นายจตุพร บุรุษพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นำคณะผู้บริหารระดับสูงจากกระทรวงพาณิชย์ ลงพื้นที่จังหวัดสระแก้ว เพื่อรับฟังปัญหาและเร่งหาแนวทางแก้ไขผลกระทบจากสถานการณ์ชายแดนไทย–กัมพูชา โดยมีนางอารดา เฟื่องทอง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ นายวิทยากร มณีเนตร อธิบดีกรมการค้าภายใน และคณะผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ ร่วมลงพื้นที่ด้วย ณ ห้องประชุมเทศบาลเมืองอรัญประเทศ อำเภออรัญประเทศ โดยมีผู้ประกอบการในพื้นที่เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น อาทิ หอการค้าจังหวัดสระแก้ว ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม ขนส่ง และนำเข้า-ส่งออกสินค้า
นายจตุพร กล่าวว่า จากการประชุมคณะรัฐมนตรี (15 ก.ค. 68) ที่ผ่านมา นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รักษาการนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ดูแลประชาชน ผู้ประกอบการ บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา นอกจากนี้ยังได้ประชุมหารืออย่างเร่งด่วน เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ร่วมกับผู้บริหาร ทูตพาณิชย์ ณ กรุงพนมเปญ พาณิชย์จังหวัดในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ สระแก้ว จันทบุรี ตราด สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี และบุรีรัมย์ และรับฟังปัญหาจากภาคเอกชนในพื้นที่ เพื่อหาแนวทางในการเยียวยาให้ตรงความต้องการผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ชายแดน ไทย-กัมพูชา ให้ครอบคลุม ส่วนเรื่องเร่งด่วนที่ต้องเร่งดำเนินการ คือการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการโดยเฉพาะในระดับพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อนโดยเร็วที่สุด จึงได้สั่งการให้ดำเนินมาตรการช่วยเหลือ ในระยะสั้นทันที และเร่งรัดดำเนินมาตรการระยะยาว เช่น การพักชำระหนี้ การส่งเสริมการค้าตลาดโรงเกลือ การจัดอบรมเพื่อพัฒนาอาชีพและฝีมือแรงงาน และการหารือกับฝ่ายความมั่นคงเพื่อพิจารณาการเปิดด่านชายแดนโดยเร็ว เพื่อลดผลกระทบต่อผู้ประกอบการและฟื้นฟูเศรษฐกิจชายแดนให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง
การลงพื้นที่ของกระทรวงพาณิชย์ในครั้งนี้ เพื่อมาติดตามและรับรู้สภาพปัญหาที่แท้จริง ต้องขอขอบคุณทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ประธานหอการค้า ผู้แทนแต่ละภาคส่วนที่ให้ข้อมูลที่มีความสำคัญ สะท้อนถึงปัญหาที่แท้จริงในพื้นที่ ตั้งแต่ผู้ประกอบการรายย่อยจนถึงประชาชน เพื่อนำข้อมูลไปพูดคุยในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี รวมถึงฝ่ายความมั่นคงเพื่อเร่งหาแนวทางแก้ไข
กระทรวงพาณิชย์ได้สั่งการให้เตรียมแผนบูรณาการทุกภาคส่วน ดังนี้
- พาณิชย์จังหวัดชายแดน 7 จังหวัด รวบรวมข้อมูลความต้องการของผู้ประกอบการและเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อให้ความช่วยเหลือตรงจุดและครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น
- กรมการค้าต่างประเทศ หารือผู้ประกอบการโลจิสติกส์เพื่อช่วยลดต้นทุน กรณีการขนส่งสินค้าไปยังกัมพูชาและการขนส่งผ่านแดนที่ต้องปรับเปลี่ยนเส้นทาง
- กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ส่งเสริมสินค้าไทยในกัมพูชาควบคู่ไปกับการเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน และการหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติมสำหรับกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ
- กรมการค้าภายใน จัดคาราวานธงฟ้าราคาประหยัด ลดค่าครองชีพ ช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ชายแดน
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงพนมเปญ รายงานว่า แม้จะมีการระงับการนำเข้าสินค้าบางประเภทในฝั่งกัมพูชา เช่น น้ำมัน พืชผักและผลไม้ แต่สินค้าจำเป็นอื่นๆ โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคยังสามารถส่งออกได้โดยขนส่งทางเรือหรือปรับเปลี่ยนเส้นทางทางบก แต่ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในฝั่งกัมพูชาอาจปรับสูงขึ้น อย่างไรก็ดี จะติดตามสถานการณ์ร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด
นายจตุพร เน้นย้ำว่า รัฐบาลไม่ได้เพิกเฉยต่อสถานการณ์ และเชื่อมั่นว่าด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วน จะสามารถบริหารจัดการสถานการณ์นี้ได้โดยไม่กระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจการค้าของไทย ซึ่งยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในปี 2567 การค้าระหว่างไทย-กัมพูชา มีมูลค่ารวม 366,730 ล้านบาท โดยการค้าชายแดนมีสัดส่วนสูงถึง 174,530 ล้านบาท ขณะที่ช่วง 5 เดือนแรกของปี 2568 การค้าระหว่างไทย-กัมพูชาขยายตัวถึง 8.5% และการค้าชายแดนขยายตัวถึง 11.2%
ภายหลังการประชุม นายจตุพร บุรุษพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้ตรวจเยี่ยมกิจกรรม “จำหน่ายสินค้าธงฟ้าราคาประหยัด” ณ ลานสยามมินทร์ เทศบาลเมืองอรัญประเทศ จัดขึ้นโดยกรมการค้าภายใน ระหว่างวันที่ 17–19 กรกฎาคม 2568 เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชน และส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการชายแดน นอกจากนี้ ยังได้สั่งการกรมการค้าภายในจัดกิจกรรมดังกล่าวในจังหวัดติดขอบเขตชายแดน เพื่อบรรเทาผลกระทบให้กับพี่น้องประชาชนอย่างเร่งด่วน และให้เดินหน้ามาตรการระยะสั้นช่วยระบายสินค้าไปจัดจำหน่ายยังพื้นที่อื่น ๆ อีกด้วย
โดยกิจกรรม “จำหน่ายสินค้าธงฟ้าราคาประหยัด” มีสินค้าจำหน่ายกว่า 200 รายการ ลดราคาสูงสุดถึง 60% แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่:
1. สินค้าไฮไลต์ราคาพิเศษ เช่น ไข่ไก่เบอร์ M แผงละ 90 บาท น้ำตาลทราย ถุงละ 23 บาท น้ำมันปาล์ม ขวดละ 42 บาท ข้าวขาว 5 กิโลกรัม ถุงละ 135 บาท นม UHT หนองโพ (180 มล. x 48 กล่อง) ลังละ 480 บาท
2. ผลไม้สดจากเกษตรกร ในกิจกรรม “Thai Fruits Festival 2025” โดยมี มังคุด จากจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นผลไม้ไฮไลต์ สนับสนุนการกระจายผลผลิตสู่ตลาด 3. สินค้าชุมชนคุณภาพดี จากกลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบการท้องถิ่นในโครงการ “บีซีจี สินค้าชุมชน” โดยกลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อยกว่า 10 หมวด 200 รายการ