นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะประธานกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ลงพื้นที่เป็นประธานการประชุมเปิดศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ครั้งที่ 1/2568 พร้อมด้วย ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ สทนช. โดยมี นายสมภพ สมิตะสิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย ผู้แทนจังหวัดสกลนคร มุกดาหาร นครพนม บึงกาฬ เลย อุดรธานี และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ณ ศาลากลางจังหวัดหนองคาย
นายประเสริฐ เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ขณะนี้ประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูฝนมาระยะหนึ่งแล้ว และในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีฝนตกสะสมในพื้นที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เริ่มกระทบหลายพื้นที่ของไทยและได้รับรายงานว่ามีโอกาสที่ระดับน้ำจะล้นตลิ่งในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญและมีความห่วงใยอย่างยิ่งต่อประชาชนริมแม่น้ำโขงที่อาจได้รับผลกระทบ จึงได้เร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ และร่วมกำกับการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งจะใช้เป็นกลไกสำคัญในการประสานงานและบูรณาการการทำงานของทุกหน่วยงานในการเตรียมความพร้อมรับมือและช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที รวมถึงใช้เป็นที่ร่วมประชุมวางแนวทางการบรรเทาและควบคุมสถานการณ์ให้การปฏิบัติเกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด โดยมีเป้าหมายป้องกันและลดผลกระทบจากน้ำท่วมต่อประชาชนให้มากที่สุด
การประชุมครั้งนี้เป็นการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2568 ในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งพบว่าแต่ละจังหวัดมีการเตรียมความพร้อมไว้อย่างเข้มแข็ง ได้แก่ การจัดทำข้อมูลคาดการณ์ ชี้เป้าและแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม การวางแผนปรับเกณฑ์บริหารจัดการน้ำและอ่างเก็บน้ำตามสถานการณ์ การเตรียมความพร้อมอาคารชลศาสตร์ โทรมาตร เครื่องจักรเครื่องมือต่างๆ การตรวจสอบความแข็งแรงปลอดภัยของคันกั้นน้ำ ทำนบ พนังกั้นน้ำและเขื่อน รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพทางระบายน้ำ เพื่อให้การดำเนินการเกิดประสิทธิภาพสูงสุด จึงได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการข้อมูลผ่านศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าฯ ให้เฝ้าระวังและเผยแพร่สถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่องและทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางข้อมูลในการประสานงานร่วมกับ สปป.ลาว โดยมอบหมาย ดังนี้
1. ให้ สทนช. กรมทรัพยากรน้ำ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งจัดทำแผนที่ภูมิประเทศความละเอียดสูงเพื่อนำไปประเมินพื้นที่เสี่ยงน้ำล้นตลิ่ง และใช้วางแผนเตรียมความพร้อมเชิงรุก
2. ให้จังหวัด กรมชลประทาน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เร่งกำจัดและแก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ
3. การเตือนภัย ให้จังหวัด กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และกรมประชาสัมพันธ์ ใช้ระบบแจ้งเตือนภัย เช่น Cell Broadcast (CB) หรือระบบส่งข้อความเตือนภัยฉุกเฉิน ควบคู่กับช่องทางอื่นๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและทันสถานการณ์
4. ให้จังหวัด ร่วมกับ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เตรียมความพร้อมเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างทันท่วงที โดยให้เตรียมพร้อมด้านทรัพยากร เช่น เรือท้องแบน เครื่องสูบน้ำ และชุดปฐมพยาบาล รวมถึงกำหนดจุดศูนย์พักพิงชั่วคราวในกรณีต้องมีการอพยพประชาชนด้วย
ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในความตั้งใจของรัฐบาล ที่จะทำงานอย่างจริงจังและบูรณาการร่วมกัน เพื่อให้การรับมือกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงและผลกระทบต่อประชาชนให้ได้มากที่สุด
หลังจากนั้น รองนายกรัฐมนตรีและคณะได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยบริเวณพระธาตุหล้าหนอง อำเภอเมืองจังหวัดหนองคาย ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญริมแม่น้ำโขงและมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดน้ำท่วมในช่วงฤดูฝนที่กำลังจะมาถึง นายประเสริฐ ได้ยืนยันกับประชาชนที่มาร่วมรับฟังแนวทางรับมืออุทกภัยครั้งนี้ ว่า การดำเนินงานปีนี้จะเป็นการตั้งรับ ไม่รอให้เกิดน้ำท่วมก่อนแล้วค่อยแก้ปัญหา เราจะต้องทำเพื่อสร้างความอบอุ่นใจให้กับประชาชน ซึ่งเรื่องที่จะทำเร่งด่วน คือ การวางแนวกระสอบทรายในจุดเสี่ยงรวม 9 จุด ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาวเตรียมทำแผนในการแก้ปัญหาพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก จากนั้นลงพื้นที่ชุมชนจอมมณี อำเภอเมืองหนองคาย เพื่อพบปะประชาชนและรับทราบสภาพความเป็นอยู่และการเตรียมความพร้อมรับมืออุทกภัยในพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมาชุมชนจอมมณีประสบปัญหาน้ำท่วม จากระดับน้ำแม่น้ำโขงที่เพิ่มสูงจนล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ในหลายซอย ได้แก่ ซอย 4, 5, 6 และ 7 โดยน้ำท่วมบ้านเรือนและถนนในชุมชนสูงประมาณ 60 เซนติเมตร ชาวบ้านต้องเร่งขนย้ายของขึ้นที่สูงเพื่อป้องกันความเสียหาย มีหลายครอบครัวที่มีผู้ป่วยและผู้สูงอายุต้องเผชิญกับสถานการณ์น้ำท่วม ทั้งนี้ ผู้นำชุมชนนำเสนอว่า ต้องการท่อระบายน้ำออก เพื่อความปลอดภัยและบรรเทาความเดือดร้อน นายประเสริฐ รับทราบปัญหาและได้มอบหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการ และลงพื้นที่บริเวณจุดประปาเทศบาลเมืองท่าบ่อ อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ที่ประสบปัญหาด้านน้ำอุปโภคบริโภค โดยมีผู้บริหารหน่วยงานในพื้นที่รายงานสภาพปัญหาและแผนการดำเนินการ และพบปะเยี่ยมเยียนประชาชนเพื่อรับทราบสภาพความเป็นอยู่และการเตรียมความพร้อมรับมืออุทกภัยในพื้นที่
ด้าน ดร.สุรสีห์ เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำพื้นที่ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือในภาพรวมพบว่า สถานการณ์อ่างเก็บน้ำทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก จำนวนรวม 10,634 แห่ง ปริมาตรน้ำปีนี้มากกว่าปี 2567 โดยมีปริมาตรน้ำรวมกัน 1,170.43 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 62% ของความจุเก็บกัก จากการคาดการณ์ปริมาณฝน ONE MAP โดยกรมอุตุนิยมวิทยา ร่วมกับ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบว่า ช่วงเดือนกรกฎาคม – กันยายน 2568 มีแนวโน้มปริมาณฝนตกสะสมจำนวนมาก ประกอบกับสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission Secretariat: MRCS) ได้คาดการณ์และประเมินสถานการณ์ว่า ในช่วงเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2568 ระดับน้ำในแม่น้ำโขงจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องและล้นตลิ่งทั้งในพื้นที่ประเทศไทย (บริเวณจังหวัดหนองคาย บึงกาฬ นครพนม และมุกดาหาร) พื้นที่ สปป.ลาว รวมถึงบางพื้นที่ของประเทศกัมพูชา ในด้านความร่วมมือระหว่างประเทศนั้น สทนช. ได้เข้าร่วมการประชุมคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อประสานงานด้านอุทกภัยและโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ (Ad Hoc Task Team for Joint Flood and Hydropower Coordination) ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2568 ร่วมกับ MRCS และ สปป.ลาว โดยได้กำหนดการดำเนินงานความร่วมมือระหว่างประเทศไทย และ สปป.ลาว ในการแบ่งปันข้อมูลการบริหารจัดการเขื่อน โดยเฉพาะแผนระบายน้ำจากเขื่อนต่างๆ เพื่อจำลองแนวทางเร่งพร่องน้ำและชะลอเก็บกักน้ำเพื่อลดผลกระทบจากน้ำท่วมพื้นที่ริมแม่น้ำโขงในเขตประเทศไทยและ สปป.ลาว ในช่วงฤดูน้ำหลาก และได้เห็นชอบแนวทางความร่วมมือต่างๆ ที่จะดำเนินการต่อไป ได้แก่ การจัดประชุมระดับประเทศเพื่อพัฒนาฐานข้อมูลร่วมด้านอุทกวิทยาและเขื่อน การเสริมสร้างศักยภาพด้านการวิเคราะห์ความเสี่ยงอุทกภัย และการจัดทำร่างแผนความร่วมมือบริหารจัดการการระบายน้ำจากเขื่อน โดยใช้ข้อมูลฝนคาดการณ์ ร่วมกับการแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบ real-time เป็นต้น
การจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือครั้งนี้ เพื่อบูรณาการข้อมูลสถานการณ์น้ำให้ครอบคลุมทั้งในระดับพื้นที่ ระดับประเทศ และระหว่างประเทศ โดยภายในประเทศ สทนช. จะทำหน้าที่ประสานและอำนวยการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมแก้ไขสถานการณ์น้ำหลากและอุทกภัยให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ขณะเดียวกัน ในด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ ได้ดำเนินการผ่านกลไกของ สำนักเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCS) และ สปป.ลาว เพื่อให้ศูนย์บริหารจัดการน้ำฯ มีข้อมูลที่เพียงพอสำหรับการตัดสินใจ ตลอดจนการเผยแพร่ข้อมูลให้ทุกภาคส่วนได้รับทราบอย่างต่อเนื่องนำไปสู่การบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพและลดความเสียหายจากอุทกภัยให้ได้มากที่สุด