จากกรณี นพ.วีระพันธ์ สุวรรณนามัย สมาชิกวุฒิสภา โพสต์ Facebook ระบุว่า รพ.รัฐเตรียมคืนเงิน สปสช. 4,000 ล้านบาท เตรียมรับผลกระทบกันดีๆ คนไข้ในทุกคน! ประกาศ สปสช. ฉบับใหม่ อาจทำให้ รพ.ที่ขาดทุนหนักอยู่แล้ว มีโอกาสจะถูกเรียกเงินคืนอีก 4,000 ล้านบาท พวกเราเตรียมรับผลกระทบจากการรักษากันนะครับ!
สปสช. แจงงบประมาณผู้ป่วยในคงเดิม ไม่มีลดลง การตรวจสอบเวชระเบียนเพื่อประสิทธิภาพตามมาตรฐานของการเบิกจ่ายและความเป็นธรรมของระบบ ให้ได้ผลงานการให้บริการผู้ป่วยในที่แท้จริง ผลตรวจสอบพบบันทึกข้อมูลไม่ถูกต้อง ทั้งมากกว่าและน้อยกว่าการให้บริการจริง สปสช.มีทั้งปรับเพิ่มผลงานและลดผลงาน ยืนยันงบอยู่ที่กองทุนผู้ป่วยใน ไม่ใช่การคืนเงินให้ สปสช. หากปลายปีมีเงินคงเหลือโอนให้ รพ.ทั้งหมด แต่หากไม่พอนำผลงานการให้บริการจริงของบเพิ่มจากรัฐบาล
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะโฆษก สปสช. กล่าวถึงกรณี นพ.วีระพันธ์ สุวรรณนามัย สมาชิกวุฒิสภา โพสต์ Facebook ระบุว่า รพ.รัฐเตรียมคืนเงิน สปสช. 4,000 ล้านบาท เนื่องมาจากการสุ่มตรวจสอบเวชระเบียน ว่า สปสช. ขอชี้แจงว่าการสุ่มตรวจสอบเวชระเบียนดังกล่าวนั้นเป็นไปตามมติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2568 ที่เห็นชอบการนำผลตรวจสอบมาใช้เป็นข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาจ่ายค่าใช้จ่ายบริการผู้ป่วยในทั่วไปให้แก่หน่วยบริการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการเบิกจ่ายค่าบริการสาธารณสุขและความเป็นธรรมในระบบ และการสุ่มตรวจสอบ 3% นั้น สปสช. ดำเนินการตามประกาศซึ่งมีการแจ้งตั้งแต่ต้นปีและเคยดำเนินการมา และได้ขอคำแนะนำจากสำนักงานสถิติแห่งชาติในการดำเนินการและต้องมีการคำนวณค่าความเชื่อมั่น (Confidence Interval) ที่ 95% ด้วย
ทพ.อรรถพร กล่าวต่อว่า จากผลการตรวจสอบพบว่า แพทย์ที่ทำหน้าที่บันทึกและสรุปเวชระเบียนผู้ป่วยในมีทั้งการบันทึกที่น้อยกว่าการให้บริการจริง และบันทึกมากกว่าการให้บริการจริง ดังนั้นเพื่อให้เป็นผลงานที่แท้จริง กรณีที่พบว่า บันทึกน้อยกว่าการให้บริการจริง สปสช. ก็จะปรับเพิ่มผลงานในส่วนที่เบิกมาขาด ซึ่งกลุ่มนี้จะได้รับงบประมาณเพิ่มตามผลงานที่ทำมาจริง แต่กรณีที่บันทึกมากกว่าการให้บริการจริง สปสช. ก็จะปรับลดผลงานในส่วนที่เบิกมาเกิน เพื่อให้เป็นผลงานที่แท้จริง
และในช่วงปลายปีงบประมาณ หากงบผู้ป่วยในยังมีเงินคงเหลือหลังจากการให้บริการจริงแล้ว สปสช. ก็จะโอนงบส่วนนี้ให้กับ รพ.ทั้งหมด แต่หากงบประมาณไม่พอตามผลงานการให้บริการจริง สปสช. ก็จะทำเรื่องเสนอของบประมาณจากสำนักงบประมาณและรัฐบาลต่อไป โดยอ้างอิงจากฐานข้อมูลการให้บริการจริงที่ผ่านมาตรฐานการตรวจสอบมาแล้ว ดังนั้นจะเห็นได้ว่า งบประมาณผู้ป่วยในที่อยู่ในส่วนของการปรับลดหรือเพิ่มผลงานยังคงอยู่ในงบประมาณรวมผู้ป่วยในทั้งหมด ไม่ได้อยู่ที่ สปสช. จึงไม่ใช่ รพ.เตรียมคืนเงินให้กับ สปสช. แต่อย่างใด
การที่บอร์ด สปสช. มีมติให้ดำเนินการเช่นนี้ ก็เพื่อพัฒนามาตรฐานการเบิกจ่ายค่าบริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้มีความเป็นธรรม และการบันทึกเวชระเบียนก็เป็นหนึ่งในมาตรฐานของวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ต้องทำให้ถูกต้องตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลที่ในต่างประเทศดำเนินการเช่นนี้อยู่แล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้มีผู้ไม่หวังดีอาศัยช่องโหว่มาเบิกจ่ายเกินกว่าที่ให้บริการและให้ความเป็นธรรมกับ รพ.ที่บันทึกข้อมูลน้อยกว่าการให้บริการจริงให้ได้รับเงินชดเชยการบริการอย่างยุติธรรมด้วย