ดีอี คิกออฟ “WebD” ใช้ AI สกัดเว็บฯ เถื่อน ปิดกั้นเพิ่มกว่า 70% เร่งบูรณาการทุกแพลตฟอร์มปราบอาชญากรรมออนไลน์

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นประธานการประชุมผู้บริหารกระทรวงดีอี (Top Executives) ครั้งที่ 6/2568 โดยมีศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดีอี ดร.ณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ รองปลัดกระทรวงดีอี ดร.ปิยนุช วุฒิสอน รองปลัดกระทรวงดีอี พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงดีอี เข้าร่วม

นายประเสริฐ กล่าวว่า จากการที่รัฐบาลไทย โดยกระทรวงดีอี กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นเจ้าภาพการจัดงาน “The 3rd Global Forum on the Ethics of AI 2025” ร่วมกับยูเนสโกได้รับการตอบรับที่ดี พร้อมทั้งคำชื่นชมจากยูเนสโก มีผู้นำประเทศ และผู้เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี

ทั้งนี้กระทรวงดีอี พร้อมเดินหน้าการใช้งานเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI: Artificial Intelligence ) อย่างต่อเนื่อง ภายใต้หลักการการกำกับดูแลด้วยจริยธรรม AI โดยขณะนี้ได้ดำเนินการนำเทคโนโลยี AI มาประยุกต์ใช้ในกระบวนการระงับการแพร่หลายและตรวจสอบการเข้าถึงเว็บไซต์ผิดกฎหมาย หรือที่เรียกว่า “WebD Project” ในรูปแบบแพลตฟอร์ม

สำหรับแพลตฟอร์ม “WebD” เป็นแพลตฟอร์มเร่งรัดกระบวนการระงับเว็บไซต์ผิดกฎหมาย ซึ่งมีมากกว่า 100,000 URLs ต่อปี โดยใช้เทคโนโลยี AI และ RPA (Robotic Process Automation) ในการค้นหา เก็บหลักฐาน สร้างคำร้องต่อศาลแบบ Paperless (ไม่ใช้กระดาษ) และส่งคำสั่งไปยังผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) โดยอัตโนมัติ พร้อมมีระบบ “URLs Checker” เพื่อตรวจสอบการปิดกั้นอย่างต่อเนื่อง ในส่วนจุดเด่นของแพลตฟอร์มดังกล่าวพบว่าสามารถทำงานได้เร็วกว่าเจ้าหน้าที่ถึง 31.5 เท่า ช่วยลดขั้นตอนการยื่นคำร้อง ต่อศาลลงได้ 5 วันทำการ และคาดว่าจะเพิ่มจำนวน URLs (Uniform Resource Locators) ที่ถูกสั่งปิดในปี 2568 ได้ถึงร้อยละ 70.7 จากเดิมในปี 2567 (โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นวันละ 175 URLs)

นอกจากนี้ “WebD” ยังมีระบบค้นหาและจัดเก็บหลักฐานเว็บไซต์ผิดกฎหมาย (AI Crawler) ซึ่งใช้ในการตรวจสอบ URLs ที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย (เทียบเท่าการทำงานโดยเจ้าหน้าที่จำนวน 94 คน) ก่อนส่งต่อไปยังระบบแอปพลิเคชัน สำหรับตรวจสอบ/กลั่นกรองเว็บไซต์ผิดกฎหมาย และเข้าสู่กระบวนการยื่นคำร้องต่อศาล (สร้างคำร้องส่งต่อไปยังศาลอาญาผ่านระบบออนไลน์) กระบวนการสั่งปิด (ระบบส่งคำสั่งศาลไปยังผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) และกระบวนการปรับพินัย) โดยเป็นการประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยี AI ร่วมกับการทำงานของเจ้าหน้าที่

นายประเสริฐ ระบุว่า การใช้งานแพลตฟอร์ม WebD จะช่วยให้กระบวนการทำงานในการระงับปิดกั้นเว็บไซต์ URLs ผิดกฎหมายสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเว็บไซต์ผิดกฎหมายเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญของการก่ออาชญากรรมออนไลน์ ซึ่งรัฐบาลและกระทรวงดีอีให้ความสำคัญในการป้องกันและปราบปรามอาญากรรมทางเทคโนโลยีเพื่อลดผลกระทบที่มีต่อประชาชน” 

นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังได้มีการพิจารณาประเด็นที่สำคัญ ดังนี้

1. การเร่งรัดดำเนินการใช้งานแพลตฟอร์มป้องกันการโทรหลอกลวง “DE-fence platform” (Digital Economy and Society – Fence) อย่างเต็มระบบ ซึ่งขณะนี้เปิดให้ประชาชนได้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันใช้งานในระบบ BETA (การทดสอบเพื่อค้นหาและแก้ไขข้อบกพร่อง ก่อนการเปิดตัวอย่างเป็นทางการ) และเตรียมพร้อมให้ประชาชนใช้งานเต็มระบบในเร็วๆ นี้

สำหรับ “DE-fence platform”เป็นแพลตฟอร์มที่ใช้ในการแจ้งเตือนประชาชน ช่วยในการคัดกรองสายเรียกเข้าและข้อความสั้น (SMS) ของคนร้าย รวมถึงช่วยยืนยันเบอร์โทรจากหน่วยงานสำคัญ เช่น ตำรวจ หรือสถาบันการเงิน เป็นต้น

2. การติดตามตรวจสอบเรื่องข่าวปลอมและข้อมูลบิดเบือนเกี่ยวกับความมั่นคงระหว่างประเทศ
ไทย-กัมพูชา กระทรวงดีอี โดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย ได้ประสานการทำงานร่วมกับหน่วยงานความมั่นคง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด โดยได้ตรวจสอบข่าวสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา และยืนยันว่าเป็นข่าวปลอม/บิดเบือน 42 เรื่อง ซึ่งได้ดำเนินการส่งปิดกั้นรวม 29 URLs เพื่อสร้างการรับรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ประชาชน

3. การแจ้งเตือนเรื่องภัยพิบัติและภัยทางธรรมชาติ ขณะนี้กระทรวงดีอี โดยกรมอุตุนิยมวิทยาได้ดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลอุตุนิยมวิทยาเข้ากับแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” เรียบร้อยแล้ว ซึ่งประกอบด้วยการให้บริการ 3 ประเภท ได้แก่ พยากรณ์อากาศล่วงหน้า 7 วัน เส้นทางเดินพายุ และข้อมูลแผ่นดินไหว

การประชุม The 3′ UNESCO Global Forum on the Ethics of Artificial Intelligence (GFEAI 2025) ระหว่างวันที่ 24-27 มิถุนายนที่ผ่านมา เป็นเวทีระหว่างประเทศเพื่อส่งเสริมการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์อย่างมีความรับผิดชอบและไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ตามแนวทางข้อเสนอแนะว่าด้วยจริยธรรมสำหรับปัญญาประดิษฐ์ของยูเนสโก (Recommendation on the Ethics of Artificial Intelligence) ซึ่งสมาชิกยูเนสโกทั้งหมด 104 ประเทศ ให้ความเห็นชอบ  

โดยรัฐบาลมุ่งเสริมสร้างพลังการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติด้าน AI ผ่านกลไกคณะกรรมการ AI แห่งชาติ ด้วยแนวทางสำคัญ 3 ประการ คือ 1. การส่งเสริมการใช้ AI เพื่อประโยชน์ของสังคม 2. การป้องกันการใช้ AI ในทางที่ผิด อาทิ การสร้างข่าวปลอมที่บ่อนทำลายความน่าเชื่อถือในสังคม และ 3. การเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องและการพัฒนา AI โดยยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลาง โดยจะร่วมมือกับภาคธุรกิจและสถาบันการศึกษายกระดับทักษะแรงงานให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง พร้อมส่งเสริมให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เข้าถึงเทคโนโลยี AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดต้นทุน เพิ่มผลิตภาพ และยกระดับความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกต่อไป

เป้าหมายประเทศไทย

  • ไทยประกาศตัวเป็น “ศูนย์กลางจริยธรรม AI” แห่งเอเชียแปซิฟิก: การเปิดประเทศรับบทผู้นำภูมิภาค โดยเฉพาะการร่วมมือกับ UNESCO เพื่อจัดตั้ง AI Governance Practice Center (AIGPC) ที่กรุงเทพฯ     ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางการฝึกอบรม วิจัย และขับเคลื่อนมาตรฐาน AI อย่างมีจริยธรรม โดยศูนย์นี้อาจกลายเป็น ‘ศูนย์ประเภท 2 (Category 2)’  แห่งที่ 4 ของ UNESCO หากได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ
  • ไทยทุ่มลงทุนใหญ่ใน AI กว่า 15.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ: ในช่วงปี 2568–2570 รัฐบาลตั้งเป้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรองรับการพัฒนา AI ทั้ง Data Center, Cloud, โครงข่าย 5G, HPC และอื่น ๆ เพื่อให้ประเทศไทยพร้อมรองรับการใช้งาน AI อย่างยั่งยืน พร้อมตั้งเป้าพัฒนาบุคลากรด้าน AI ไม่น้อยกว่า 100,000 คน/ปี เพื่อวางรากฐานให้ระบบนิเวศ (AI Ecosystem) ของไทยแข็งแรงในทุกมิติ
  • แผน AI เดินต่อไม่สะดุด ภายใต้ “คณะกรรมการ AI แห่งชาติ”: เพื่อความต่อเนื่อง ไทยจัดตั้ง“คณะกรรมการ AI แห่งชาติ” ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีนั่งหัวโต๊ะเป็นประธาน ผลักดันนโยบายอย่างต่อเนื่อง
  • ไทยพร้อมเดินหน้าทำงานร่วมกับทุกฝ่าย ขับเคลื่อนด้านเทคโนโลยีร่วมกับประเทศอื่นๆ ทั้งจากฝั่งตะวันตกและตะวันออก พร้อมส่งเสริมการพัฒนา AI ที่ตอบโจทย์ของตัวเอง โดยอิงบริบทท้องถิ่น ความหลากหลายและคุณภาพชีวิตของประชาชนไทย ที่สำคัญยังผนึกกำลังด้าน AI กับอินเดียผ่าน MOU ความร่วมในด้านเทคโนโลยีมานานกว่า 2 ปี (อินเดียถูกยกให้เป็น Tech Powerhouse ของกลุ่มประเทศ Global South)
  • มาตรฐาน AI ต้องคิด “ข้ามพรมแดน” ไทยและ UNESCO ผลักดันแนวทาง Regional Approach  เรียนรู้จากกรณีศึกษาภูมิภาค นำมาประยุกต์สู่ข้อเสนอระดับโลก
  • AI กับภารกิจ “สู้ภัยไซเบอร์–ข่าวปลอม”: ไทยใช้ AI ตรวจจับข่าวปลอมได้มากกว่า 3,000 เรื่อง/วัน พร้อมร่วมมือกับ Interpol (ตำรวจสากล) กับการเป็นผู้นำศูนย์ไซเบอร์ของอาเซียน และช่วยปราบแก๊งคอลเซนเตอร์ พร้อมแลกเปลี่ยนข้อมูลอาชญากรรมไซเบอร์ระหว่างประเทศ
  • ไทยพร้อมก้าวขึ้นเป็น “ศูนย์กลาง AI แห่งภูมิภาค”: การจัดฟอรัมนี้เป็นทั้ง “เวทีระดับโลก” และ “บทพิสูจน์ความพร้อมของไทย” ทั้งในด้านยุทธศาสตร์, นโยบายที่ชัดเจน, การลงทุน, โครงสร้างพื้นฐาน และความร่วมมือระหว่างประเทศ ศูนย์ AIGPC ที่กำลังจะเกิดขึ้น จะเป็นหัวใจในการฝึกอบรมบุคลากร AI ระดับภูมิภาค ส่งเสริมจริยธรรม เทคโนโลยีที่โปร่งใส และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตรวจพบข่าวปลอมรายสัปดาห์ที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมออนไลน์ จากผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 27 มิถุนายน – 3 กรกฎาคม 2568 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 1,431,745 ข้อความ ที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 719 ข้อความ พบข่าวปลอมเกี่ยวกับอาชญากรรมออนไลน์ที่ได้รับความสนใจจากประชาชนมากที่สุด ได้แก่ เรื่อง OR เปิดให้ลงทุนหุ้นคาเฟ่อเมซอน เริ่ม 1,000 บาท ปันผลวันละ 290 บาท ผ่านเพจ Amazon Corporation และเรื่องธนาคารกรุงไทยปล่อยสินเชื่อผ่าน TikTok ชื่อ .scb27 ทั้งนี้ กระทรวงฯ
มีความห่วงใยประชาชน เรื่องความตระหนักรู้เท่าทันข่าวปลอมที่ถูกแพร่กระจายบนสื่อออนไลน์โซเชียล อาจสร้างความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สิน หรือข้อมูลส่วนบุคคล ดังนั้นจึงควรตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าว หรือลิงก์เว็บไซต์ให้แน่ชัด

  • สามารถแจ้งเบาะแส ข่าวปลอม และอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบ โทรสายด่วน 1111 (24 ชม.)
  • Line ID: @antifakenewscenter | เว็บไซต์ www.antifakenewscenter.com 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง