“WebD” แพลตฟอร์ม AI ปิดกั้นเว็บไซต์ผิดกฎหมาย เพิ่มประสิทธิภาพป้องกันอาชญากรรมออนไลน์

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นประธานการประชุมผู้บริหารกระทรวงดีอี (Top Executives) ครั้งที่ 6/2568 ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 14 อาคาร 9 บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT โดยมีศาสตราจารย์พิเศษ วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ พร้อมด้วยรองปลัดฯ และหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดเข้าร่วมประชุม

จากการที่ประเทศไทยได้รับเสียงชื่นชมในการเป็นเจ้าภาพจัดงาน The 3rd Global Forum on the Ethics of AI 2025 ร่วมกับองค์การยูเนสโก ถือเป็นก้าวสำคัญของประเทศด้านเทคโนโลยีดิจิทัล พร้อมยืนยันว่า กระทรวงดีอีจะเดินหน้าการใช้เทคโนโลยี AI ภายใต้หลักจริยธรรมอย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะในกรณีการควบคุมเว็บไซต์ผิดกฎหมาย ล่าสุดได้เปิดตัว แพลตฟอร์ม WebD ซึ่งนำ AI และเทคโนโลยี RPA (Robotic Process Automation) มาใช้ในกระบวนการค้นหา จัดเก็บหลักฐาน สร้างคำร้องต่อศาลในรูปแบบ Paperless และส่งคำสั่งศาลไปยังผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) โดยอัตโนมัติ พร้อมระบบ URLs Checker ตรวจสอบสถานะเว็บไซต์อย่างต่อเนื่อง

จุดเด่นของ WebD คือสามารถทำงานได้รวดเร็วกว่าเจ้าหน้าที่ถึง 31.5 เท่า ลดเวลาการดำเนินการทางกฎหมายลงได้ 5 วันทำการ และคาดว่าปี 2568 จะสามารถเพิ่มการปิดกั้น URL ได้ เพิ่มขึ้นถึง 70.7% จากปี 2567 หรือโดยเฉลี่ยวันละ 175 URL

แพลตฟอร์มยังประกอบด้วยระบบ AI Crawler ซึ่งสามารถทำงานเทียบเท่าเจ้าหน้าที่กว่า 94 คน ค้นหาและจัดเก็บหลักฐานเว็บไซต์ผิดกฎหมาย ก่อนเข้าสู่ระบบกลั่นกรอง สร้างคำร้อง ส่งคำสั่งศาล และควบคุมการปิดกั้นได้ครบวงจร

WebD จะเป็นกลไกสำคัญในการยกระดับการสกัดกั้นเว็บไซต์ผิดกฎหมาย ที่มักเป็นช่องทางก่ออาชญากรรมไซเบอร์ ซึ่งกระทรวงดีอีให้ความสำคัญสูงสุดในการป้องกันและลดผลกระทบต่อประชาชน

นที่ประชุม ยังมีการรายงานความคืบหน้าประเด็นสำคัญเพิ่มเติม 3 เรื่อง ได้แก่
1. การเร่งรัดใช้งานแพลตฟอร์ม DE-fence อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งเป็นระบบป้องกันการโทรหลอกลวง โดยเปิดให้ประชาชนดาวน์โหลดเวอร์ชัน BETA แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมเปิดให้ใช้งานเต็มระบบในเร็วๆ นี้ มีคุณสมบัติช่วยแจ้งเตือน คัดกรองสายเรียกเข้า–SMS จากมิจฉาชีพ และยืนยันเบอร์จากหน่วยงานสำคัญ เช่น ตำรวจ หรือธนาคาร
2. การตรวจสอบข่าวปลอมเกี่ยวกับสถานการณ์ชายแดนไทย–กัมพูชา กระทรวงดีอี โดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ร่วมมือกับหน่วยงานความมั่นคง ตรวจสอบข่าวปลอมแล้ว 42 เรื่อง และดำเนินการปิดกั้นไปแล้ว 29 URL เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชน
3. การเชื่อมระบบเตือนภัยธรรมชาติกับแอป “ทางรัฐ” โดยกรมอุตุนิยมวิทยาได้ผสานข้อมูลสภาพอากาศ พายุ และแผ่นดินไหว เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้สะดวก ผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง