พลเอก ณัฐพล นาคพาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมพร้อมคณะ ลงพื้นที่ตรวจราชการในพื้นที่จังหวัดปัตตานี เพื่อติดตามสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ณ ห้องประชุมหน่วยเฉพาะกิจอโณทัย ค่ายอิงคยุทธบริหาร ตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เพื่อติดตามสถานการณ์ความมั่นคง ความคืบหน้าในการปฏิบัติงานของฝ่ายความมั่นคง และขับเคลื่อนกลไกสันติสุขอย่างยั่งยืน โดยมี พลโท ไพศาล หนูสังข์ แม่ทัพภาคที่ 4 ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า พร้อมด้วย ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 ผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้แทนผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา หัวหน้าส่วนราชการด้านความมั่นคงในพื้นที่ และผู้อำนวยการศูนย์สันติวิธี เข้าร่วมหารือย่างพร้อมเพรียง
พลเอก ณัฐพล ยังได้รับฟังสรุปเกี่ยวกับสถานการณ์ความมั่นคง ความคืบหน้าในการปฏิบัติงานของฝ่ายความมั่นคง และขับเคลื่อนกลไกสันติสุขอย่างยั่งยืน รวมถึงการป้องกันการก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ รวมถึงปัญหา อุปสรรคและข้อเสนอแนะจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากนั้น พลเอก ณัฐพล กล่าวว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้ ตั้งใจมารับฟังข้อมูลต่างๆ ครอบคลุมทุกมิติด้วยตนเอง ทั้งด้านความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคมอย่างรอบด้าน เพื่อสามารถจัดเตรียมข้อพิจารณาและข้อเสนอแนะ สำหรับแนวทางบูรณาการหน่วยงานต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกกระทรวงกลาโหม รวมทั้ง พลังสังคมจากทุกภาคส่วน โดยมุ่งเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และให้เกิดความประสานสอดคล้องเกื้อกูลกันในแต่ละมิติ
ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะการสร้างความเข้าใจและความร่วมมือ การมีส่วนร่วมของประชาชน ด้วยกระบวนการที่เรียกว่า การส่งเสริมให้ประชาชนทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมแก้ไขปัญหา สร้างความเข้าใจและสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน การสร้างความเข้มแข็งของชุมชน สนับสนุนการพัฒนาชุมชนเพื่อเป็นภูมิคุ้มกันต่อการถูกชักจูงไปในทางที่ผิด การเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างภาครัฐและประชาชน เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในการแก้ไขปัญหา ทั้งยังมีการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม การสร้างงาน สร้างรายได้ ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของพื้นที่และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน การพัฒนาการศึกษาและสาธารณสุข ส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาและบริการด้านสาธารณสุขที่มีคุณภาพ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเข้มแข็งทางสังคม
อีกสิ่งที่สำคัญคือ การบังคับใช้กฎหมายและการรักษาความสงบเรียบร้อย การปราบปรามผู้กระทำผิด บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดกับผู้กระทำผิดกฎหมาย โดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน การป้องกันการก่อเหตุรุนแรง โดยการเพิ่มความเข้มงวดในการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่และการสืบสวนหาข่าว การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ
นอกจากนี้ การบริหารจัดการแบบบูรณาการ การทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
พลเอก ณัฐพล กล่าวภายหลังจากการประชุมติดตามความมั่นคง ว่า ขณะนี้กำลังเร่งรัดแผนกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ในการส่งมอบพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้กับฝ่ายปกครองภายในปี 2570 โดยเน้นย้ำถึงความพร้อมและความร่วมมือจากทุกภาคส่วน การเดินทางมายังพื้นที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ครั้งนี้ เพื่อติดตามสถานการณ์และแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลมีความห่วงใยประชาชนในพื้นที่อย่างยิ่ง และได้หารือถึงความคืบหน้าของแผนงานการส่งมอบพื้นที่ ซึ่งเหลือเวลาอีกประมาณ 2 ปีเศษ จากการบรรยายสรุป เห็นถึงความมั่นใจในความพร้อมของทุกหน่วยงานในพื้นที่ และคาดการณ์ว่าพื้นที่น่าจะมีความพร้อมในระดับหนึ่ง ภายในปี 2570 อย่างไรก็ตาม จะมีการประเมินอีกครั้ง เมื่อใกล้ถึงกำหนดเพื่อพิจารณาความพร้อมในการส่งมอบพื้นที่ให้กระทรวงมหาดไทย
ส่วนปัจจัยชี้วัดความสำเร็จของความปลอดภัยในพื้นที่คือ พื้นที่ปลอดภัย” หากทั้ง 37 อำเภอใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความปลอดภัยในระดับปกติ หรือสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ นั่นจะถือเป็นความพร้อมในการส่งมอบพื้นที่ ดังนั้น การหารือในครั้งนี้ จึงมุ่งเน้นการเร่งรัดให้หน่วยงานฝ่ายปกครองและส่วนราชการอื่นๆ เตรียมความพร้อมในการดูแลพื้นที่ นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำให้ทุกคนในพื้นที่ร่วมรับผิดชอบในความมั่นคงและความปลอดภัย ตั้งแต่ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านไปจนถึงประชาชนในพื้นที่เอง เพื่อให้เกิดความมั่นคงที่ยั่งยืน
ส่วนบทบาทของฝ่ายความมั่นคงในอนาคต แม้ว่าฝ่ายความมั่นคงโดยเฉพาะทหารจะทยอยส่งมอบพื้นที่ แต่เราจะไม่ทอดทิ้งประชาชน ตราบใดที่ยังไม่มีความปลอดภัยหรือความมั่นใจ โดยจะยังคงดูแลพื้นที่ต่อไป แต่หากประเมินแล้วว่าทั้ง 37 อำเภอในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความปลอดภัยด้วยตัวเองหรือปลอดภัยในขีดความสามารถที่ควบคุมได้ ก็จะส่งมอบพื้นที่ให้กระทรวงมหาดไทยต่อไป ทั้งนี้ จะมีการประเมินสถานการณ์เป็นระยะ โดยตนเองจะมาเยี่ยม กอ.รมน.ภาค 4 สน. อย่างน้อยทุก 2-3 เดือน เพื่อติดตามและประเมินผลอย่างใกล้ชิด
สำหรับจุดแข็งด้านการประสานงานในปัจจุบันคือ ความใกล้ชิดของการประสานงานระหว่างกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทยและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ทำให้การทำงานร่วมกันเป็นไปอย่างราบรื่นยิ่งขึ้น ซึ่งการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ ที่ผ่านมาได้ดำเนินการได้ดีอยู่แล้ว แต่จะมีการเพิ่มมาตรการด้านการข่าว โดยได้หารือกับทางจังหวัด เพื่อให้ฝ่ายปกครองตั้งแต่ระดับอำเภอขึ้นไป มีกลไกการข่าวเป็นของตนเอง ซึ่งจะแตกต่างจากปัจจุบันที่เข้าใจว่าฝ่ายทหารหรือฝ่ายความมั่นคงเป็นผู้รับผิดชอบหลัก ดังนั้น ฝ่ายปกครองจะต้องมีกลไกการข่าวที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ที่สามารถแจ้งเตือนก่อนเกิดเหตุได้ ซึ่งหากสามารถทำได้ในระดับที่สามารถรับรู้เหตุการณ์ล่วงหน้าได้ จะถือว่าฝ่ายปกครองสามารถดูแลพื้นที่ด้วยตัวเองได้
ในส่วนของการพูดคุยเพื่อสันติสุขนั้น เป็นเรื่องที่รัฐบาลกำลังพิจารณาในระดับประเทศ อย่างไรก็ตาม ได้เน้นย้ำกับ กอ.รมน.ภาค 4 สน. ว่า กลไกการพูดคุยมี 2 ระดับ คือ ระดับพื้นที่และระดับประเทศ หากการพูดคุยในระดับพื้นที่ประสบความสำเร็จ อาจไม่จำเป็นต้องใช้กลไกในระดับประเทศเสมอไป แต่จะต้องมีการประเมินอีกครั้ง ทั้งนี้ ได้กำชับให้แม่ทัพภาค 4 ดำเนินการพูดคุยในระดับพื้นที่ให้ได้มากที่สุดต่อไป
จากนั้น พลเอก ณัฐพล พร้อมคณะ เดินทางไปยังวัดตานีนรสโมสร พระอารามหลวง อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี เข้ากราบนมัสการเจ้าอาวาส และพบปะพูดคุย นำความห่วงใยจากรัฐบาลมาสู่พี่น้องชาวไทยพุทธในพื้นที่ และได้เดินทางต่อไปยังสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี พบปะ พูดคุยและหารือแนวทางส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและผู้นำศาสนาอิสลาม โดยพลเอก ณัฐพล ย้ำว่าการพบปะพูดคุยครั้งนี้ เป็นการแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับผู้นำศาสนาในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันและบรรยากาศเป็นไปด้วยความเรียบร้อยราบรื่น