“พิชัย” เพิ่มข้อเสนอเจรจาภาษีสหรัฐฯ เปิดตลาด 0% บางรายการ เตรียม Soft Loan 2 แสนล้านช่วยธุรกิจไทย

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงานเสวนาโต๊ะกลม “The Art of (Re) Deal” ว่าในเรื่องของการเจรจาภาษีกับสหรัฐฯ นั้น ใช้เวลาในการเจรจามากว่า 100 วันแล้ว และจะครบกำหนดอีกครั้งในวันที่ 1 สิงหาคม 2568 นี้ ที่ผ่านมายังมีความไม่ชัดเจนและไม่มีความแน่นอน และยังไม่มีใครคาดเดาได้ว่าบทสรุปจะเป็นอย่างไร สิ่งที่เห็นได้ในช่วงที่ผ่านมาคือ ความพยายามของสหรัฐฯ ในการลดการขาดดุลการค้าโดยต้องการเพิ่มการเปิดตลาดเพื่อให้สินค้าสหรัฐฯ เข้าสู่ตลาดต่าง ๆ มากขึ้น (Market Access) ที่ต้องมีการตกลงกันในเรื่องของการเปิดตลาด และต้องมีการคุยเรื่องมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (NTB) ทุกขั้นตอน โดยในการหารือในครั้งนี้ยอมรับว่าสหรัฐฯ ใช้การเจรจาที่เป็นข้อเสนอฝ่ายเดียว ที่ไม่เหมือนกับการเจรจาข้อตกลงเสรีทางการค้า (FTA) และสหรัฐฯ เสนอว่าจะต้องการสิ่งต่างๆ ซึ่งไม่เหมือนกับการเจรจา
ที่ผ่านมาที่เป็นการเจรจาที่ฟังข้อเสนอของทั้งสองฝ่าย

ทั้งนี้เราต้องรักษาผลประโยชน์ร่วมกัน รักษาสมดุลและผลประโยชน์ร่วมกันอย่างยั่งยืน ซึ่งแม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ยากมาก แต่จะต้องทำให้ได้โดยยึดประโยชน์ร่วมกัน หากเราตกลงไม่ได้จะเจอกำแพงภาษีอย่างแน่นอน และมีข้อเสนออื่นๆ ที่ไม่ใช่ภาษี และไม่ใช่ NTB ธรรมดา แต่มีข้อเสนอจากสหรัฐฯ เข้ามา ไทยต้องถามตัวเองว่าเรามีศักยภาพแค่ไหน เพราะขณะนี้เราพึ่งพาการส่งออกมากและเราส่งออกไปสหรัฐฯ ถึง 18% เราต้องเจรจาในเรื่องของหลักการ สถานการณ์ คือ ต้องเจรจาเพื่อหลีกเลี่ยงกำแพงภาษี และต้องดูเงื่อนไขว่าอะไรจะกระทบกับประเทศที่ 3 และประเทศคู่ค้าอื่น ๆ เรื่องของภูมิรัฐศาสตร์ ต้องดูว่ามีการเจรจาที่ไม่เป็นการชักศึกเข้าบ้าน

การเจรจาภาษีกับสหรัฐฯ อยู่บนหลักการที่ทีมเจรจายึดอยู่ ดังนี้

1. ไทยต้องเปิดตลาดให้กว้างขึ้นในสินค้าที่สหรัฐฯ อยากขาย และไทยอยากซื้อ แต่ไทยต้องดูเรื่องของการเปิดตลาดที่ไม่กระทบกับการทำ FTA ของประเทศต่างๆ ที่ทำกับไทย โดยการเสนอให้สหรัฐฯ นำสินค้าเข้ามาในระดับ 0% ที่ไทยผลิตไม่ได้ และต้องนำเข้า หรือของที่ผลิตในไทยแล้วไม่เพียงพอ ซึ่งการป้องกันภาคการผลิตของไทย โดยเฉพาะในภาคเกษตรนั้นยังมีอยู่ สำหรับข้อเสนอใหม่ที่ไทยเราส่งไปให้พิจารณา เราเปิดตลาดให้สหรัฐฯ แล้ว 63-64% และเพิ่มเป็น 69% เรามีการเปิดตลาดสินค้าบางอย่างที่เราไม่เคยเปิดจะต้องเปิดมากขึ้น เช่น ลำไย ปลานิล ตามที่สหรัฐฯ ขอไว้ ส่วนตลาดยานยนต์นั้น เดิมไทยผลิตเป็นจำนวนมากก็จะไม่ได้เปิดให้นำเข้า แต่หากเราเปิดให้คิดว่าไม่สามารถทำได้ง่าย เช่น รถพวงมาลัยซ้าย ซึ่งสหรัฐฯ มีตลาดส่งออกอื่นทั่วโลก คงไม่ได้เข้ามาขายที่เรามาก

2. ส่งเสริมการลงทุนของธุรกิจไทยในสหรัฐฯ มากขึ้น เพราะสหรัฐฯ ต้องการส่งออกมากขึ้นและทำฐานผลิตในประเทศสหรัฐฯ ให้มีความแข็งแรงมากขึ้น เช่น การลงทุนเรื่องเกษตรแปรรูป เรื่องของสินค้าที่เราต้องซื้อจากสหรัฐฯ โดยไทยเราดูในเรื่องของพลังงานมากขึ้น ปัจจุบันสหรัฐฯ มีปริมาณสำรองเรื่องของพลังงานค่อนข้างมากทำให้ราคาพลังงานมีราคาต่ำ เช่น ก๊าซธรรมชาติขายในราคา 2-3 ดอลลาร์ต่อล้าน BTU ถูกกว่า
ราคาตลาดที่ 10-11 ดอลลาร์

3. การให้ความสำคัญกับการป้องกันการสวมสิทธิสินค้า โดยข้อเสนอของสหรัฐฯ นั้นจะให้มีการเพิ่มการใช้วัตถุดิบหรือส่วนประกอบที่มีการผลิตในประเทศไทย (Local content) เป็นโจทย์ที่เราต้องดูว่าสหรัฐฯ จะกำหนดในสัดส่วนเท่าไร โดยอาจจะเพิ่มจาก 40% ในปัจจุบันเป็น 60-70% ที่เป็นต้นทุนที่จะใช้ Local content จากประเทศไทยและประเทศต่างๆ ที่สหรัฐกำหนดมากขึ้น เพื่อป้องกันการสวมสิทธิ ซึ่งตัวอย่างที่เห็นคือสินค้าจากเวียดนาม ที่ใช้Local Content (วัตถุดิบในประเทศ) น้อยมาก ซึ่งหมายความว่าเป็นสินค้าที่มีการสวมสิทธิมาก จึงเจอภาษีของสินค้าที่ผ่านมาทางสูงถึง 40% ในขณะที่ไทยมีการพึ่งพาตัวเองมากขึ้นในการผลิต และทำให้ซัพพลายเชนที่เป็น Local Content สูงขึ้น ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยเข้าไปเรียนรู้การผลิต เป็นโอกาสในการพัฒนาการผลิตในประเทศด้วย อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอที่เสนอไปแล้วจะมีผลผูกพันระยะยาว
และจะต้องเสนอเรื่อง Win Win แม้ว่าผู้ที่เราเสนอจะอยาก Win อย่างเดียวแต่เราต้องดูในระยะยาวที่ผูกพันเราไปในอนาคตด้วย

สำหรับการเยียวยาผู้ประกอบการที่ต้องเจาะไปถึง SMEs และภาคเกษตร จะให้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐเตรียม Soft Loan ไว้ประมาณ 2 แสนล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ย 0.01% เพื่อช่วยเหลือทั้งการลงทุน ช่วยการจ้างงาน การบริหารสินค้าคงคลัง และมาตรการอื่น ๆ ของสถาบันการเงิน มาตรการเยียวยาต่าง ๆ มีการเตรียมการมาระยะหนึ่งแล้ว โดยรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยให้จากระดับปกติที่ดอกเบี้ย 2% ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการเพิ่มเติมจากมาตรการที่วางไว้

ด้านนายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กล่าวว่า มาตรการภาษีของสหรัฐฯ ส่งผลกระทบในหลายมิติ ทำให้เกิดการชะลอการตัดสินใจลงทุน นอกเหนือไปจากอัตราภาษี
ตอบโต้ ยังมีภาษีการส่งผ่านสินค้า (Transshipment) และภาษีรายสินค้าตามมาตรา 232 เป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงภายใต้กฎหมาย Trade Expansion Act ซึ่งปัจจุบันมีการประกาศแล้วในอลูมิเนียม ทองแดง รถยนต์ และชิ้นส่วนสำคัญบางชิ้น รวมถึงคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ที่ปัจจุบันได้รับการยกเว้น แต่ในอนาคตไม่แน่นอน อย่างไรก็ดี อัตราภาษีมาตรา 232 นี้เท่ากันทุกประเทศ ทำให้ไม่เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างประเทศ แต่เป็นต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นของภาคธุรกิจ ทำให้บางบริษัทอาจพิจารณาไปลงทุนตั้งฐานผลิตในสหรัฐที่มีอัตราภาษี 0%

อีกทั้งยังมีเรื่องการจำกัดการส่งออกชิป AI ซึ่งไทยอยู่ในรายชื่อประเทศที่ได้รับผลกระทบ แต่ปัจจัยด้านภาษีไม่ใช่ตัวตัดสินเพียงหนึ่งเดียวในการลงทุน นอกจากนี้ ยังมี Global Minimum Tax ที่ประกาศใช้เป็น พ.ร.บ.ภาษีส่วนเพิ่ม เก็บภาษีขั้นต่ำ 15% ซึ่งเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ต้นทุนทางการเงินของบริษัทเพิ่มขึ้น บีโอไอจึงได้เตรียมแก้ไขกฎหมายเพื่อเพิ่ม “เครดิตภาษี” มาช่วยบรรเทาผลกระทบ

ขณะที่นายรัชวิชญ์ ปิยะปราโมทย์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ในส่วนของมาตรการเฝ้าระวังสินค้าสวมสิทธินั้น ทางกรมการค้าต่างประเทศจะเป็นผู้ออกหนังสือรับรองถิ่นกําเนิดสินค้า (Certificate of Origin : C/O) สำหรับสินค้าที่จะส่งออกไปยังสหรัฐฯ เบื้องต้นมีสินค้าที่เฝ้าระวังจำนวน 49 รายการ และขณะนี้กำลังพิจารณาสินค้าเฝ้าระวังเพิ่มเติมอีก

สำหรับการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภาษีสหรัฐฯ กระทรวงพาณิชย์ได้หารือกับทุกภาคส่วนทางเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบ โดยแบ่งออกเป็น 1. การช่วยเหลือด้านการเงินให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำหรือ Soft Loan 2. การหาตลาดใหม่ให้กับผู้ประกอบการโดยมีเป้าหมายใน 5 ตลาดประกอบด้วย ตลาดลาตินอเมริกา ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ แอฟริกาและยุโรป 3. การพัฒนาผลิตภัณฑ์และเพิ่มมูลค่าสินค้า การใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ในการซื้อขาย นอกจากนี้ กระทรวงยังเร่งเจรจา FTA ซึ่งเป็นเครื่องมือในการดึงดูดการลงทุน ซึ่งปัจจุบันการค้าระหว่างไทยกับประเทศคู่ค้า FTA คิดเป็น 60% ของการค้าทั้งหมดของไทย โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนนี้เป็น 80% ภายในปี 2570 ทั้งนี้การเจรจาภาษีสหรัฐฯ ทีมเจรจาทำอย่างเต็มที่ไม่เฉพาะแค่กระทรวงพาณิชย์แต่ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคประชาชนได้ร่วมมือกันโดยมีเป้าหมายให้ได้อัตราภาษีที่ต่ำที่สุด ต้องยอมรับว่าการเจรจาเป็นเรื่องที่ยากต้องใช้เวลาแต่ยืนยันว่าทีมเจรจาจะทำอย่างรอบคอบและดีที่สุด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง