คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย ตามนโยบายรัฐบาล (ระยะที่ 2) ดังนี้
1. เห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ
1.1 เห็นชอบการทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 การดำเนินมาตรการอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาท ตลอดสาย ตามนโยบายรัฐบาล สำหรับรถไฟฟ้าสายสีม่วงและรถไฟฟ้าสายสีแดง จากกรอบเวลาสิ้นสุดมาตรการวันที่ 30 พฤศจิกายน 2568 ให้ทบทวนจากเดิมเป็นสิ้นสุดมาตรการถึงวันที่ 30 กันยายน 2568
1.2 เห็นชอบแนวทางการดำเนินมาตรการอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาท ตลอดสาย ตามนโยบายรัฐบาล (ระยะที่ 2) (มาตรการฯ ระยะที่ 2) ตามที่กระทรวงคมนาคม เสนอ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล เรื่อง การกำหนดโครงสร้างอัตราค่าโดยสารร่วมในเขตกรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล เพื่อรองรับนโยบาย “ค่าโดยสารราคาเดียว” ตลอดสาย และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป ตามที่กระทรวงคมนาคม เสนอ
1.3 มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้
สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) ดำเนินการปรับปรุงแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” เพื่อให้รองรับการยืนยันตัวตน ลงทะเบียนบัตรโดยสาร และการเข้าถึงข้อมูลการใช้สิทธิของประชาชน และพัฒนาระบบบริหารจัดการรายได้กลาง (Central Clearing House : CCH)
กรุงเทพมหานคร พิจารณาดำเนินการมาตรการฯ ระยะที่ 2 ในส่วนโครงการรถไฟฟ้าภายใต้การกำกับของ กทม. ให้สอดคล้องตามแนวทางการดำเนินมาตรการฯ ระยะที่ 2 ที่กระทรวงคมนาคม เสนอ และเป็นไปตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561
การรถไฟฟ้าขนส่งแห่งประเทศไทย (รฟม.) และกรุงเทพมหานคร ในฐานะหน่วยงานกำกับสัญญาร่วมทุนโครงการรถไฟฟ้าในเขต กทม. และปริมณฑล เร่งรัดดำเนินการเจรจากับคู่สัญญาสัมปทานรถไฟฟ้า เพื่อปรับปรุงแก้ไขสัญญาสัมปทานหรือจัดทำบันทึกข้อตกลง ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เพื่อรองรับการดำเนินมาตรการฯ ระยะที่ 2 ให้เป็นไปตามแผนงานที่กำหนด
2. รับทราบการดำเนินมาตรการฯ ระยะที่ 2 สำหรับรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) สายนัคราพิพัฒน์ (สายสีเหลือง) และสายสีชมพู ของการรถไฟฟ้าขนส่งแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2568 ถึง 30 กันยายน 2569
3. อนุมัติหลักการการดำเนินมาตรการฯ ระยะที่ 2 สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงและโครงการรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (แอร์พอร์ตลิงก์) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2568 ถึง 30 กันยายน 2569
4. ค่าใช้จ่ายและแหล่งเงินในการดำเนินการมาตรการ ให้ดำเนินการตามความเห็นของสำนักงบประมาณ (สงป.)
5. ให้กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับความเห็นหน่วยงานไปพิจารณา และดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบ มติ ครม. ที่เกี่ยวข้องต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
1. รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2567 ว่า รัฐบาลจะกำหนดโครงสร้างอัตราค่าโดยสารร่วมในเขต กทม. เพื่อรองรับนโยบาย “ค่าโดยสารราคาเดียว” ตลอดสาย เพื่อลดภาระค่าเดินทางของประชาชน ซึ่งในปัจจุบันกระทรวงคมนาคม ได้ดำเนินการมาตรการค่าโดยสารสูงสุด 20 บาท ตลอดสาย สำหรับรถไฟฟ้าสายสีแดง ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และรถไฟฟ้าสายสีม่วง ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) แล้ว ซึ่งมีกำหนดสิ้นสุดมาตรการในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2568 ดังนั้นกระทรวงคมนาคม จึงได้เสนอมาตรการอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาท ตลอดสาย ตามนโยบายรัฐบาล (ระยะที่ 2) (มาตรการฯ ระยะที่ 2) เพื่อดำเนินมาตรการอย่างต่อเนื่องภายใต้นโยบายของรัฐบาล รวมถึงขยายผลการดำเนินมาตรการค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาท ตลอดสายตามนโยบายรัฐบาล ให้ครอบคลุมโครงข่ายรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล จำนวน 13 เส้นทาง (จากเดิม 3 เส้นทาง ได้แก่ สายสีแดงอ่อน สายสีแดงเข้ม และสายสีม่วง) ทั้งในส่วนรถไฟฟ้าที่อยู่ในความรับผิดชอบของ รฟท. รฟม. และ กทม. โครงข่ายรถไฟฟ้าที่จะดำเนินการตามมาตรการฯ ระยะที่ 2 จำนวน 13 เส้นทาง ประกอบด้วย
- การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)
สายสีแดงเข้ม : กรุงเทพอภิวัฒน์ – รังสิต
สายสีแดงอ่อน : กรุงเทพอภิวัฒน์ – ตลิ่งชัน
แอร์พอร์ตลิงก์ : พญาไท – สุวรรณภูมิ
- การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)
สายสีน้ำเงิน : บางซื่อ – หัวลำโพง / หัวลำโพง – บางแค (หลักสอง) และบางซื่อ – ท่าพระ
สายสีม่วง : บางใหญ่ – เตาปูน
สายสีเหลือง : ลาดพร้าว – สำโรง
สายสีชมพู : แคราย – มีนบุรี
- กรุงเทพมหานคร
สายสีเขียว (สุขุมวิท) : หมอชิต – สมุทรปราการ และ หมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต
สายสีเขียว (สีลม) : สนามกีฬาแห่งชาติ – บางหว้า
สายสีทอง : กรุงธนบุรี – คลองสาน
2. มาตรการฯ ระยะที่ 2 มีการกำหนดเงื่อนไขในการใช้บริการ ดังนี้
2.1 กำหนดสิทธิเฉพาะผู้โดยสารที่มีเลขประจำตัวประชาชนของคนไทย 13 หลัก (นักท่องเที่ยวต่างชาติจะไม่ได้รับสิทธิ)
2.2 เดินทางด้วยบัตรโดยสาร 2 ประเภท คือ (1) บัตร Europay Mastercard and Visa (EMV) Contactless Card (บัตรเครดิต หรือบัตรเดบิต ที่ใช้เทคโนโลยีไร้การสัมผัสใช้แตะกับเครื่องอ่านที่รองรับในการชำระเงินได้) และ (2) บัตรเติมเงินประเภทบัตรผ่านระบบบัญชีบัตร (Account Based Ticketing system: ABT) เช่น บัตร Rabbit แบบ ABT (แบบเติมเงิน)
2.3 ต้องลงทะเบียนบัตรโดยสารผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ”
2.4 กรณีเดินทางข้ามโครงข่ายผู้โดยสารต้องเดินทางเข้า – ออก บริเวณจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้า (Interchange) ที่กำหนดไว้เท่านั้น
ทั้งนี้ หากผู้โดยสารดำเนินการไม่ครบถ้วนตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้จะต้องชำระค่าโดยสารในราคาปกติ
3. ในการดำเนินมาตรการฯ ระยะที่ 2 กระทรวงคมนาคม มีแนวทางในการดำเนินการโดยพัฒนาระบบของรถไฟฟ้าเพื่อรองรับการดำเนินมาตรการฯ ระยะที่ 2 เช่น การติดตั้งระบบบัตรโดยสาร EMV Contactless Card สำหรับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ รวมถึงการพัฒนาระบบศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง (Central Clearing House : CCH) ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลและแจ้งยืนยันการเดินทางข้ามโครงข่ายของบัตรโดยสาร EMV Contactless Card และบัตรโดยสาร Rabbit ABT และการชดเชยรายได้ค่าโดยสารในโครงข่ายรถไฟฟ้าของ รฟท. รฟม. และ กทม.
4. ผลประโยชน์และผลกระทบจากการดำเนินมาตรการฯ ระยะที่ 2
4.1 กระทรวงการคลัง ได้ประมาณการผลตอบแทนที่จะได้รับจากการดำเนินมาตรการฯ ระยะที่ 2 ในปีงบประมาณ 2569 โดยประเมินในเชิงปริมาณและมูลค่าจากจำนวนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าที่ได้รับประโยชน์ใน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมีสมมติฐานในการประมาณการมูลค่าผลประโยชน์ในปีงบประมาณ 2569 รวมมูลค่า 21,812.46 ล้านบาท
4.2 ผลกระทบในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินมีปริมาณผู้โดยสารในระบบจำนวนมาก ทำให้อาจมีผลกระทบต่อความจุของระบบ กรณีมีการดำเนินมาตรการฯ ระยะที่ 2 ดังนั้น รฟม. จะดำเนินการหาแนวทาง
และปรับปรุงความจุของระบบเพื่อรองรับผู้โดยสารก่อนเริ่มดำเนินมาตรการต่อไป
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรการอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสายนี้ จะครอบคลุมโครงข่ายเส้นทางรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล จำนวน 13 เส้นทาง ระยะทางรวม 279.84 กิโลเมตร 194 สถานี สำหรับแนวทางการชดเชยรายได้ค่าโดยสารจากการดำเนินมาตรการ จะมาจากกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม หรือแหล่งเงินอื่นที่เหมาะสม ทั้งนี้ภายในช่วงเดือน สิงหาคม 2568 จะเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนรับสิทธิ์ค่าโดยสาร 20 บาท ผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” และภายในวันที่ 1 ตุลาคม 2568 จะเริ่มดำเนินมาตรการดังกล่าว หลังจากนั้นจะมีกระบวนการปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สำหรับมาตรการอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย จะเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้บริการสาธารณะ ลดภาระค่าครองชีพแก่ประชาชน ช่วยเพิ่มโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงระบบบริการสาธารณะของรัฐ เพื่อเดินทางถึงปลายทางด้วยระบบรถไฟฟ้า ที่มีความปลอดภัย สะดวก ตรงเวลา และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในราคาค่าโดยสารที่เข้าถึงได้ตามนโยบายของรัฐบาล เกิดการใช้บริการในระบบขนส่งมวลชน รวมทั้งความคุ้มค่าจากผลตอบแทนทางเศรษฐกิจจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งทางราง ประหยัดค่าใช้จ่ายและเวลาในการเดินทาง ลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุ ลดปริมาณรถยนต์บนท้องถนน ลดปัญหาการจราจรติดขัด ลดการใช้พลังงานน้ำมัน ลดปริมาณมลพิษจากการจราจร ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและลดปัญหาฝุ่น PM2.5