ทลายเครือข่ายร้านยาเถื่อน 6 เภสัชกรปลอม ยึดยาแก้ไอเกือบ 6 หมื่นขวด

ตำรวจสอบสวนกลาง หรือ CIB ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี ได้เปิดปฏิบัติการเข้าตรวจค้น 6 ร้านยาในจังหวัดปทุมธานี ที่ลักลอบจำหน่ายยาแก้ไอให้กลุ่มวัยรุ่นนำไปผสม “4×100” หรือที่รู้จักกันในชื่อ “สี่คูณร้อย” เพื่อใช้เป็นยาเสพติด

การจับกุมครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากการขยายผลการจับกุมเครือข่ายผลิตยาแก้ไอปลอม ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่พบว่าในพื้นที่ปทุมธานี มีร้านยาหลายแห่งที่เปิดในลักษณะเครือข่าย โดยมีเจตนาหลักคือการจำหน่ายยาแก้ไอโดยเฉพาะ บางร้านวางยาประเภทอื่นไว้น้อยมาก หรือบางร้านไม่มีเลย เน้นขายแต่ยาแก้ไอให้กับกลุ่มวัยรุ่นที่นิยมนำไปผสมกับน้ำต้มใบกระท่อมเพื่อสร้างความมึนเมา

เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2568 เจ้าหน้าที่ได้บุกเข้าตรวจค้น 6 ร้านยา ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าผู้ที่ทำหน้าที่ขายยาไม่ใช่เภสัชกรที่ขึ้นทะเบียนและได้รับอนุญาตถึง 6 ราย บางรายจบแค่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และมัธยมศึกษาปีที่ 3 เท่านั้น ทำให้ถูกแจ้งข้อหา “ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนและไม่มีใบอนุญาต” และบางร้านยังถูกดำเนินคดีในข้อหา “ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต” ด้วย

จากการสืบสวนเพิ่มเติม พบว่าร้านยาที่ถูกตรวจค้นทั้ง 6 แห่งนี้ เป็นร้านเครือข่ายที่มีผู้รับอนุญาตเป็นคนนามสกุลเดียวกัน และ 2 ใน 6 ร้านไม่มีใบอนุญาตเลย ที่สำคัญคือ ผู้รับอนุญาตรายนี้เคยถูก อย. สั่งพักใช้ใบอนุญาตและได้ยกเลิกใบอนุญาตไปแล้ว แต่กลับย้ายมาเปิดร้านใหม่หลายแห่งในปทุมธานี เพื่อหลีกเลี่ยงการจับกุมและหวังโควตาในการรับซื้อยาน้ำแก้ไอจากโรงงาน

ผลจากการตรวจค้นทั้ง 6 จุด เจ้าหน้าที่ยึดของกลางได้รวมกว่า 123 รายการ เป็นยาแก้แพ้แก้ไอมากถึง 10,525 ขวด และยาเขียวเหลืองอีก 57,960 เม็ด คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 844,260 บาท

อย. ได้เน้นย้ำว่ายาน้ำแก้ไอเป็นยาอันตราย การผลิตและจำหน่ายต้องเป็นไปตามกฎหมาย ร้านยาที่ได้รับอนุญาตและผู้จ่ายยาต้องเป็นเภสัชกรผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการเท่านั้นและร้านขายปลีกสามารถขายให้ประชาชนได้ครั้งละไม่เกิน 3 ขวดเท่านั้น สำหรับร้านที่ตรวจพบว่าขายยาอันตรายในทางที่ผิด นอกจากผู้ขายจะมีความผิดแล้ว ผู้รับอนุญาตก็จะถูกพักใช้ใบอนุญาตเป็นเวลา 120 วันด้วย

พลตำรวจตรี พัฒนศักดิ์ บุบผาสุวรรณ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ได้ย้ำเตือนประชาชน หากพบเห็นร้านขายยาที่ผู้ขายไม่ใช่เภสัชกร หรือมีพฤติการณ์น่าสงสัย สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่ สายด่วน ปคบ. 1135 หรือเพจเฟซบุ๊ก ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภค เพื่อช่วยกันปราบปรามภัยร้ายที่คุกคามเยาวชนของเราครับ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง