ครม. รับทราบข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนจากปัญหาสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน กรณีการปนเปื้อนมลพิษในแม่น้ำกกและแม่น้ำสายจากประเทศเมียนมา
คณะรัฐมนตรีรับทราบข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน จากปัญหาสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน กรณีการปนเปื้อนมลพิษในแม่น้ำกกและแม่น้ำสายจากประเทศเมียนมา ซึ่งเป็นการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 247 (3) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 มาตรา 26 (3) และมาตรา 42 ตามที่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เสนอ โดยมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานหลักรับเรื่องนี้ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงกลาโหม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข สำนักงบประมาณ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ คณะกรรมการลุ่มน้ำโขงเหนือ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอแนะดังกล่าว และให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) รายงานว่าสถานการณ์การปนเปื้อนมลพิษในแม่น้ำกกและแม่น้ำสายทวีความรุนแรงขึ้น โดยมีสาเหตุหลักจากการทำเหมืองแร่ทองคำและแร่แรร์เอิร์ธของบริษัทเอกชน ที่ไม่ทราบสัญชาติ บริเวณต้นแม่น้ำกกและแม่น้ำสายในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา มีการสกัดแร่ด้วยสารเคมีอันตราย ทำให้มีดินและกากแร่ปนเปื้อนโลหะหนัก (สารหนู แคดเมี่ยม ปรอท) ลงสู่แม่น้ำสายหลักและไหลเข้าสู่ประเทศไทย ส่งผลให้คุณภาพน้ำในแม่น้ำกกและแม่น้ำสาย เสื่อมโทรมลงอย่างมาก และการได้รับสารหนูสะสมในร่างกายอย่างต่อเนื่อง แม้ในปริมาณน้อยจะนำไปสู่ปัญหาร้ายแรงทางสุขภาพ เช่น การเกิดโรคผิวหนัง ความผิดปกติของระบบประสาทส่วนปลาย โรคหลอดเลือดส่วนปลายอุดตัน และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ภาวะความจำเสื่อม ตลอดจนส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางสติปัญญาในเด็กและเพิ่มความเสี่ยงต่อการแท้งบุตรหรือการคลอดก่อนกำหนดในสตรีมีครรภ์ ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนมลพิษในลุ่มน้ำกก (แม่น้ำกก แม่น้ำสายและแม่น้ำรวก) ป้องกันปัญหาขยายตัวสู่ลุ่มน้ำโขง ซึ่งจะส่งผลกระทบในวงกว้าง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จึงมีข้อเสนอแนะเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชน
ผู้ได้รับผลกระทบ ดังนี้
1. มาตรการภายในประเทศ เช่น
1) ให้กรมควบคุมมลพิษ ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ในการเพิ่มความถี่ของการเก็บตัวอย่างน้ำและตะกอนดินในพื้นที่เสี่ยง และให้คำแนะนำในการปฏิบัติตนที่เหมาะสม
2) ให้กระทรวงสาธารณสุข (โดยกรมควบคุมโรค กรมอนามัย และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด) ตรวจสุขภาพและคัดกรองโรคที่อาจเกิดจากโลหะหนัก (โดยเฉพาะสารหนู) ให้แก่ประชากรกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่อย่างเร่งด่วน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
3) ให้การประปาส่วนภูมิภาค องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและกระทรวงมหาดไทยเร่งจัดหาน้ำดื่มสะอาดสำรองสำหรับประชาชนในพื้นที่ที่ประสบภัย
4) ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประเมินผลกระทบเบื้องต้นต่อภาคเกษตรกรรมและการท่องเที่ยว และกำหนดมาตรการช่วยเหลือเยียวยาเฉพาะหน้าแก่ผู้ได้รับผลกระทบ
นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอแนะให้สนับสนุนงบประมาณสำหรับการขจัดสารพิษและฟื้นฟูแหล่งน้ำที่ปนเปื้อน รวมถึงโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำ พื้นที่ชุ่มน้ำ และพืชพรรณริมตลิ่ง เพื่อเสริมสร้างความสมบูรณ์ของระบบนิเวศและให้คณะกรรมการลุ่มน้ำโขงเหนือเป็นหน่วยประสานหลักและเสนอให้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติแต่งตั้งหรือปรับปรุงองค์ประกอบของอนุกรรมการทรัพยากรน้ำระดับจังหวัดเชียงรายและจังหวัดเชียงใหม่
2. มาตรการระหว่างประเทศ เช่น
1) ให้กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการเจรจากับประเทศที่เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษ เพื่อให้ยุติการประกอบกิจการเหมืองแร่ที่เป็นต้นเหตุของมลพิษโดยเร็วที่สุด โดยใช้กลไกความร่วมมือทั้งในทวิภาคีและระดับภูมิภาคที่มีอยู่
2) ให้กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องผลักดันให้ประเทศในภูมิภาคกำหนดแนวทางความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษข้ามพรมแดนผ่านกรอบความร่วมมือต่าง ๆ ที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิผล รวมถึงให้ประเทศในภูมิภาคพัฒนากฎหมายภายใน เพื่อรองรับการจัดการ ป้องกัน และเยียวยาผลกระทบจากปัญหามลพิษข้ามพรมแดน
คณะรัฐมนตรีได้รับทราบข้อเสนอแนะดังกล่าว โดยมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานหลักรับเรื่องนี้ไปพิจารณา ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอแนะดังกล่าว และให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน