นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการบริหารจัดการผลผลิตลำไยคุณภาพ ครั้งที่ 1/2568 กล่าวว่า ในปี 2568 คาดว่าจะมีปริมาณผลผลิตลำไยออกสู่ตลาดสูงกว่าปีที่ผ่านมา โดยผลผลิตจะออกกระจุกตัวในเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2568 อาจทำให้ผลผลิตลำไยล้นตลาดและราคาตกต่ำ หนึ่งในปัญหาที่สำคัญคือปัญหาขาดแคลนแรงงานในการเก็บเกี่ยวลำไยผลสดที่จะส่งผลกระทบต่อการเก็บเกี่ยว รวบรวม และกระจายผลผลิตออกจากแหล่งผลิต ซึ่งหากมีแนวทางการผ่อนปรน หรือมีมาตรการเป็นการเฉพาะให้เคลื่อนย้ายแรงงานจากภาคตะวันออกไปสู่ภาคเหนือให้มีความสะดวกโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย จะเป็นปัจจัยที่สำคัญในการเก็บเกี่ยว รวบรวมและกระจายผลผลิต จึงจำเป็นต้องประสานการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงแรงงาน
จากปัญหาดังกล่าว จึงได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการทำงานร่วมกันตลอดห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ภาคการผลิตจนถึงการตลาด เพื่อเร่งกระจายผลผลิตออกจากแหล่งผลิตทั้งภายในและภายนอกประเทศ และใช้กลไกระบบสหกรณ์สนับสนุนการกระจายผลไม้ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมการผลิตลำไยคุณภาพ จะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น เกิดความมั่นคงในอาชีพเกษตรชาวสวนลำไยอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ติดตามความก้าวหน้าโครงการนำร่องส่งเสริมการผลิตลำไยคุณภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ปี 2568 และรับฟังปัญหาจากสภาอาชีพเกษตรกร เพื่อนำข้อเสนอต่างๆ มาวางแผนบริหารจัดการลำไยในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ กำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกันระหว่างภาครัฐและเกษตรกร
สำหรับการคาดการณ์ผลผลิตลำไย ปี 2568 ในภาคเหนือ 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ตาก น่าน พะเยา แพร่ ลำปาง และลำพูน มีเนื้อที่ยืนต้น (พื้นที่ทั้งหมดของที่ดินที่ใช้ปลูกพืชยืนต้น เช่น ไม้ผล ไม้ยืนต้น) 1,243,784 ไร่ คาดการณ์ว่าผลผลิตจะเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว โดยในปีนี้มีปริมาณผลผลิตลำไย 1,064,242 ตัน มากกว่าปี 2567 ที่มีปริมาณ 947,140 ตัน หรือเพิ่มขึ้น 117,102 ตัน คิดเป็นร้อยละ 12.36 เป็นลำไยในฤดู 740,639 ตัน มากกว่าปี 2567 ที่มีปริมาณ 598,528 ตัน หรือเพิ่มขึ้น 142,111 ตัน คิดเป็นร้อยละ 23.74 เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการติดดอกออกผล และจะเริ่มออกกระจุกตัวในเดือนกรกฎาคม ปริมาณ 225,006.13 ตัน คิดเป็นร้อยละ 30.38 และจะออกกระจุกตัวสูงสุดในเดือนสิงหาคม 2568 ปริมาณ 442,386.42 ตัน คิดเป็นร้อยละ 57.03 ผลผลิตเฉลี่ย ปี 2568 คือ 860 กิโลกรัมต่อไร่ สูงกว่าปี 2567 ที่มีผลผลิตเฉลี่ย 766 กิโลกรัมต่อไร่ เนื่องจากสภาพอากาศหนาวเย็นติดต่อกันเป็นเวลานานเอื้ออำนวยต่อการติดดอกออกผล
นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรกระจายผลไม้ภาคตะวันออกในช่วงปลายฤดู ที่ไม่สามารถส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านจากสถานการณ์การปิดด่านชายแดน โดยดำเนินการไปแล้วประมาณ 10,000 ตัน ผ่านกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ การร่วมมือกับตลาดสด 13 แห่ง ระบายผลผลิตทุเรียน จับมือบริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด ซื้อมังคุด ลำไย สับปะรดภูแล นำไปผลิตอาหารและเครื่องดื่มจำหน่ายบนเครื่องบิน จับมือบริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) ซื้อผลไม้ไปจำหน่ายในห้างแม็คโครและโลตัส จับมือห้างโก โฮเซลล์ ซื้อผลไม้ไปจำหน่าย ร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ดึง 40 บริษัทจดทะเบียนกลุ่ม SET50 รับซื้อผลไม้ไทย (กลุ่มธุรกิจแถวหน้าที่มีสภาพคล่องในการซื้อขายสูงที่สุด) ประสานห้างค้าส่งค้าปลีก ห้างท้องถิ่น ช่วยรับซื้อไปจำหน่าย และดึงหน่วยงานราชการเข้ามาช่วยรับซื้อ ซึ่งทุกภาคส่วนพร้อมที่จะช่วยรับซื้อผลไม้ต่อเนื่องจากทั้งภาคเหนือและภาคใต้ที่ผลผลิตกำลังออกสู่ตลาด
หลังจากนี้อีกไม่กี่สัปดาห์ ผลไม้ภาคตะวันออกจะสิ้นสุดฤดูกาล ในส่วนของภาคเหนือ ผลผลิตลำไย มะม่วง ลิ้นจี่ สับปะรด กำลังจะออกสู่ตลาด รัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์ ได้ทำการประสานไปยังกองทัพ เพื่อขอกำลังพลทหารให้เข้ามาช่วยเก็บผลไม้แล้ว โดยเฉพาะลำไยที่ปีนี้คาดการ์ว่าผลผลิตจะมีมากขึ้น เพื่อช่วยลดต้นทุนให้กับเกษตรกร และช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน รวมทั้งได้ประสานไปยังกรมราชทัณฑ์ เพื่อนำผู้ต้องหาชั้นดีออกมาช่วยเก็บลำไยด้วยแล้ว
ในส่วนของลำไย ได้เตรียมแผนระบายผลผลิตโดยจะผลักดันการส่งออกไปยังตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ อาทิ อินเดีย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตลาดที่เริ่มนิยมบริโภคลำไยไทย และตะวันออกกลาง ที่เป็นตลาดที่มีโอกาสสูง
โดยจะใช้จุดขายการเป็นผลไม้ที่มีรสชาติหวาน เหมาะสำหรับบริโภคของชาวมุสลิมที่ถือศีลอดในเดือนรอมฎอน รวมถึงตลาดจีน ที่จะมุ่งเจาะเมืองและมณฑลใหม่ๆ เพราะยังมีโอกาสอีกมาก
นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะช่วยเร่งระบายผลผลิต โดยประสานหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนให้เข้ามาช่วยรับซื้อ ล่าสุดได้ประสานความร่วมมือไปยังบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ให้เข้ามาช่วยรับซื้อมังคุดภาคตะวันออก ที่ขณะนี้อยู่ในช่วงปลายฤดูกาลและบางส่วนมีปัญหาจากการที่กัมพูชาปิดด่าน ทำให้ระบายผลผลิตไม่ได้ จึงได้เข้าไปช่วยรับซื้อ โดยเบื้องต้นรับซื้อแล้ว 70 ตัน และจะรับซื้อต่อเนื่องเพื่อนำมาจำหน่ายในเซเว่น อีเลฟเว่น จำนวน 8,200 สาขาทั่วประเทศ ราคากิโลกรัมละ 40 บาท รวมทั้งมีแผนที่จะซื้อมังคุดภาคใต้ ลำไยภาคเหนือ และผลไม้ชนิดอื่นๆ เข้าไปจำหน่ายด้วย อีกทั้ง ยังมีแผนสำรองไว้รองรับผลไม้ หากมีปัญหาผลผลิตล้นตลาดหรือผลผลิตออกกระจุกตัว โดยจะร่วมมือกับหอการค้าไทย วางแผนระยะสั้น กลางและยาว เพื่อรับมือผลผลิต โดยจะเชื่อมโยงโรงงานเข้าไปรับซื้อ นำผลผลิตไปแปรรูปและช่วยกันทำตลาด ขอให้พี่น้องเกษตรกรมั่นใจว่า รัฐบาลได้กำหนดแผนเพื่อจะช่วยดูแลผลผลิตผลไม้ภาคเหนือและภาคใต้ที่กำลังออกสู่ตลาด และดูแลเกษตรกรให้ขายผลผลิตได้มากที่สุด
นายกรนิจ โนนจุ้ย รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ประสานห้างค้าส่งค้าปลีกรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรโดยตรง เพื่อดันราคาให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม จึงได้ร่วมมือกับ “โก โฮลเซลล์” (GO WHOLESALE) ศูนย์ค้าส่งวัตถุดิบอาหารในเครือเซ็นทรัล รีเทล โดยได้เข้าร่วมกิจกรรมการเชื่อมโยงผ่านตลาดข้อตกลง ใช้สัญญาข้อตกลงมาตรฐานของกรมการค้าภายใน รวมแล้วกว่า 125 ตัน มูลค่า 5 ล้านบาท (ต.ค. 67 – พ.ค. 68) ประกอบด้วยผลไม้หลายชนิด ได้แก่ มังคุด สับปะรด ลองกอง เงาะ สละ ลำไย ลิ้นจี่และกระท้อน
นอกจากนี้ โก โฮลเซลล์ยังได้จัดทำโครงการ “GO Food ส่งสุขให้ทุกรอยยิ้ม” โดยมีเป้าหมายในการกระจายผลไม้คุณภาพจากสวนเกษตรกรไทยสู่ผู้บริโภค พร้อมร่วมทำบุญมอบทุนอาหารกลางวันให้โรงเรียน
ในพื้นที่ที่มีสาขาของโก โฮลเซลล์ตั้งอยู่ทั่วประเทศ
ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงพาณิชย์ในการบริหารจัดการผลไม้ ภายใต้ “Thai Fruits Festival 2025” เพื่อกระตุ้นการบริโภค โดยมีผลไม้ราคาพิเศษ อาทิ มังคุด ซื้อ 4 กิโลกรัมขึ้นไป ราคากิโลกรัมละ 25 บาท หรือ 4 กิโลกรัม 100 บาท วางจำหน่ายทั้ง 13 สาขา ปริมาณกว่า 100 ตัน เงาะโรงเรียน ซื้อ 3 กิโลกรัมขึ้นไป ราคากิโลกรัมละ 45 บาท หรือ 3 กิโลกรัม 135 บาท แก้วมังกร ซื้อ 4 กิโลกรัมขึ้นไป ราคากิโลกรัมละ 25 บาท หรือ 4 กิโลกรัม 100 บาท และลำไย ราคากิโลกรัมละ 69 บาท พร้อมจัดกิจกรรม “GO Food ส่งสุขให้ทุกรอยยิ้ม” สร้างแรงจูงใจในการบริโภคผลไม้ และปลูกฝังการแบ่งปันให้กับสังคม โดยทุก 1 กิโลกรัม หรือ 1 หน่วยผลไม้ที่จำหน่ายได้ เท่ากับการบริจาค 1 บาท เข้าสู่ทุนอาหารกลางวันสำหรับเด็กนักเรียน
โครงการ “GO Food ส่งสุขให้ทุกรอยยิ้ม” สามารถเลือกซื้อผลไม้ 6 ชนิดที่เข้าร่วมกิจกรรม ได้แก่ แตงโม (พันธุ์กินรี ตอปิโด ซอนญ่า) เมลอนเนื้อเขียว เมลอนเนื้อส้ม แคนตาลูปซันเลดี้ มะละกอฮอลแลนด์ สับปะรดศรีราชา และกล้วยหลากหลายสายพันธุ์ (กล้วยหอม กล้วยคาเวนดิช กล้วยไข่ และกล้วยน้ำว้า)
โดยเริ่มตั้งแต่บัดนี้ถึง 31 ตุลาคม 2568 และจะมีการรวบรวมยอดบริจาคส่งมอบให้โรงเรียนในพื้นที่ในช่วงสิ้นสุดโครงการ
กรมการค้าภายใน ขอเชิญชวนประชาชนร่วมอุดหนุนผลไม้จากเกษตรกรไทย นอกจากจะได้บริโภคของดีจากสวนไทยแล้ว ยังได้ร่วมสร้างรอยยิ้มให้กับเด็กๆ และแบ่งเบาภาระของเกษตรกรในช่วงที่ผลผลิต
ล้นตลาด เป็นอีกหนึ่งรูปธรรมของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามนโยบายของรัฐบาล