เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ที่จะมีขึ้นวันที่ 9 กรกฎาคม 2568 นี้ สภาฯ จะมีการอภิปรายร่างกฎหมายนิรโทษกรรมที่ค้างอยู่ในระเบียบวาระและจะกลับเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ อีกครั้ง
ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมที่ค้างอยู่ มี 4 ฉบับ ซึ่งนำเสนอโดยเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน พรรคก้าวไกล พรรครวมไทยสร้างชาติและพรรคครูไทยเพื่อประชาชน
การนำกฎหมายนิรโทษกรรม เข้าสู่การพิจารณาอีกครั้ง นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) บอกว่า ปัจจุบันประเทศชาติบ้านเมือง ต้องการความรัก ความสามัคคี จึงต้องนำกฎหมายนิรโทษกรรมเข้าสู่การพิจารณา จะได้ไม่ทะเลาะเบาะแว้งกัน เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ แต่ทั้งนี้การแก้ไขจะต้องแก้ด้วยความจริงใจและความบริสุทธิ์ใจ
สำหรับร่างกฎหมายนิรโทษกรรมทั้ง 4 ฉบับนั้น แต่ละฉบับแตกต่างกันไป ทั้งเรื่องของกรอบเวลา คดีที่นิรโทษกรรม รวมทั้งข้อยกเว้นต่างๆ โดยเฉพาะคดีตามมาตรา 112
กฎหมายนิรโทษกรรมภาคประชาชน โดยร่างกฎหมายฉบับนี้ มีจุดเริ่มต้นจากเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน ที่ได้รวบรวมรายชื่อประชาชนและเสนอในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ร่างฉบับนี้ มีหลักการสำคัญคือ นิรโทษกรรมประชาชนที่ถูกดำเนินคดีทางการเมือง ตั้งแต่รัฐประหาร 2549 ถึงวันที่กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ เพราะถือว่า การทำรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549 เป็นจุดเริ่มของความขัดแย้งทางการเมือง ที่ยังคงส่งผลต่อเนื่องมาถึงสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน
ในร่างกฎหมายฉบับนี้ ยังได้ระบุถึงคดีที่นิรโทษกรรมได้ทันที โดยไม่ต้องผ่านคณะกรรมการพิจารณา เพราะถือว่า คดีเหล่านี้ถูกใช้เป็นคดีการเมืองหรือเป็นกฎหมายที่มีปัญหาในตัวของมันเองและที่สำคัญในร่างนี้ยังกำหนดด้วยว่า เมื่อนิรโทษกรรมแล้ว จะต้องมีการลบประวัติอาชญากรรมด้วย
กฎหมายนิรโทษกรรมฉบับพรรคก้าวไกล ร่างกฎหมายฉบับนี้ เสนอโดยพรรคก้าวไกล (ชื่อพรรคในขณะที่เสนอร่าง) เมื่อเดือนตุลาคม 2566 โดยจะนิรโทษกรรมให้แก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2549 ซึ่งเป็นวันชุมนุมครั้งแรกของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แต่ทั้งนี้ ร่างฉบับดังกล่าว ไม่ได้ระบุคดีที่ได้นิรโทษทันทีโดยไม่ต้องผ่านคณะกรรมการพิจารณาและการลบประวัติอาชญากรรม ซึ่งต่างจากร่างของเครือข่ายภาคประชาชน
กฎหมายนิรโทษกรรมฉบับพรรคครูไทย ร่างกฎหมายฉบับนี้ นำเสนอโดย พรรคครูไทยเพื่อประชาชน เมื่อเดือนธันวาคม 2566 กรอบระยะเวลานิรโทษกรรมคดีทางการเมืองระหว่าง 19 กันยายน 2549ถึง 30 พฤศจิกายน 2565 โดยมุ่งนิรโทษคดีล้มล้าง หรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการ การก่อการร้าย การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ความผิดตามกฎหมายชุมนุมสาธารณะ แต่ไม่นิรโทษคดีความผิดตามมาตรา 112 การทุจริตและการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง
กฎหมายนิรโทษกรรมฉบับพรรครวมไทยสร้างชาติ ร่างกฎหมายฉบับนี้ นำเสนอโดยพรรครวมไทยสร้างชาติ เมื่อเดือนมกราคม 2567 เนื้อหาโดยรวมของร่างนี้ คล้ายกับร่างกฎหมายที่นำเสนอโดยพรรคครูไทยเพื่อประชาชน โดยกำหนดช่วงเวลานิรโทษคดีทางการเมืองปี 2548 – 2565 ซึ่งรวมถึงการชุมนุมกดดันให้ทักษิณ ชินวัตร ออกจากตำแหน่งนายกฯ จากกรณีขายหุ้นกลุ่มชินคอร์ป และคดีของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือ “กลุ่มคนเสื้อเหลือง” และกลุ่ม กปปส. ในช่วงปี 2556-2557 โดยคดีที่ได้นิรโทษกรรม เช่น การก่อกบฏ ก่อการร้าย ความผิดตามกฎหมายเลือกตั้ง ความผิดตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ และกฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร แต่ไม่รวมความผิดตามมาตรา 112 และการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ และการทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
แม้ร่างกฎหมายทั้ง 4 ฉบับ จะมีเนื้อหาที่แตกต่างกันบ้าง แต่เนื้อแท้ของร่างกฎหมายดังกล่าว ต้องการที่จะนำความสงบสุขและความเข้าใจอันดีของคนในชาติกลับคืนมา โดยเฉพาะปมปัญหาและความขัดแย้งทางการเมือง
และในวันที่ 9 กรกฎาคมนี้ การที่สภาฯ จะนำเอาร่างกฎหมายนิรโทษเข้าสู่การพิจารณาอีกครั้ง แม้จะยังไม่แน่ชัดว่า จะพิจารณาร่างฉบับใดบ้าง และไม่สามารถคาดเดาผลที่จะออกมาว่าเป็นอย่างไร แต่ทั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่ทุกฝ่ายจะหันหน้ามาพูดคุย หาทางออกร่วมกัน เพื่อที่ประเทศไทยจะได้เดินหน้าและยุติปมขัดแย้ง ที่กัดกร่อนสังคมไทยมานานหลายสิบปี