นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “เสียงจากใจไทยคู่ฟ้า” ออกอากาศวันที่ 5 กรกฎาคม 2568 ว่า รัฐบาลโดย นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กำลังเร่งเดินหน้าปฏิรูประบบโครงสร้างไฟฟ้าของประเทศครั้งใหญ่ เพื่อแก้ไขปัญหาราคาค่าไฟฟ้าที่ประชาชนต้องแบกรับมานาน และเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกภาคส่วน ที่ผ่านมาประชาชนจำนวนมากสงสัยว่า ทำไมประเทศไทยซึ่งมีโรงไฟฟ้าเอง แต่ยังต้องจ่ายค่าไฟแพง สาเหตุสำคัญมาจากโครงสร้างระบบไฟฟ้าที่ซับซ้อน และการพึ่งพาภาคเอกชนในการผลิตไฟฟ้ามากเกินไป ซึ่งสาเหตุที่ต้นทุนค่าไฟของประเทศไทยสูง เพราะต้องนำเข้าก๊าซ LNG หรือก๊าซธรรมชาติเหลว จากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาผันผวนตามตลาดโลก อีกทั้งยังมีสัญญาซื้อขายไฟจากเอกชนที่ยาวถึง 20 ปี ทำให้ประชาชนต้องแบกรับราคาที่ไม่เป็นธรรมทุกเดือน
ล่าสุด นายพีระพันธุ์ ได้ประกาศแนวทางสำคัญ เตรียม “รื้อแผน PDP” (Power Development Plan) หรือแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศครั้งใหม่ เพื่อให้หน่วยงานของรัฐ อย่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีบทบาทมากขึ้น ลดการพึ่งพาเอกชน และลดต้นทุนค่าไฟอย่างแท้จริง พร้อมผลักดันกฎหมายส่งเสริมการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ที่จะทำให้ประชาชนสามารถติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคา หรือ โซลาร์รูฟท็อป ได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องผ่านขั้นตอนขออนุญาตให้ยุ่งยากอีกต่อไป เพียงแค่ “แจ้ง” ก็สามารถดำเนินการได้ ซึ่งขณะนี้ ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวอยู่ระหว่างนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเห็นชอบ
โดยนายพีระพันธุ์ ได้อธิบายว่า แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า หรือที่เรียกว่าแผน PDP เป็นแผนสำคัญ ที่จะกำหนดทิศทางทั้งหมด แผนดังกล่าวคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้มีมติที่จะแต่งตั้งคณะกรรมการทำแผนชุดใหม่แล้ว เพื่อให้เป็นไปตามทิศทางของรัฐบาล ทำอย่างไรจะให้ไฟฟ้าถูกลง ทำอย่างไรจะเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับ กฟผ. ทำอย่างไรจะให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการใช้ไฟฟ้าของตัวเอง และทำอย่างไรจะใช้พลังงานหมุนเวียนเข้ามาผลิตไฟฟ้าให้เพิ่มมากขึ้น และลดความต้องการใช้ก๊าซลง แม่บ้านก็สามารถใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าได้เพิ่มมากขึ้น เพราะค่าไฟถูกลง หรือว่าถ้าใช้เท่าเดิมก็ประหยัดไฟขึ้น จะหุงหาอาหาร หรือทำอะไรก็ถูกลง พนักงานออฟฟิศถ้าต้นทุนบริษัทลดพวกนี้ลง ผลกําไรเพิ่มมากขึ้น อาจจะได้โบนัสมากขึ้น หรือว่า SMEs ก็เหมือนกัน บริษัท SMEs ซึ่งต้องมีต้นทุนต่าง ๆ ถ้าเขาพยายามลดลงมาได้จะทําให้โอกาสในการสร้างความมั่นคงของธุรกิจสูงขึ้น
นอกจากนี้ ยังเร่งเจรจากับผู้ผลิตโดยตรง เพื่อให้คนไทยเข้าถึงโซลาร์เซลล์ในราคาประหยัด เพื่อให้คนไทยเข้าถึงพลังงานสะอาดแบบสบายกระเป๋ามากขึ้น ทั้งนี้ การลดค่าไฟไม่ใช่แค่การช่วยภาคครัวเรือน แต่ยังช่วยลดต้นทุนการผลิตของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมอีกด้วย โรงงานกว่า 70,000 แห่งทั่วประเทศต้องใช้ไฟฟ้าปริมาณมาก หากค่าไฟถูกลง สินค้าก็มีโอกาสถูกลง ประชาชนได้ประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม เศรษฐกิจก็จะหมุนเวียนดีขึ้น
ตัวเลขค่าไฟในประเทศไทยจะปรับทุก 4 เดือน จากเหตุผลที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งจะต้องอิงตามราคาตลาดโลกที่มีการปรับขึ้น-ลงทุกวันเหมือนราคาน้ำมัน แต่ค่าไฟไม่สามารถปรับทุกวันได้จึงต้องหาค่าเฉลี่ยที่ 4 เดือน และนำข้อมูลค่าก๊าซมาปรับ และเรียกว่าค่า FT (ค่าไฟฟ้าผันแปร) ในปี 2567 ได้ตรึงราคานี้ไว้ไม่เคยปรับขึ้น ทั้งปีอยู่ที่ 4.18 บาท ตอนที่เข้ามารับตำแหน่งเมื่อปี 2566 ค่าไฟอยู่ที่ประมาณ 4.70 บาท ก็ปรับลดลงมาที่ 3.99 บาท จากนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขอปรับขึ้นเนื่องจากต้องใช้หนี้เพิ่มขึ้น จึงขยับมาอยู่ที่ 4.18 บาท และสามารถคงราคานี้ได้ตลอดทั้งปี หรือ 3 งวดของการพิจารณา แต่ในกลุ่มเปราะบางที่ใช้ไฟไม่เกินเดือนละ 300 หน่วย ก็คงราคาไว้ที่ 3.99 บาท ตลอดมาจนถึงขณะนี้ แต่ในปี 2568 ใน 4 เดือนแรก คือ มกราคม-เมษายน ได้ปรับลดราคาจาก 4.18 บาท เป็น 4.15 บาท และในงวดที่ 2 คือตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-สิงหาคม จะอยู่ที่ 3.98 บาท ถือว่าราคาลดลงมาตลอด นี่คือสิ่งที่ได้บริหารจัดการ แต่ถึงแม้จะลดลงแต่คนจะยังรู้สึกว่าค่าไฟแพง เพราะว่าต้องนำมาเทียบกับค่าครองชีพด้วย แต่ถ้าจะพูดถึงเฉพาะตัวเลขค่าไฟจะบอกได้ว่าไม่ใช่ ดูจากข้อมูลราคาเมื่อต้นปี
ค่าไฟฟ้าของไทยอยู่ที่ 4.15 บาท เวียดนาม 3.16 บาท ฟิลิปปินส์ 5.39 บาท อินโดนีเซีย 3.16 บาท มาเลเซีย 1.87 บาท (เนื่องจากรัฐบาลช่วยสนับสนุนเหมือนราคาน้ำมัน) สิงคโปร์ 7.22 บาท เกาหลีใต้ 4.48 บาท และสหรัฐอเมริกา 6.12 บาท ซึ่งจะมองว่าราคาค่าไฟฟ้าของไทยไม่ได้แพงแต่เมื่อเทียบกับค่าครองชีพและภาวะเศรษฐกิจก็ถือว่าแพง จึงเป็นเหตุผลที่ต้องหาวิธีทำให้ราคาต่ำกว่าที่เป็นอยู่ซึ่งเป็นภาระหน้าที่ของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ถ้าทำให้ราคาลงไปได้อีกก็ต้องทำ
สำหรับราคาน้ำมันที่ขึ้น-ลง คนส่วนใหญ่ก็เชื่อว่าเกิดจากกระทรวงพลังงานแต่การขึ้น-ลงของราคาน้ำมันนั้นไม่มีกฎหมายควบคุม เป็นสิ่งที่ตนเองกำลังเร่งผลักดันกฎหมาย ส่วนไฟฟ้ามีสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ควบคุม แต่ก็มีสูตรคิดคำนวณ และ กฟผ. ที่ต้องเป็นผู้ลงนามในสัญญารับซื้อแต่ไม่มีสิทธิ์กำหนดราคา แต่คนจ่ายค่าไฟฟ้าคือประชาชน จึงไม่สามารถปล่อยให้เป็นแบบนี้อยู่ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่พยายามเข้ามาแก้ปัญหานี้อยู่ทุกวัน สัญญาอะไรก็แล้วแต่ที่กระทบประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนและสาธารณะ ควรจะต้องเปิดเผยและให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้
ทั้งนี้ หากไม่มีภาคเอกชน แต่เป็นการผลิตจากภาครัฐอย่างเดียวจะทำให้ค่าไฟฟ้าถูกลงเพราะไม่ต้องคิดเรื่องกำไร เมื่อเรามีหน่วยงานหลักคือ กฟผ. เราควรจะหาทางทำให้หน่วยงานหลักของภาครัฐเป็นตัวผลิตไฟฟ้าให้ได้ ถ้าหากว่าขีดความสามารถบางช่วงบางเวลาไม่ถึงหรือมีข้อบกพร่องควรจะหาวิธีแก้ไขสนับสนุนตรงนั้น แต่ที่ผ่านมาเกิดเป็นนโยบายให้อยู่ในแผน PDP ให้เอกชนเข้ามาร่วมผลิตไฟฟ้าและขายไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันมี 3 การไฟฟ้า คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)
พอมีภาคเอกชน จึงต้องมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไปอีก ต้องดูว่ามีเหตุผลหรือความจำเป็นหรือไม่บางครั้งบางช่วงอาจมีความจำเป็นและมีเหตุผลแต่ไม่ได้หมายถึงจำเป็นตลอดเวลาจนเลิกไม่ได้ ตราบใดที่เรายังมีหน่วยงานหลักคือ กฟผ. เป็นตัวผลิตไฟฟ้าควรส่งเสริมให้ดำเนินการด้านนี้ให้เป็นประโยชน์เพราะเป็นหน่วยงานรัฐ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลนโยบายภาครัฐ ทำให้เราสามารถควบคุมราคาการผลิตหรือการชำระหนี้ได้
รัฐบาลขอย้ำว่า พลังงานคือเรื่องความมั่นคงของชาติและความเป็นอยู่ของคนไทยและเข้าใจดีว่าปัญหาค่าไฟฟ้าที่สะสมมานานสร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนไม่น้อย รัฐบาลกำลังเดินหน้าแก้ไขอย่างจริงจังทุกมิติ ขอให้ทุกคนมั่นใจและร่วมเป็นกำลังใจให้การปฏิรูปครั้งนี้สำเร็จ เพื่อประโยชน์ของคนไทยทุกคนอย่างแท้จริง