รองนายกฯ ภูมิธรรม ลงพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ มอบนโยบายป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด “ย้ำต้องเห็นผลเป็นรูปธรรม”

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานงาน “วันชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.)” ประจำปี 2568 ที่สนามกีฬาจังหวัดศรีสะเกษ อ.เมืองศรีสะเกษ จ.ศรีสะเกษ โดยมีนายเดชอิศม์ ขาวทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ผู้บริหารกรมการปกครอง หัวหน้าส่วนราชการ ภาคีเครือข่าย และ ชรบ. จำนวน 4,000 คน เข้าร่วมงาน พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการความเป็นมาและการขับเคลื่อนงานของชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน และเข้าสู่ปะรำพิธีประจำแท่นเกียรติยศ ชมขบวนเกียรติยศเชิญสัญลักษณ์ประจำหน่วยของชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน

นายภูมิธรรม ได้อ่านสารวันชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน โดยยกย่อง ชรบ. ซึ่งเป็นกำลังสำคัญทำหน้าที่ช่วยเหลือเจ้าพนักงาน ทำหน้าที่รักษากฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่ โดยมีภาระหนัก ทั้งอยู่เวร ตรวจตราลาดตระเวน ป้องกันสาธารณภัยและป้องกันความผิดทางอาญา กระทรวงฯ เห็นความสำคัญ จึงขอยกย่องหัวใจผู้เสียสละ กำหนดให้วันที่ 16 กรกฎาคม ของทุกปีเป็น “วันชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.)” เพื่อเป็นการสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศใช้กฎหมายลักษณะโจรห้าเส้น จุลศักราช 1199 เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2380 ซึ่งได้มีการกำหนดให้ราษฎรช่วยระงับการปล้นสดมภ์บนหลักความรับผิดชอบร่วมกันของชุมชน เนื่องจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายปราบปรามมีกำลังไม่เพียงพอที่จะระงับเหตุ จึงถือเป็นจุดกำเนิดของ ชรบ. อีกทั้งยังเป็นการสดุดีให้กับมวลชนผู้มีจิตอาสา และเสียสละเข้ามาทำหน้าที่ ปัจจุบัน ชรบ. มีจำนวนรวมทั่วประเทศมากกว่า 670,000 คน ปฏิบัติหน้าที่ครอบคลุมทั่วประเทศ อันสะท้อนบทบาทสำคัญในการดูแลด้านความปลอดภัยและความมั่นคงให้กับประชาชนทั่วประเทศ

ขอขอบคุณ ชรบ. ทุกท่าน ที่ได้มุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเสียสละในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ หมู่บ้าน ชุมชน ภารกิจของท่านไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องเผชิญกับสถานการณ์หลากหลายและอาจจะมีความเสี่ยง แต่ทุกท่านก็ยังคงทำหน้าที่ด้วยหัวใจรักษาไว้ซึ่งความสงบสุข ความมั่นคงของชุมชน จึงขอให้คำมั่นว่า กระทรวงมหาดไทยพร้อมที่จะสนับสนุนการทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อพัฒนาศักยภาพ เพิ่มพูนความรู้ เพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือเจ้าพนักงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โอกาสนี้ ยังได้มอบรางวัลหมวดชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านดีเด่น ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังจากนั้น ชรบ. ทั้ง 4,000 นาย ได้กล่าวคำปฏิญาณตนต่อรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอย่างกึกก้อง

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานมอบนโยบายการขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยมีนายอนุพงศ์ สุขสมนิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ พล.ต.ต.พิษณุ วัตถุ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดศรีสะเกษ (ผู้การฯ) นายอำเภอ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง โดยกล่าวว่าปัญหายาเสพติด เป็นปัญหาอันหนักหน่วงและรุนแรงที่สำคัญไม่แพ้เรื่องเศรษฐกิจที่เป็นชีวิตของประชาชน เพราะยาเสพติดเป็นสิ่งที่ทำลายครอบครัว ทำลายสังคม ทำลายความมั่นคงของประเทศ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ให้ทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วม ซึ่งปัญหานี้เป็นเรื่องของประเทศไม่ใช่ว่าทำที่ไหน “แต่ต้องทำทุกที่” และแม้ว่าหน่วยงานภาครัฐจะมีการรายงานผลตัวเลขการจับกุมยาเสพติดที่มีเปอร์เซ็นต์ความสำเร็จเชิงปริมาณมาก แต่ยังเป็นปัญหาที่ประชาชนพูดกันอย่างหนาแน่นมาก ยังเป็น Talk of the Town ที่พูดกันในหมู่บ้าน และเวลาพูดคุยเรื่องนี้เขาพูดทั้งน้ำตา พูดถึงความสูญเสียลูก ความแตกแยกของครอบครัว ปัญหายาเสพติดกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนในพื้นที่ เพราะแม้ตัวเลขสำเร็จที่รายงานมีมากแต่ประชาชนยังไม่ยอมรับ ยังพูดหรือมีความรู้สึกอยู่ถือว่ายังทำงานไม่ประสบความสำเร็จ

นายภูมิธรรม ระบุว่า 3 เดือนแรกตนต้องการเห็นความรู้สึกที่ประชาชนได้รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลง ถ้าประชาชนบอกว่าดีขึ้น เบาลงแล้วหมู่บ้านฉัน ถ้าแบบนี้แปลว่าความสำเร็จเกิด ถ้าบอกจำนวนตัวเลขที่จับได้หลายล้านเม็ดแต่ประชาชนยังไม่สบายใจถือว่าล้มเหลว และหัวใจที่สำคัญ คือเรื่องยาเสพติดที่อยู่ในอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดในฐานะผู้บังคับบัญชาของข้าราชการในจังหวัด การที่จะทำให้หมดไป คือ “มหาดไทย” ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ รวมไปถึงกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และวันนี้ยังมี ชรบ. 600,000 กว่าคนที่เป็นจำนวนที่น่าสนใจมาก เพราะเขามีหน้าที่ในการร่วมปกป้องความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง จึงขอให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยได้หาแนวทางให้ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านร่วมเป็นกำลังสำคัญในการแก้ไขปัญหายาเสพติด แต่ตนฝากความหวังไว้กับผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกคน รวมถึงผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด และผู้กำกับการสถานีตำรวจทุกแห่ง ไม่เฉพาะเพียงแค่จังหวัดชายแดนหรืออำเภอชายแดน เราจะทำทุกพื้นที่ ทั้งในกรุงเทพฯ และใน 76 จังหวัด ดังนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดในจังหวัดต้องรับผิดชอบ และขอให้ทำควบคู่กับการปราบปรามผู้มีอิทธิพลทั้งหมด เรื่องหนี้นอกระบบ แหล่งยาเสพติด สถานบันเทิงที่ผิดกฎหมาย ถ้าเราเข้มงวดจริงๆ เราไม่เชื่อว่าเราจัดการไม่ได้ ที่เราจัดการได้เป็นแค่บางสิ่ง บางอย่าง บางคน บางส่วน ที่เข้าไปหาประโยชน์ และขอให้ทำจริงเพื่อจะเป็นบุญกุศลกับชาวบ้าน เพราะวันนี้ไปทำลายครอบครัว ทำลายชีวิต ทำลายอนาคต ทำลายโอกาสต่าง ๆ ของพี่น้องประชาชนและเยาวชน ไม่ทำไม่ได้ ซึ่งสิ่งสำคัญที่ต้องทำทันที ทำได้เลยคือ ต้อง Re-X-ray ทุกพื้นที่อีกครั้ง ในหมู่บ้านชาวบ้านรู้หมดเจ้าหน้าที่บางส่วนรู้บางคนไม่รู้ ดังนั้นถ้าประชาชนรู้คนอื่นไม่รู้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไม่รู้ถือว่ามีความผิดเพราะถือว่าละเลย ต้องรับผิดชอบ”

นายภูมิธรรม ยังได้มอบนโยบายการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหายาเสพติด 4 มาตรการ ได้แก่

1. มาตรการป้องกัน : ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนในพื้นที่หมู่บ้านและชุมชนให้รู้เท่าทันยาเสพติด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเสี่ยงหรือกลุ่มเปราะบาง ส่งเสริมกลไกชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านให้ติดตาม ระงับเหตุ แจ้งเบาะแส ควบคุม รวมถึงเฝ้าระวังในพื้นที่สถานศึกษาเพื่อลดโอกาสการเข้าถึงยาเสพติดในกลุ่มเด็กและเยาวชน ส่งเสริมให้เครือข่ายกองทุนแม่ของแผ่นดินและภาคประชาชนเข้ามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหายาเสพติด เพราะจุดแตกหักความสำเร็จอยู่ที่หมู่บ้านและชุมชน สิ่งที่ดีมากคือ การสร้างเครือข่ายตาสับปะรด หัวใจสำคัญคือการดึงประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ต้องสร้างกระบวนการตาสับปะรด จากประชาชนร่วมทำหน้าที่กับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เครือข่าย ชรบ.

2. มาตรการป้องปราม : ต้องให้ความสำคัญกับการจัดระเบียบสังคม สถานบันเทิง สถานบริการที่คล้ายกับสถานบริการ พื้นที่เสี่ยงรอบสถานศึกษา และจัดตั้งจุดตรวจ/จุดสกัด เพื่อยับยั้งโอกาสการเกิด
การกระทำความผิด

3. มาตรการปราบปราม : ทุกจังหวัดต้องค้นหาผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด Re X-Ray ทุกพื้นที่ทุกตารางนิ้ว สืบสวนสอบสวนและจับกุมผู้ค้ารายใหญ่ รวมถึงค้ามนุษย์ สแกมเมอร์ พนันออนไลน์ โดยต้องพิจารณาถึงความดีความชอบของผู้ปฏิบัติที่ทำให้เกิดความสำเร็จ

4. มาตรการบำบัดฟื้นฟู : เน้นปฏิบัติตามหลักการ “ผู้เสพคือผู้ป่วยที่ต้องได้รับการรักษา” ด้วยการพึ่งพาและประสานงานกับสาธารณสุขจังหวัด โดยขอให้ดูตัวอย่างการน้อมนำพระดำริของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญาสิริวัฒนาพรรณวดี ที่พระราชทานโครงการทูบีนัมเบอร์วัน ทำให้เยาวชนได้ใช้ผลงานความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างสิ่งที่ดี “ทำได้ถ้าตั้งใจทำจริงๆ จึงขอให้ทุกคนทุ่มเททำให้ได้และต้องทำแบบบูรณาการกับภาคีเครือข่ายในจังหวัด ทั้งหน่วยงานสวัสดิการสังคม ด้านประกอบอาชีพ ด้านการศึกษา สาธารณสุข รวมถึงขอรับการสนับสนุนจากภาคประชาสังคม ภาคเอกชนในพื้นที่

นายภูมิธรรม ย้ำว่า อยากให้ความฝันของเราในเรื่องนี้ที่จะทำให้กับประเทศชาติเกิดเป็นจริงให้ได้ ถ้าเราทำกันอย่างเต็มที่ก็สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ จากนี้ไป เราจะทำอย่างจริงจัง มีการประเมินผลอย่างต่อเนื่อง เข้มข้น เป็นนโยบายเร่งด่วน Quick Win 3 เดือน และวันที่ 17 กรกฎาคม 2568 ตนจะมอบนโยบายให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด และหน่วยงานด้านความมั่นคง เปิดปฏิบัติการกวาดล้างยาเสพติด “No Drugs No Dealers” ผนึกกำลังชุมชนปลอดยาเสพติด ณ ห้องมัฆวานรังสรรค์ สโมสรทหารบก วิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ

จากนั้น นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมคณะ เดินทางตรวจเยี่ยมศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม จังหวัดศรีสะเกษ สาขาอำเภอเมืองศรีสะเกษ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง