นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เป็นประธานการประชุมกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) เพื่อติดตามสถานการณ์อุทกภัยและดินถล่ม รวมถึงการเตรียมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแบบเชิงรุก ที่อาจได้รับผลกระทบจากพายุ “วิภา” ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อวางแผนรับมือและให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ทั่วถึง โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก รวม 22 จังหวัด พร้อมหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมผ่านระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์
จากการประสานข้อมูลร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่าระหว่างวันที่ 20-24 กรกฎาคม ประเทศไทยจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคตะวันตก ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและดินถล่ม
โดยนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้แสดงความห่วงใยประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบ และสั่งการให้ ปภ. บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เตรียมความพร้อมและช่วยเหลือประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้สร้างการรับรู้ความเข้าใจกับประชาชนให้ติดตามสถานการณ์จากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง และไม่หลงเชื่อข่าวปลอมที่อาจเกิดการเผยแพร่ทางช่องทางต่างๆ
ปภ. ได้จัดตั้ง War Room เพื่อติดตามสถานการณ์แบบเรียลไทม์ และเตรียมกำลังพล เครื่องจักรกลสาธารณภัย และอุปกรณ์ช่วยเหลือประจำในพื้นที่เสี่ยงล่วงหน้า พร้อมสนับสนุนเฮลิคอปเตอร์ KA-32 และ “The Guardian Team” จากกองทัพบก ประจำการที่ จ.เชียงใหม่ ไว้สำหรับภารกิจค้นหา ช่วยเหลือ และลำเลียงสิ่งของในพื้นที่เข้าถึงยาก โดยเฉพาะช่วงวันที่ 22–23 กรกฎาคม ซึ่งเป็นช่วงที่คาดว่าพายุจะส่งผลรุนแรงที่สุด พร้อมกันนี้ ปภ. ได้ประสานผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ AIS, True, NT ส่งข้อความแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าทาง Cell Broadcast และ SMS ถึงประชาชนในพื้นที่เสี่ยง 22 จังหวัด ได้แก่ น่าน พะเยา เชียงราย ลำพูน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร หนองบัวลำภู เลย อุดรธานี กาญจนบุรี ราชบุรี อุทัยธานี จันทบุรี และตราด โดยแจ้งเตือนให้ประชาชนในพื้นที่ลุ่มต่ำหรือเชิงเขาเตรียมอพยพ ย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง และเคลื่อนย้ายกลุ่มเปราะบางไปยังพื้นที่ปลอดภัยหากจำเป็น และให้ติดตามข่าวสารราชการอย่างใกล้ชิด
นายภาสกร ย้ำว่า ทุกหน่วยงานต้องเฝ้าระวังสถานการณ์และเตรียมพร้อมตลอด 24 ชั่วโมง โดยได้สั่งการให้ศูนย์ ปภ. เขตต่างๆ รวมถึงจังหวัดในพื้นที่เสี่ยง จัดเตรียมทีมเผชิญเหตุ อุปกรณ์กู้ภัยให้พร้อมดำเนินการทันทีเมื่อเกิดภัย จัดพื้นที่รองรับการอพยพ/ศูนย์พักพิงชั่วคราวที่มีมาตรฐานในการรองรับการอพยพของประชาชน ทั้งด้านการช่วยเหลือ การดูแลผู้ประสบภัย และการฟื้นฟูในส่วนพื้นที่ที่ยังมีสถานการณ์อุทกภัย ให้เร่งช่วยเหลือประชาชนอย่างครอบคลุมทุกมิติ ทั้งด้านการดำรงชีพ ความปลอดภัย สุขภาพจิต การระบายน้ำ ซ่อมแซมบ้านเรือน และระบบสาธารณูปโภค เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้โดยเร็ว
นอกจากนี้ ปภ. ยังได้ประสานให้สำรวจจุดเสี่ยง วัสดุกีดขวางทางน้ำ และจัดเตรียมจุดวางเครื่องจักรกลในพื้นที่เฝ้าระวังล่วงหน้า เพื่อให้สามารถเข้าช่วยเหลือได้ทันที และเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ให้ท้องถิ่นเร่งสำรวจความเสียหายอย่างละเอียด พร้อมจัดทำบัญชีความเสียหายทั้งด้านการดำรงชีพ การเกษตร สิ่งสาธารณูปโภค และเร่งรัดจ่ายเงินช่วยเหลืออย่างเป็นธรรมและทั่วถึง
นายภาสกร เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งจากกรมชลประทานคาดการณ์ปริมาณน้ำ 1-7 วันข้างหน้า โดยในวันที่ 25 กรกฎาคม 2568 ที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ จะมีปริมาณน้ำไหลผ่านประมาณ 1,400-1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และคาดการณ์ปริมาณน้ำจากลำน้ำสาขาจะมีปริมาณ 100-150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งทำให้ปริมาณน้ำที่เหนือเขื่อนเจ้าพระยามีปริมาณ 1,500-1,650 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และรับน้ำเข้าระบบชลประทาน 2 ฝั่ง ในอัตรา 400-450 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จึงมีความจำเป็นต้องระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ในอัตราระหว่าง 700-1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งส่งผลให้พื้นที่ริมน้ำมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น จากปัจจุบันอีกประมาณ 0.20-0.80 เมตร โดยเฉพาะบริเวณคลองโผงเผง จ.อ่างทอง, คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และ ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย) โดยเริ่มส่งผลกระทบตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2568 เป็นต้นไป
กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง จึงได้ประสาน 10 จังหวัดภาคกลาง ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ รวมถึงกรุงเทพมหานคร เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มต่ำและนอกแนวคันกั้นน้ำ พร้อมทั้งแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำให้เตรียมพร้อมเคลื่อนย้ายทรัพย์สินขึ้นที่สูง รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการที่ใช้ประโยชน์ริมแม่น้ำ เช่น แพร้านอาหาร ท่าเทียบเรือ หรือกิจกรรมก่อสร้างแนวป้องกันตลิ่ง พร้อมได้ประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งตรวจสอบความมั่นคงของแนวคันกั้นน้ำ จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์และเครื่องจักรกลสาธารณภัยให้อยู่ในความพร้อมตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อรองรับสถานการณ์และให้การช่วยเหลือประชาชนได้ทันท่วงที
กรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศเตือนผลกระทบจากพายุวิภา ฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณประเทศไทย เกือบทุกภาคของประเทศ ช่วงวันที่ 20-24 กรกฎาคม 2568 รวม 57 จังหวัด
พื้นที่เฝ้าระวังในวันที่ 21 กรกฎาคม 2568
- ภาคเหนือ จำนวน 17 จังหวัด ได้แก่ จ.แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย กำแพงเพชร พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ และ จ.อุทัยธานี
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 8 จังหวัด ได้แก่ จ.เลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม และ จ.มุกดาหาร
- ภาคกลาง จำนวน 21 จังหวัด ได้แก่ จ.กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี นครนายก ปราจีนบุรี จันทบุรี ตราด เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และ จ.สมุทรปราการ
- ภาคใต้ จำนวน 3 จังหวัด ได้แก่ จ.ชุมพร ระนอง และ จ.พังงา
พื้นที่เฝ้าระวังในวันที่ 22 – 24 กรกฎาคม 2568
- ภาคเหนือ จำนวน 17 จังหวัด ได้แก่ จ.แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย กำแพงเพชร พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ และ จ.อุทัยธานี
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 14 จังหวัด ได้แก่ จ.เลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา และ จ.อุบลราชธานี
- ภาคกลาง จำนวน 16 จังหวัด ได้แก่ จ.กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี นครนายก ปราจีนบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด เพชรบุรี และ
จ.ประจวบคีรีขันธ์ - ภาคใต้ จำนวน 2 จังหวัด ได้แก่ จ.ระนอง และ จ.พังงา
กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง โดย ปภ. สั่งการ 57 จังหวัดและศูนย์ ปภ. เขต เตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนัก เสี่ยงอุทกภัย กำชับติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน และระดับน้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมจัดเจ้าหน้าที่และเครื่องจักรเข้าประจำจุดเสี่ยง โดยเฉพาะพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก หรือฝนสะสมเกิน 90 มม. ใน 24 ชั่วโมง เร่งระบายน้ำลดผลกระทบ สำหรับแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ เช่น ถ้ำ น้ำตก หากเสี่ยงภัย ให้ปิดพื้นที่ทันที พร้อมเฝ้าระวังและเข้าช่วยเหลือประชาชนได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามสถานการณ์และข่าวสารสาธารณภัย ได้ทางช่องทางสื่อสารของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
- Facebook กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย DDPMX@DDPMNews แอปพลิเคชัน THAI DISASTER ALERT
- แจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” เพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM
- สายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง