นายนวนิตย์ พลเคน อธิบดีกรมหม่อนไหม เปิดเผยว่า กรมหม่อนไหมได้ให้บริการตรวจสอบรับรองมาตรฐานหม่อน โดยเปิดขอบข่ายการให้บริการตรวจสอบรับรองมาตรฐานทั้งมาตรฐานหม่อนอินทรีย์ และ GAP โดยเฉพาะมาตรฐาน GAP สำหรับหม่อน ซึ่งเป็นแนวทางสำคัญที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ปลอดภัยต่อผู้บริโภคและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยระบบการขอรับรองแหล่งผลิต GAP สำหรับหม่อนใบและหม่อนผลได้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อให้เกษตรกรสามารถปรับปรุงกระบวนการผลิต ตั้งแต่การเพาะปลูก การจัดการดูแลรักษา การเก็บเกี่ยว ไปจนถึงการบรรจุและการขนส่ง เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐานสูงสุด เพื่อสนับสนุนการผลิตหม่อนที่มีคุณภาพ ปลอดภัยและได้รับการยอมรับในตลาดระดับสากล
นอกจากนี้ กรมหม่อนไหมได้มีการยกระดับและพัฒนาระบบการให้บริการในรูปแบบดิจิตอลเพื่อให้เกิดความรวดเร็ว ลดระยะเวลารอรับบริการจากภาครัฐ โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ได้มีการจัดทำแปลงต้นแบบแนวทางการจัดการแปลงหม่อนตามมาตรฐานเพื่อเป็นแหล่งความรู้ในการศึกษาดูงาน และให้บริการตรวจสอบรับรองมาตรฐานหม่อนแก่ผู้ขอรับการรับรองตามมาตรฐานสินค้าเกษตร การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับหม่อนเพื่อผลิตใบ (มกษ 3500-2553) และหม่อนเพื่อผลิตผล (มกษ. 1003-2555) และมาตรฐานหม่อนอินทรีย์ ตามมาตรฐานสินค้าเกษตร เกษตรอินทรีย์: การผลิต การแปรรูป การแสดงฉลาก และการจําหน่ายผลิตผลและผลิตภัณฑ์อินทรีย์ (มกษ.9000-2564) ที่ประกาศโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยในระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา มีการให้บริการตรวจสอบรับรองมาตรฐานแหล่งผลิตหม่อนแก่เกษตรกร ทั้งสิ้น 369 แปลง คิดเป็นพื้นที่ กว่า 860 ไร่
สำหรับเกษตรกรที่สนใจ สามารถแจ้งขอการรับรองแหล่งผลิตหม่อน GAP บนระบบการให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จทางอิเล็กทรอนิกส์ (Biz Portal) ผ่านเว็บไซต์ https://service.bizportal.go.th หรือผ่านศูนย์บริการเกษตรพิรุณราช ณ สำนักงานเกษตรอำเภอทั่วประเทศ