“จิราพร” หารือเลขาธิการ UNCTAD ลงนาม MOU สคบ. – UNCTAD ยกระดับคุ้มครองผู้บริโภคไทย

นางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และนางสาวอุศณา พีรานนท์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา พบหารือกับนาง Rebeca Grynspan เลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (United Nations Conference on Trade and Development: UNCTAD) ในห้วง ‘การประชุมสหประชาชาติ ครั้งที่ 9 ว่าด้วยการแข่งขันทางการค้าและการคุ้มครองผู้บริโภค’ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7–11 กรกฎาคม 2568 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส

ในโอกาสนี้ นางสาวจิราพร ยังเป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ของไทย และ UNCTAD ว่าด้วยความร่วมมือทางเทคนิคเพื่อพัฒนากระบวนการคุ้มครองผู้บริโภคร่วมกัน ซึ่งเน้นการสร้างความร่วมมือด้านเทคนิคในการคุ้มครองผู้บริโภค​ โดย UNCTAD ​จะให้การสนับสนุนเทคโนโลยีที่จะใช้พัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคของ สคบ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง​ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการระงับข้อพิพาท​และมาตรการความปลอดภัยของสินค้า​ รวมถึงสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญ​เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่กลุ่มเป้าหมายของ สคบ. ตามแผนปฏิบัติงาน​รายปีที่ตกลงกันไว้​อีกด้วย

ทั้งนี้ UNCTAD เป็นองค์กรภายใต้สหประชาชาติที่จัดตั้งขึ้นในปี 2507 โดยไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกก่อตั้ง ทำหน้าที่ส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาระหว่างประเทศ รวมทั้งเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างประเทศในประเด็นด้านการค้า การเงิน การลงทุน และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา ปัจจุบันมีสมาชิก 195 ประเทศ โดยมีหน่วยงานที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญสูงในเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค ภายใต้กรอบแนวปฏิบัติว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคของสหประชาชาติ จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะได้แลกเปลี่ยนข้อมูลและองค์ความรู้ เพื่อยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคของไทยกับหน่วยงานระดับโลก

นางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เข้าร่วม การประชุม The Ninth United Nations Conference to Review All Aspects of the Set of Multilaterally Agreed Equitable Principles and Rules for the Control of Restrictive Business Practices (ระดับรัฐมนตรีและหัวหน้าส่วนราชการ) จัดโดยคณะการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา

โดยที่ประชุมจะมีการรายงานผลประเมินการปฏิบัติงานตามแนวทางของสหประชาชาติว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค (the United Nations Guidelines for Consumer Protection) และกฎบัตรสหประชาชาติว่าด้วยการแข่งขัน ดำเนินการหารือนโยบายด้านการคุ้มครองผู้บริโภคทั้งในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ รวมทั้งจะร่วมกันพิจารณาประเด็นใหม่ที่เกิดขึ้นในสถานการณ์โลก ได้แก่ การคุ้มครองและส่งเสริมผู้บริโภคในบริบทของปัญญาประดิษฐ์ (AI) เศรษฐกิจหมุนเวียน มาตรการด้านความปลอดภัยของสินค้าโลก การแข่งขันในห่วงโซ่มูลค่าด้านอาหารระดับโลก และการรายงานผลการประเมินและทบทวนกฎหมายและนโยบายคุ้มครองผู้บริโภคภาคสมัครใจของประเทศแองโกลา

การประชุมสหประชาชาติ ครั้งที่ 9 เพื่อทบทวนทุกประเด็นของชุดหลักการและกฎเกณฑ์ที่เป็นธรรมที่ตกลงกันโดยพหุภาคี สำหรับการควบคุมแนวทางปฏิบัติทางธุรกิจที่จำกัด เนื่องจากเป็นการประชุมระดับสูงสุดด้านการแข่งขันและการคุ้มครองผู้บริโภคในระดับพหุภาคี การประชุมนี้จะมีรัฐมนตรี หัวหน้าหน่วยงานด้านการแข่งขันและการคุ้มครองผู้บริโภค และเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากประเทศสมาชิกเข้าร่วม ตามมติสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ 79/195 การประชุมจะเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมหารือเกี่ยวกับประเด็นการแข่งขันและการคุ้มครองผู้บริโภคในระดับชาติ ระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ นับเป็นโอกาสที่ชุมชนโลกจะส่งเสริมสวัสดิการของผู้บริโภคต่อไปผ่านตลาดที่เปิดกว้าง ยุติธรรม มีพลวัตและครอบคลุม โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

กฎหมายและนโยบายด้านการแข่งขันและคุ้มครองผู้บริโภคเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างหลักประกันว่าตลาดจะเปิดกว้าง มีพลวัต ยุติธรรม และปลอดภัย ซึ่งเป็นแรงกระตุ้นหลักของการเติบโตทางเศรษฐกิจ
การลดความยากจนและการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

การประชุมครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อมีส่วนสนับสนุนการปฏิรูปกฎหมายและนโยบายที่สำคัญและการบังคับใช้กฎหมายที่เพิ่มขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา โดยผลลัพธ์ของการประชุมดังกล่าว จะให้คำแนะนำแก่ UNCTAD เกี่ยวกับแผนงานในอนาคตด้านการแข่งขันและการคุ้มครองผู้บริโภค รวมถึงความช่วยเหลือด้านเทคนิคและความพยายามในการสร้างขีดความสามารถสำหรับประเทศกำลังพัฒนาและประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง