“ธีรรัตน์” ย้ำชัดให้สัญชาติกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่ใช่ให้สัญชาติแรงงานต่างด้าวมาแย่งสิทธิคนไทย

นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงการเร่งรัดแก้ไขปัญหาสัญชาติตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 ซึ่งได้มีประกาศกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อเร่งรัด การแก้ไขปัญหาสัญชาติ และการสั่งให้คนที่เกิดในราชอาณาจักรไทยและไม่ได้รับสัญชาติไทย โดยมีบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าวได้สัญชาติไทยเป็นการทั่วไป ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2568 ที่ผ่านมา

การดำเนินการเร่งรัดแก้ไขปัญหาสัญชาติตามมติ ครม. ดังกล่าว ได้มีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน คือ ชนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยมาเป็นเวลานาน และได้รับการจัดทำทะเบียนประวัติและมีข้อมูลในฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรไว้แล้ว อาทิ ภาพถ่ายใบหน้า ลายพิมพ์นิ้วมือ ประมาณ 1.4 แสนราย ได้แก่

1. บุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรโดยมีบิดาหรือมารดาเป็นชนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้รับการสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติกลุ่มต่าง ๆ หรือมีชื่อในทะเบียนบ้าน มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ที่ขึ้นต้นหลักแรกด้วยเลข 6 และเลขหลักที่หกและเจ็ดเป็นเลข 50 ถึงเลข 72 รวมถึงคนที่มีบิดาหรือมารดาเป็นชนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีใบสำคัญถิ่นที่อยู่ มีชื่อในทะเบียนบ้าน มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ที่ขึ้นต้นหลักแรกด้วยเลข 5 หรือเลข 8 ด้วย

2. บุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรโดยมีบิดาหรือมารดาได้รับการสำรวจจัดทำทะเบียนประวัติบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคลตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2548 รวมถึงชาวมอร์แกน โดยคนกลุ่มนี้จะมีชื่อในทะเบียนประวัติ มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ที่ขึ้นต้นหลักแรกด้วยเลข 0 และเลขหลักที่หกและเจ็ดเป็นเลข 89 ซึ่งหมายรวมถึงบิดาหรือมารดาที่ได้รับการจัดทำทะเบียนประวัติด้วย

การดำเนินการในครั้งนี้ ไม่ใช่เป็นการให้สัญชาติไทยกับคนต่างด้าวทั่วไปที่มีสัญชาติอื่น หรือที่เป็นแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงาน หรือผู้หนีภัยการสู้รบที่อาศัยในพื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ ซึ่งคนกลุ่มนี้ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมาย และ
ไม่มีสิทธิยื่นคำขอตามมติคณะรัฐมนตรีนี้ สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นนี้ไม่ใช่การให้สัญชาติกับใครก็ได้แบบแจกฟรีอย่างที่หลายคนเข้าใจผิด แต่เป็นความพยายามของรัฐบาลไทยในการแก้ไขปัญหาที่สะสมมาอย่างยาวนาน และเป็นปัญหาของผู้คนที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยนานนับสิบปี มีลูกมีหลานที่เกิดและเติบโตที่นี่ใช้ชีวิตร่วมกับคนไทยอย่างสงบ มีความผูกพันกับแผ่นดินนี้โดยแท้จริง ดังนั้น การให้สถานะหรือสัญชาติกับบุคคลกลุ่มนี้ จึงไม่ใช่การเปิดประตูให้ใครก็ได้เข้ามาแล้วรับสิทธิในทันที แต่ตรงกันข้ามได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ไว้อย่างชัดเจนและเข้มงวด เช่น ต้องเป็นผู้ที่มีข้อมูลทะเบียนก่อนปี 2542 หรือในรอบปี 2548, 2554 ซึ่งทางกรมการปกครองมีฐานข้อมูลจัดเก็บไว้เป็นระบบ รวมทั้งต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบอย่างรอบคอบในระดับพื้นที่ โดยร่วมมือกันระหว่างฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายทะเบียน และฝ่ายปกครอง และหากให้ข้อมูลเท็จหรือมีการสวมสิทธิจะถูกเพิกถอนสถานะในภายหลัง

ในความเป็นจริงกลุ่มคนเหล่านี้ไม่ได้เป็น “ต่างด้าวหน้าใหม่” แต่พวกเขาคือ ผู้ที่อยู่ในสังคมไทยมานาน หลายครอบครัวอยู่กันมารุ่นต่อรุ่นโดยไม่มีสถานะทางกฎหมายที่แน่นอน ทั้งที่ใช้ชีวิตร่วมกับคนมีสัญชาติไทย ทำงานในไร่นา ร้านอาหาร ก่อสร้าง หรือแม้แต่ร่วมพัฒนาท้องถิ่นกับชุมชนมาช้านาน บางกลุ่มอยู่มาก่อนที่บรรพบุรุษของเราจะอพยพมาที่ประเทศไทยเสียอีก แต่ด้วยถิ่นฐานที่ห่างไกลทำให้ตกสำรวจในการจัดทำทะเบียนราษฎรยาวนานเรื่อยมา ดังนั้น การให้สถานะจึงไม่ใช่การ “แย่งสิทธิคนไทย” แต่เป็นการทำให้ทุกคนที่อาศัยอยู่ร่วมกันมีความชัดเจนในกฎหมาย เพื่อให้รัฐสามารถบริหารจัดการได้อย่างเป็นระบบ ลดช่องโหว่การเอารัดเอาเปรียบ และที่สำคัญคือยกระดับคุณภาพชีวิตของคนที่อาศัยอยู่ในประเทศเดียวกัน ให้เป็นธรรมและมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพราะการมีสถานะที่ชัดเจนยังช่วยลดปัญหาสังคมในระยะยาว เช่น การไม่สามารถเข้าถึงการศึกษา การสาธารณสุข หรือแม้แต่การจดทะเบียนแรงงานอย่างถูกต้อง ซึ่งในทางกลับกันจะช่วยรัฐในการเก็บภาษี สร้างรายได้ และลดความเปราะบางในระบบความมั่นคงของประเทศ และสุดท้ายกลุ่มคนเหล่านี้ จำนวนมากมีลูกหลานที่เกิดในไทย ได้รับการศึกษาแบบไทย พูดไทย คิดแบบไทย และมีหัวใจรักแผ่นดินนี้ พวกเขาไม่ได้มาเพื่อแย่งแต่พร้อมจะร่วมสร้าง และบางคนอาจกลายเป็นทรัพยากรบุคคลที่จะเข้ามาร่วมเป็นกำลังในการพัฒนาชาติไทยยิ่งกว่าที่เราคาดคิดอีกด้วย ประเทศไทยไม่เคยลืมคนไทย และในขณะเดียวกันประเทศไทยก็ไม่ทิ้งคนที่อยู่ร่วมแผ่นดินนี้อย่างสงบสุขมานานหลายสิบปีเช่นกัน

นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลย้ำการเร่งรัดแก้ไขปัญหาสัญชาติตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 ซึ่งได้มีประกาศกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อเร่งรัดการแก้ไขปัญหาสัญชาติ และการสั่งให้คนที่เกิดในราชอาณาจักรไทยและไม่ได้รับสัญชาติไทย โดยมีบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าวได้สัญชาติไทยเป็นการทั่วไป ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2568 ที่ผ่านมา

รัฐบาลขอยืนยันว่า การดำเนินการตามมติ ครม. วันที่ 29 ตุลาคม 2567 ไม่ใช่การให้สัญชาติแก่แรงงานต่างด้าว ผู้มีสัญชาติอื่น หรือผู้หนีภัยจากการสู้รบที่อาศัยอยู่ในพื้นที่พักพิงชั่วคราวแต่อย่างใด แต่เป็นการแก้ไขปัญหาการไร้สถานะทางทะเบียนของบุคคลกลุ่มเป้าหมายประมาณ 1.4 แสนราย ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อย หรือกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีถิ่นพำนักในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน และผ่านการจัดทำทะเบียนประวัติอย่างเป็นระบบแล้ว โดยรัฐบาลได้กำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน เข้มงวด และตรวจสอบได้ เพื่อให้การบริหารจัดการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ลดช่องโหว่ในการแสวงหาประโยชน์ และที่สำคัญคือยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ที่มีสิทธิอย่างแท้จริงบนหลักของความเป็นธรรมและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

สำหรับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 ที่เห็นชอบหลักเกณฑ์เร่งรัดการแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคล ให้แก่บุคคลที่อพยพเข้ามาอยู่ในไทยเป็นเวลานานและบุตรที่เกิดในไทย ตามที่สำนักงาน
สภาความมั่นคงแห่งชาติเสนอ โดยเป็นการร่นระยะเวลาการดำเนินงานจากมากกว่า 100 วัน เหลือเพียง 5 วัน ซึ่งกลุ่มเป้าหมายคือชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์ 19 กลุ่ม ที่อยู่อาศัยในไทยมานานรอการพิจารณา
กำหนดสถานะอยู่จำนวน 483,626 คน

หลักเกณฑ์ :

– บุคคลที่ได้รับการสำรวจจัดทำทะเบียนประวัติไว้ในอดีต จนถึงปี พ.ศ.2542 (เลขประจำตัวประเภท 6) และที่สำรวจเพิ่มระหว่างปี 2548 – 2554 (เลขประจำตัวประเภท 0 กลุ่ม 89)

– บุคคลที่อพยพเข้ามาอยู่ภายในปี พ.ศ.2542 เด็กและบุคคลที่กำลังเรียนหรือจบการศึกษาแล้ว คนไร้รากเหง้า และคนที่ทำคุณประโยชน์แก่ประเทศซึ่งเข้ามาอยู่อาศัยภายในวันที่ 18 มกราคม 2548 แต่ตกหล่นจากการสำรวจ (เลขประจำตัวประเภท 0 กลุ่ม 00)

– บุตรของชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์ 19 กลุ่ม มีหลักฐานการเกิดในไทยแต่ยังไม่ได้รับสัญชาติ พูดและเข้าใจภาษาไทยกลาง หรือภาษาถิ่นที่ใช้แพร่หลายในพื้นที่ภูมิลำเนา

คุณสมบัติ

– มีชื่อในทะเบียนบ้าน หรือทะเบียนประวัติ และมีเลขประจำตัว 13 หลัก

– มีภูมิลำเนาและอาศัยอยู่ในไทยติดต่อกันต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 15 ปี

– ให้ผู้ยื่นคำขอยืนยันและรับรองคุณสมบัติของตนเอง คือจงรักภักดีต่อประเทศไทยและเลื่อมใส การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีความประพฤติดี ไม่สามารถกลับประเทศต้นทาง และไม่มีจุดเกาะเกี่ยวใดๆ กับประเทศต้นทาง และไม่ปรากฎหลักฐานการมีสัญชาติอื่น

สำหรับการร่นระยะเวลาดำเนินงานในการให้สถานะแก่คนต่างชาติ ประกอบด้วย

  1. การขอใบสำคัญถิ่นที่อยู่ของชนกลุ่มน้อย : ลดเวลาดำเนินการ จาก 270 วัน เหลือ 5 วัน
  2. การขอมีสัญชาติไทยของบุตรบุคคลต่างชาติ : ลดเวลาดำเนินการ จาก 180 วัน เหลือ 5 วัน

หากพบภายหลังว่า ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะไม่เป็นไปตามกำหนด เพิกถอนการอนุญาตได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง