จากกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อมูลว่าประเทศกัมพูชานำวรรณกรรมไทยจำนวน 22 รายการไปขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกต่อองค์การยูเนสโกนั้น ล่าสุด กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้ออกมาชี้แจงว่า ไม่เป็นความจริง โดยข้อเท็จจริงมีดังนี้
1. ข้อมูลที่อ้างว่ามีการขึ้นทะเบียน “วรรณกรรมไทย 22 รายการ” โดยกัมพูชา ไม่เป็นความจริง เนื่องจากกัมพูชาไม่ได้เสนอขอขึ้นทะเบียนวรรณกรรม จำนวน 22 เรื่อง ต่อองค์การยูเนสโก แต่กัมพูชาได้เสนอ ขึ้นทะเบียน The Royal Ballet of Cambodia ซึ่งเป็นศิลปะการแสดงโบราณของกัมพูชา และยูเนสโกได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2546 (ค.ศ. ๒๐๐๓)
2. ตามมาตรา 2 ของอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ค.ศ. 2003 ได้ให้นิยามคำว่า “มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้” จำนวน ๕ ลักษณะ คือ
(1) ประเพณีมุขปาฐะและการแสดงออกทางวาจา รวมถึงภาษาในฐานะพาหนะของมรดกทางวัฒนธรรม ที่จับต้องไม่ได้)
(2) ศิลปะการแสดง (performing arts)
(3) แนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม และงานเฉลิมฉลอง (social practices, rituals and festive events)
(4) ความรู้และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล (knowledge and practices concerning nature and the universe)
(5) งานฝีมือแบบดั้งเดิม (traditional craftsmanship)
วรรณกรรม หรือ Literature จำนวน 22 เรื่อง ตามข้อมูลในหนังสือ ไม่ถือว่าเป็นสาขา oral traditions and expressions, including language as a vehicle of the intangible cultural heritage ตามนิยามของยูเนสโก วรรณกรรมจึงไม่สามารถเสนอขอขึ้นทะเบียนต่อยูเนสโกได้
3. ตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ค.ศ. 2003 (Convention for the Safeguarding of the Intangible Cultural Heritage of Humanity 2003) ของยูเนสโก มีวัตถุประสงค์สำคัญ เพื่อเป็นการอนุรักษ์มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมไม่ให้สูญหาย และสร้างความตระหนักรู้ถึงคุณค่าและความสำคัญ ในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับนานาชาติ เพื่อให้เกิดความชื่นชมร่วมกัน มิใช่แสดงถึงความเป็นเจ้าของ เช่น ปี พ.ศ. 2564 กระทรวงวัฒนธรรม ได้ยื่นเสนอขอขึ้นทะเบียน “สงกรานต์ ปีใหม่ไทย” (Songkran in Thailand, traditional Thai New year festival) และยูเนสโกได้ประกาศขึ้นทะเบียน “สงกรานต์ ปีใหม่ไทย” เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2566
4. ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ เมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙ และมีรายการมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ที่ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนในระดับนานาชาติ จานวน ๖ รายการ เป็นรายการประเภทตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติทั้งหมด ได้แก่ โขน (ปี พ.ศ. ๒๕๖๑) นวดไทย (ปี พ.ศ. ๒๕๖๒) โนรา (ปี พ.ศ. ๒๕๖๔) สงกรานต์ (ปี พ.ศ. ๒๕๖๖) ต้มยากุ้ง (ปี พ.ศ. ๒๕๖๗) และเคบายา (ปี พ.ศ. ๒๕๖๗) และมีรายการที่รอเข้ารับการพิจารณา ๔ รายการ คือ ๑) ชุดไทย ๒) มวยไทย ๓) ผ้าขาวม้า และ ๔) ลอยกระทง โดยรายการชุดไทยจะเข้ารับการพิจารณาในปี พ.ศ. ๒๕๖๙
ทั้งนี้ กระทรวงวัฒนธรรมได้ติดตามความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด และร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจร่วมกัน และผลักดันมรดกทางวัฒนธรรมของไทยให้ได้รับการยอมรับในระดับสากล
ข้อมูลที่อ้างว่ากัมพูชาขึ้นทะเบียนวรรณกรรมไทย 22 เรื่อง เป็น ข่าวปลอม (Fake News)