพแวดล้อม พร้อมทั้งพัฒนากลไกนโยบายสาธารณะและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

3) เพิ่มประสิทธิภาพระบบบริการคัดกรองโรคไตเรื้อรังในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูง รวมถึงพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ และ อสม.

และ 4) เพิ่มประสิทธิภาพระบบบริหารจัดการข้อมูลและนวัตกรรมชะลอการเกิดโรคไต

ขอเชิญชวนประชาชน  โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และผู้สูงอายุ ตรวจคัดกรองโรคไต ที่โรงพยาบาลหรือสถานบริการใกล้บ้าน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี ดังคำขวัญวันไตโลกปีนี้ที่ว่า “หมั่นดูแลไต ใส่ใจ คัดกรอง ป้องกันโรคไต” ซึ่งจะช่วยป้องกันและชะลอการเกิดภาวะไตเสื่อม ลดความเสี่ยงต่อโรคไตเรื้อรัง และลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลในระยะยาวได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง