สุขภาพคนไทย ปี 68 พบคนไทย 13.4 ล้านคน เผชิญปัญหาสุขภาพจิต อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จเพิ่มขึ้น

ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดตัว “รายงานสุขภาพคนไทย ปี 2568” นำเสนอสัญญาณเตือนสำคัญของสังคมไทย ผ่าน 10 ตัวชี้วัด เรื่องสุขภาพจิตคนไทย เปิด 10 สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ ปี 2568 พร้อมเรื่องพิเศษประจำฉบับ เรื่อง “เกิดน้อยกู่ไม่กลับ ต้องปรับและรับมืออย่างไร” มุ่งสะท้อนปัญหาอัตราการเกิดที่ลดลงและภาพรวมสุขภาวะคนไทย 

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สสส. จัดทำรายงานสุขภาพคนไทยต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2546 ตามแผนพัฒนาระบบและกลไกสนับสนุนเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อคืนข้อมูลที่สำคัญด้านสุขภาวะต่อสังคมไทยและเปิดพื้นแลกเปลี่ยนเรียนรู้เชิงวิชาการจากสถานการณ์สุขภาพในหลากหลายมิติ ไม่จำกัดเพียงแค่สุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตใจของคนไทย แต่สะท้อนให้เห็นถึงพลวัตของระบบสุขภาพที่มีความสอดคล้องกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และนโยบายของภาครัฐ รายงานสุขภาพคนไทย ปี 2568 มี 4 ส่วนหลักสำคัญ  1.หมวดตัวชี้วัด “สุขภาพจิตคนไทย” นำเสนอข้อมูลสถานการณ์และปัจจัยที่ส่งผลต่อปัญหาสุขภาพจิตในไทย พร้อมนำเสนอตัวชี้วัดเรื่องนโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิต 2.สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ นำประเด็นที่อยู่ในความสนใจของสังคมไทยในรอบปีที่ผ่านมา พร้อมสะท้อนข้อเสนอแนวทางพัฒนานโยบายด้านสุขภาพ 3.เรื่องพิเศษประจำฉบับ เรื่องเกิดน้อยกู่ไม่กลับ ต้องปรับและรับมืออย่างไร นำเสนอปัญหาอัตราการเกิดที่ลดลง 4.ผลงานดีๆ เพื่อสุขภาพคนไทย นำเสนอความสำเร็จทางการแพทย์และสาธารณสุข สสส. มุ่งหวังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำรายงานสุขภาพคนไทย ปี 2568 ไปใช้ประโยชน์ ทั้งการพัฒนากำหนดนโยบาย ติดตามหรือขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพที่สอดคล้องกับสถานการณ์สุขภาพของคนไทย เป็นจุดเริ่มต้นของ ‘การสื่อสารทางสังคม’ ที่นำไปสู่การขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ เพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับประชาชน ผู้สนใจสามารถเข้าไปดาวน์โหลดรายงานฉบับสมบูรณ์ได้ที่เว็บไซต์ www.thaihealthreport.com”

รศ.ดร.เฉลิมพล แจ่มจันทร์ หัวหน้าโครงการจัดทำรายงานสุขภาพคนไทย ปี 2568 กล่าวว่า ตัวชี้วัด ปี 2568 นำเสนอสถิติในประเด็น “สุขภาพจิตคนไทย” ทั้งหมด 10 ตัวชี้วัด ที่สะท้อนสถานการณ์ แนวโน้ม และปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของคนไทยในมิติต่างๆ ทั้งในระดับบุคคล ครัวเรือน ชุมชน และสังคม โดยข้อมูลด้านสุขภาพจิต พบคนไทย 13.4 ล้านคน เคยประสบปัญหาสุขภาพจิตหรือโรคจิตเวช ขณะเดียวกันอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จในไทยยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ในกลุ่มเยาวชนอายุ 15-29 ปี ที่ต้องเผชิญภาวะเครียด วิตกกังวล ซึมเศร้าและมีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายสูง มีสาเหตุมาจากการเรียน สื่อสังคมออนไลน์ (Fear of Missing Out : FOMO) ความรุนแรงในครอบครัวและความคาดหวังจากสังคม ในมิติสุขภาพจิตเชิงบวก พบกลุ่มวัยก่อนสูงอายุ 45–59 ปี มีระดับความสุขต่ำที่สุด สะท้อนถึงความเปราะบางทางอารมณ์ในช่วงเปลี่ยนผ่านของชีวิต ในด้านความรู้ พบคนไทย 1 ใน 3 มีความรอบรู้สุขภาพจิตในระดับสูง แต่ยังมีอคติและความเข้าใจผิด เช่น การมองว่าการฆ่าตัวตายคือ ความอ่อนแอ 

สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ ปี 2568  ที่อยู่ในความสนใจของสังคม มี 10 สถานการณ์ ได้แก่ 1.แก้กฎหมายสุรา : จับตาผลกระทบด้านสังคมและสุขภาพ 2.บุหรี่ไฟฟ้า ภัยคุกคามสุขภาพที่บุกเกมรุก 3.กัญชาทางการแพทย์กับความสับสนทางนโยบาย 4.ประเทศไทยกับวันที่กาสิโนถูกกฎหมาย: อาจได้ไม่คุ้มเสีย 5.ถอดบทเรียน “ดิไอคอน” เพื่อไม่ตกเป็นเหยื่อ แชร์ลูกโซ่ 6.อุบัติเหตุรถบัสโดยสาร : หลากหลายคำถามเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย 7.การจัดการน้ำท่วมในภาคเหนือ : ลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ 8.ปลาหมอคางดำ กับการรับมือเอเลียนสปีชีส์ในไทย 9.ความซับซ้อนของมาตรการของรัฐในการจัดการกากของเสียอุตสาหกรรมและขยะอันตราย 10.ชีวิตติดหนี้: ปัญหาใหญ่ครัวเรือนไทย

ศ.ดร.ภูเบศร์ สมุทรจักร สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เรื่องพิเศษฉบับนี้คือ เรื่องเกิดน้อยกู่ไม่กลับ อัตราการเกิดของคนไทยเดินทางเข้าสู่ภาวะต่ำสุด สาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม เช่น บทบาททางสังคมของผู้หญิงที่เปลี่ยนแปลงไป ค่าครองชีพที่สูงขึ้น การให้คุณค่ากับความสมดุลในชีวิต และความต้องการอิสรภาพของคนรุ่นใหม่ที่มองว่า “ลูก” อาจเป็นภาระที่ไม่สามารถรับผิดชอบได้ แม้ในต่างประเทศจะมีมาตรการกระตุ้นการเกิดที่หลากหลาย ตั้งแต่การสนับสนุนสถานเลี้ยงเด็ก การขยายเวลาลาคลอด การให้เงินอุดหนุน และการพัฒนาบริการสาธารณสุข แต่ก็ยังไม่สามารถเพิ่มความต้องการมีลูกได้ สะท้อนให้สังคมต้องปรับตัวและเตรียมรับมือกับผลกระทบในระยะยาว ทั้งการมุ่งไปที่การดูแลคุณภาพชีวิตของเด็กที่เกิดมาแล้วให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ การสร้างระบบนิเวศที่ปลอดภัยและเอื้อต่อการพัฒนาของเด็กและเยาวชน การดึงดูดผู้ย้ายถิ่นที่มีคุณภาพ การปรับนิยามผู้สูงอายุ การขยายอายุเกษียณและการเตรียมรับมือกับสังคมสูงวัยระดับสุดยอด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง