นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาล โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เร่งดำเนินมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงปลายฤดูผลไม้ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคเหนือ ซึ่งกำลังเผชิญปัญหาผลผลิตล้นตลาด และไม่สามารถส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้จากสถานการณ์ปิดด่านชายแดน
รัฐบาลได้ระบายผลผลิตออกไปแล้วกว่า 10,000 ตัน ผ่านการดำเนินการร่วมกับหลายภาคส่วน อาทิ
– ตลาดสด 13 แห่งทั่วประเทศ ช่วยระบายทุเรียน
– บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด รับซื้อมังคุด ลำไย สับปะรดภูแล เพื่อนำไปแปรรูปจำหน่ายบนเครื่องบิน
– ซีพี แอ็กซ์ตร้า (Makro, Lotus’s) และห้างโก โฮเซลล์ รับซื้อผลไม้ไปจำหน่าย
– ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ 40 บริษัทจดทะเบียนใน SET50 รับซื้อผลไม้ไทย
– ห้างค้าส่ง ค้าปลีก และหน่วยงานราชการต่าง ๆ เข้ารับซื้อผลผลิตต่อเนื่อง
เพื่อรองรับผลไม้จากภาคเหนือ ที่กำลังทยอยออกสู่ตลาด เช่น ลำไย มะม่วง ลิ้นจี่ และสับปะรด รัฐบาลได้ประสานไปยังกระทรวงกลาโหม เพื่อขอกำลังพลทหารช่วยเก็บผลผลิต โดยเฉพาะลำไย ซึ่งปีนี้คาดว่าจะมีผลผลิตจำนวนมาก พร้อมทั้งประสานกรมราชทัณฑ์ ให้นำผู้ต้องขังชั้นดีเข้าร่วมช่วยเก็บผลไม้ด้วย เพื่อลดภาระต้นทุนแรงงานของเกษตรกร
ในด้านการตลาด กระทรวงพาณิชย์ได้เตรียมแผนผลักดันการส่งออกลำไยไปยัง ตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ ได้แก่
– อินเดีย ซึ่งมีความนิยมบริโภคลำไยไทยเพิ่มขึ้น
– ตะวันออกกลาง ซึ่งสามารถใช้จุดเด่นด้านรสชาติหวานของลำไย รองรับความต้องการในช่วงเดือนรอมฎอน
– จีน โดยจะมุ่งเจาะตลาดในเมืองและมณฑลใหม่ ๆ ที่ยังมีช่องว่างอีกมาก
ขณะเดียวกัน ภาครัฐยังได้ประสานความร่วมมือกับ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ให้รับซื้อมังคุดจากภาคตะวันออก ซึ่งอยู่ในช่วงปลายฤดู โดยเบื้องต้นรับซื้อแล้ว 70 ตัน ในราคากิโลกรัมละ 40 บาท และนำไปจำหน่ายใน ร้านเซเว่น อีเลฟเว่น กว่า 8,200 สาขาทั่วประเทศ พร้อมวางแผนขยายไปรับซื้อมังคุดจากภาคใต้ ลำไยจากภาคเหนือ และผลไม้ชนิดอื่นในลำดับถัดไป
รัฐบาลยังมีแผนสำรองหากเกิดสถานการณ์ผลผลิตล้นตลาด โดยเตรียมเชื่อมโยงกับ หอการค้าไทยและภาคอุตสาหกรรม วางแผนระยะสั้น กลาง และยาว เชื่อมโยงโรงงานแปรรูปผลไม้ให้รองรับผลผลิตได้อย่างเป็นระบบ พร้อมวางแผนการตลาดเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง
รัฐบาลให้ความสำคัญกับเกษตรกรทุกพื้นที่ และได้เตรียมแผนเพื่อดูแลราคาผลผลิตทั้งจากภาคเหนือและภาคใต้ เพื่อให้เกษตรกรสามารถจำหน่ายผลผลิตได้มากที่สุด และได้รับประโยชน์อย่างเป็นธรรม