นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานของศูนย์พักคอยผู้ผ่านการบำบัดยาเสพติด (Community Isolation : CI) อำเภอเมืองขอนแก่น ณ โรงเรียนบ้านตอกแป้น ตำบลบ้านค้อ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น โดยมี นายประจวบ รักแพทย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น นายคารม คำพิทูรย์ ปลัดจังหวัดขอนแก่น นางจิรภา เชื้อดวงผุย พัฒนาการจังหวัดขอนแก่น นายชินกร แก่นคง นายอำเภอเมืองขอนแก่น พ.ต.อ.ภิภัธ พิมพ์กลม ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเวฬุวัน ผู้แทนสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น และประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านอำเภอเมืองขอนแก่น ร่วมลงพื้นที่
นางสาวธีรรัตน์ เปิดเผยว่า รัฐบาลมีเจตนารมณ์ที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยกำหนดให้ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการแก้ปัญหาอย่างเด็ดขาดตั้งแต่ตัดต้นตอการผลิตและจำหน่าย รวมถึงนำผู้เสพเข้ารับการบำบัดรักษา ด้วยพลังความร่วมมือของทุกภาคส่วน ซึ่งนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายในการประชุมร่วมกับผู้บริหารกระทรวงมหาดไทยและผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2568 ที่ผ่านมา โดยได้เน้นย้ำว่า “ยาเสพติดถือเป็นเรือธงอันดับหนึ่ง” ที่กลไกกระทรวงมหาดไทยทุกระดับ ตั้งแต่ผู้บริหารส่วนกลาง ผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด นายอำเภอ ต้องดำเนินการปราบปรามอย่างจริงจังเข้มข้น พร้อมทั้งดำเนินมาตรการป้องกันและบำบัดรักษาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะได้มีการติดตามและประเมินผลภายใน 3 เดือน
ทั้งนี้ ขอชื่นชมทีมอำเภอเมืองขอนแก่น ที่ได้นำนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยในการแก้ไขปัญหายาเสพติดอันถือเป็นเรือธงที่สำคัญ ด้วยการทำงานแบบบูรณาการทุกภาคส่วน เพราะงานทุกอย่างจะสำเร็จได้ด้วยความร่วมมือกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “การมีส่วนร่วมของชุมชน” ที่ถือเป็นจุดสำคัญในการป้องกันการหวนกลับเข้าสู่วงจรเดิม และจะเป็นพลังใจที่สำคัญเพื่อให้ผู้ผ่านการบำบัดสามารถยืนหยัดในสังคมได้อย่างมั่นคงและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพราะสังคมไทยเป็นสังคมแห่งการให้โอกาส และขอให้ผู้เข้ารับการบำบัดได้มีความตั้งใจที่จะไม่ข้องเกี่ยวกับยาเสพติด ด้วยการมาร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งที่ดีในชุมชนหมู่บ้านของพวกเรา ทำให้พี่ ๆ น้อง ๆ และลูกหลานของพวกเราทุกคนห่างไกลจากยาเสพติด เราคือจิ๊กซอว์ที่สำคัญที่จะทำให้ปัญหายาเสพติดหมดไปจากสังคมไทยอย่างยั่งยืน
ด้านนายชินกร แก่นคง นายอำเภอเมืองขอนแก่น กล่าวว่า ศูนย์ CI อำเภอเมืองขอนแก่น ณ โรงเรียนบ้านตอกแป้น แห่งนี้ ได้ดำเนินการตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2567 เป็นต้นมา โดยใช้รูปแบบชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยยาเสพติดหลังการรักษาจากโรงพยาบาล เพื่อฟื้นฟูสภาพจิตใจและสังคม ก่อนกลับคืนสู่ครอบครัวและชุมชน เน้นการดูแลผู้ผ่านการบำบัดอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่กระบวนการเข้าค่ายพักคอย การฟื้นฟูตามแผนการติดตามผล รวมถึงกิจกรรมพัฒนาศักยภาพ อาทิ การฝึกอาชีพและกิจกรรมจิตอาสา เพื่อให้ผู้ผ่านการบำบัดสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างเป็นปกติสุข มีทักษะการดำรงชีวิต และการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ โดยปัจจุบันมีผู้ผ่านกระบวนการแล้ว 309 ราย อยู่ระหว่างการฟื้นฟู 146 ราย และมีผู้ผ่านการฟื้นฟูกลับคืนสู่สังคมแล้ว 163 ราย
นอกจากนี้ นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ยังได้เป็นประธานเปิดงาน “มหกรรมแสดงผลงานสร้างสรรค์และนวัตกรรมแห่งภูมิภาคอีสาน ประจำปี 2568” ISAN Creativity and Innovation Summit 2025 (ICIS 2025) และกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “วิสัยทัศน์และกลไกการขับเคลื่อนนวัตกรรมและ Thailand Soft Power สู่เศรษฐกิจไทยยั่งยืน” โดยมีนายประจวบ รักแพทย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น นายสักสีห์ พลสันติกุล ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ขอนแก่น รศ.ดร.กฤตภัทร ถาปาลบุตร คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมในงาน ณ อาคารอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น
นางสาวธีรรัตน์ กล่าวว่า งานมหกรรมแสดงผลงานสร้างสรรค์และนวัตกรรมแห่งภูมิภาคอีสาน ประจำปี 2568 ISAN Creativity and Innovation Summit 2025 (ICIS 2025) สะท้อนศักยภาพของภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือในการใช้มรดกทางวัฒนธรรมที่มีอยู่เป็นทุนพัฒนาสู่ความยั่งยืนของสังคมและประเทศ สิ่งสำคัญคือ การต่อยอดองค์ความรู้และทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดมูลค่าเพิ่ม โดยเฉพาะการนำนวัตกรรมมาผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อสร้างสิ่งใหม่ๆ ที่ตอบสนองความต้องการของสังคมและตลาด การคิดนอกกรอบและการเปิดรับแนวทางใหม่คือหัวใจสำคัญของการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรัฐบาลพร้อมสนับสนุนแนวคิดเหล่านี้ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เพราะสอดรับกับนโยบายที่สำคัญ คือ “Soft Power” โดยเฉพาะการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในระดับพื้นที่ ด้วยการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนซึ่งถือเป็นหัวใจของความสำเร็จในการขับเคลื่อนนโยบายในระดับท้องถิ่นและประเทศ
ทั้งนี้ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้ให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องในการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างสรรค์ เพื่อให้เกิดความทั่วถึงและครอบคลุมทั่วประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าที่สามารถพัฒนาให้เป็น Soft Power ของไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นที่น่ายินดีว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยเฉพาะคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ได้ตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นในการริเริ่มและขับเคลื่อนโครงการ พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ทั่วประเทศ ผ่านงาน ICIS 2025 ที่จัดต่อเนื่อง 9 วัน ระหว่างวันที่ 28 มิถุนายน ถึง 6 กรกฎาคม 2568 ณ จังหวัดขอนแก่น อันเป็นเวทีระดับภูมิภาคที่เปิดโอกาสให้นักออกแบบ นักวิจัย นักศึกษาและผู้ประกอบการได้นำเสนอผลงาน แลกเปลี่ยนความรู้ และต่อยอดนวัตกรรมสู่ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาลในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ลดความเหลื่อมล้ำ และยกระดับรายได้ของประชาชนอย่างยั่งยืน
ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ยังได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยเฉพาะสินค้า OTOP ซึ่งปัจจุบันไม่เพียงเป็นที่ยอมรับในประเทศ แต่ยังส่งออกไปต่างประเทศ โดยมีผู้ประกอบการไทยหลายรายที่ได้รับความนิยมในตลาดสากล ซึ่งกระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชนมีหน่วยงานและบุคลากรทั่วประเทศที่ทำหน้าที่สนับสนุนการพัฒนาสินค้า OTOP ให้สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้อย่างมั่นคง ถือเป็นผลสำเร็จของภารกิจที่เริ่มดำเนินการมากว่า 20 ปี และทำให้วันนี้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ ลดการพึ่งพิงภาครัฐ โดยที่ภาครัฐทำหน้าที่สนับสนุนให้ประชาชนสามารถก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นใจ
รัฐบาลหวังว่า ICIS 2025 และเครือข่าย 8 องค์กรหลัก จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายด้านนวัตกรรม เศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่เชื่อมโยงเครือข่ายหลากหลายสาขา ทั้งแฟชั่น เทคโนโลยี อาหาร สุขภาพ การแพทย์ และการท่องเที่ยวสร้างสรรค์ รวมถึงการขับเคลื่อน Soft Power ซึ่งถือเป็นพลังใหม่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือในการก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างมั่นคง พร้อมทั้งผลักดันให้ “Branding อีสาน” กลายเป็นดินแดนแห่งโอกาสของนักลงทุนด้านนวัตกรรมในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เพื่อให้เราก้าวไปด้วยกัน ทำให้ Soft Power ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยให้มีความสุขอย่างยั่งยืน
ด้าน รศ.ดร.กฤตภัทร ถาปาลบุตร คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า งาน “มหกรรมแสดงผลงานสร้างสรรค์และนวัตกรรมแห่งภูมิภาคอีสาน ประจำปี 2568” ISAN Creativity and Innovation Summit 2025 (ICIS 2025) จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมและผลักดันนโยบาย Soft Power และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือและลุ่มน้ำโขง โดยเป็นงานที่จัดต่อเนื่องและเชื่อมโยงกับงาน Isan Creative Festival 2025 และ The Secret Sauce Business Weekend Isan 2025 ตลอดจนยกระดับผลงานของนักศึกษา คณาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ให้สามารถต่อยอดสู่ตลาดธุรกิจและการลงทุนทั้งในระดับภูมิภาคและระดับสากล โดยภายในงานมีกิจกรรมที่หลากหลาย ได้แก่ การจัดแสดงผลงานสร้างสรรค์ นิทรรศการ การจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) และการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และสร้างเครือข่ายความร่วมมือในระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ