นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบนโยบายแก่คณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และผู้บริหารระดับสูงของ กนอ. เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยประกาศเจตนารมณ์อันแน่วแน่ในการทำงานที่เหมือนเป็นการทำงานวันสุดท้าย เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมย้ำว่า ภาคอุตสาหกรรมคือความหวังของประเทศ โดยเฉพาะการลงทุน (Investment) ที่จะดึงดูดกลุ่มลูกค้าให้เข้ามาลงทุน สร้างงาน และส่งออกสินค้าสู่ตลาดโลก ซึ่งเปรียบเสมือนการ “จ้างช่างซ่อมที่ชื่อ เอกนัฏ พร้อมพันธ์” มาฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่ขณะเดียวกันภาคอุตสาหกรรมไทย ยังต้องเผชิญความท้าทายจากการแข่งขัน โดยเฉพาะมาตรการภาษีของสหรัฐฯ ที่กำหนดขอบเขตภาษีสูงถึง 36% ในบางสินค้า รวมถึงปัญหาห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ที่ซับซ้อน เช่น กรณีปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา ที่อาจเพิ่มต้นทุนการขนส่งจากการปรับเปลี่ยนไปใช้เส้นทางอื่น
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งการให้ กนอ. ดำเนินการเร่งด่วน ดังนี้
1. ปราบปราม “อุตสาหกรรมศูนย์เหรียญ” หรือ “โรงงานเถื่อน” อย่างเข้มงวด โดยใช้ พ.ร.บ.โรงงานฯ มาตรา 39 วรรค 1 เพื่อจัดการกับโรงงานที่เข้ามากอบโกยผลประโยชน์แต่ไม่สร้างมูลค่า ลดคุณภาพสินค้า ปล่อยมลภาวะ และทิ้งกากขยะอุตสาหกรรม
2. ป้องกันคุณภาพสินค้าและสิ่งแวดล้อม โดยเน้นย้ำมาตรฐานอุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะปัญหากากอุตสาหกรรม ที่ขณะนี้ พ.ร.บ.กากอุตสาหกรรมฯ กำลังอยู่ในระหว่างการผลักดันเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็น พ.ร.บ. กากอุตสาหกรรมฉบับแรกของไทย
3. อุดช่องว่างทางกฎหมาย ตรวจสอบความผิดพลาดการออกใบอนุญาตและการประกอบกิจการโรงงาน รวมถึงปัญหาช่องว่างการออกใบอนุญาตแรงงานต่างด้าว เพื่อป้องกันการผลิตโดยไม่แจ้งประกอบกิจการ รวมทั้งลดช่องว่างระหว่าง กนอ. และกรมโรงงานอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ ยังได้ตั้งข้อสังเกตว่า แม้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI (Board of Investment) จะสนับสนุนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) แต่ GDP (Gross Domestic Product) ของประเทศกลับไม่ดีขึ้น สะท้อนถึงปัญหาที่ต้องแก้ไขที่ต้นตอ คือ การจัดการกับ “อุตสาหกรรมศูนย์เหรียญ” และโรงงานเถื่อน” ขณะเดียวกันมองว่าแม้ กนอ. จะเป็นรัฐวิสาหกิจแต่ไม่ได้ทำหน้าที่แค่หน่วยงานกำกับดูแล (Regulator) เท่านั้น แต่ยังมีหน้าที่สำคัญในการป้องกันความเสียหาย และอำนวยความสะดวกในการลงทุน โดยเชื่อว่า “ทุกการเปลี่ยนแปลง ทุกความท้าทาย ในวิกฤติมักมีโอกาสเสมอ”
นายเอกนัฏ กล่าวย้ำว่า หลักการทำงาน “ง่าย เร็ว โปร่งใส” เพื่อลดขั้นตอนการอนุมัติ ยกตัวอย่างสิงคโปร์เป็นต้นแบบ ที่สามารถดำเนินการต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว และไม่มีปัญหา สามารถพัฒนาอุตสาหกรรมได้อย่างเต็มที่ สิ่งเหล่านี้จะดึงดูดให้ผู้พัฒนานิคมฯ สามารถลงทุนได้เร็วขึ้น “เปิดดำเนินการให้เร็ว ปิดให้เร็ว” คือหัวใจสำคัญ หมายถึงเมื่อเปิดดำเนินการรวดเร็ว แต่หากพบการทำผิดกฎหมาย ก็ต้องสามารถปิดกิจการได้โดยเร็วเช่นกัน
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ขอให้ทุกหน่วยงานร่วมมือกันแก้ไขปัญหาผังเมือง และให้ กนอ. เสนอความต้องการรับการสนับสนุนจากภาครัฐ รวมถึงรูปแบบแรงจูงใจ (Incentive) ที่ดึงดูดโรงงานเข้าสู่นิคมอุตสาหกรรมให้มากขึ้น เพื่อกำจัดโรงงานศูนย์เหรียญและคืนมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศและยังฝากให้ กนอ. คำนึงถึงประโยชน์ของ SMEs หรือ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยการเปิดพื้นที่ในนิคมฯ ให้กับ SMEs มากขึ้น
นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวด้วยว่า ทั้งกระทรวงฯ และ กนอ. ต้องทำงานเป็นหนึ่งเดียว และต้องเปิดรับการเปลี่ยนแปลง จะทำงานแบบเดิมไม่ได้แล้ว
ด้านนายยุทธศักดิ์ สุภสร ประธานกรรมการ กนอ. กล่าวว่า กนอ. พร้อมรับลูกนโยบายเต็มที่ โดยประกาศว่า ต่อไปในนิคมฯ จะต้องไม่มีโรงงานศูนย์เหรียญ ไม่มีการดำเนินงานที่ผิดกฎหมาย และนิคมฯ จะต้องเป็นแหล่งรวมของอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่ปราศจากตราบาป เช่นเดียวกับ นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ ผู้ว่าการ กนอ. ระบุว่า กนอ. จะดำเนินมาตรการควบคู่ไปกับกระทรวงอุตสาหกรรมและขอรับมอบทุกนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โดยจะเร่งสานต่อเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการและผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม
จากกรณีลักลอบฝังขยะอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้ นางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และหัวหน้าชุดตรวจการณ์สุดซอย หรือ ทีมสุดซอย กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานของบริษัท เค.เอส.ดี. รีไซเคิล จำกัด ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับกรณีลักลอบฝังขยะพิษกว่า 50,000 ตันใน อ.แปลงยาว โดยพบว่าเจ้าของโรงงานเป็นบุคคลในครอบครัวเดียวกับเจ้าของพื้นที่ที่พบขยะพิษก่อนหน้านี้
การตรวจสอบพบกองกากอุตสาหกรรมและการฝังกลบในพื้นที่โดยไม่ได้รับอนุญาต ลักษณะการประกอบกิจการคล้ายกับกรณีเดิม คาดว่ามีเจตนาหลีกเลี่ยงกระบวนการกำจัดอย่างถูกต้องตามกฎหมาย นอกจากนี้ ยังพบหลักฐานการจ่ายเงินให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ นักการเมืองท้องถิ่น ตำรวจ และข้าราชการ ซึ่งอาจเข้าข่ายขบวนการเรียกรับผลประโยชน์จากผู้ประกอบการผิดกฎหมาย เบื้องต้นได้แจ้งข้อหาประกอบกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาต และดำเนินการเก็บตัวอย่างดิน และน้ำส่งตรวจ หากพบปนเปื้อนจากสารอันตรายจะมีการแจ้งข้อหาเพิ่มเติม ทั้งนี้ ทางกระทรวงฯ จะเร่งขยายผลตรวจสอบเครือข่ายเชื่อมโยงเพิ่มเติม พร้อมดำเนินคดีอย่างเด็ดขาดกับผู้เกี่ยวข้องเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างและยุติการสนับสนุนธุรกิจสีเทาในรูปแบบนี้