พลเอก ณัฐพล นาคพาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจบริหารสถานการณ์บริเวณชายแดนไทย – กัมพูชา หรือ ศบ.ทก. เปิดเผยก่อนเป็นประธานการประชุม ศบ.ทก. ชุดใหญ่ ที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ ว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการรับทราบรายงานทั้งหมด ตลอดจนแนวทางการดำเนินการต่อไป และจะนำเรื่องส่งฟ้องไปยังคณะกรรมการออตตาวา ซึ่งการประชุมออตตาวา จะประชุมช่วงเดือน พฤศจิกายน – ธันวาคม 2568 เพราะฉะนั้น หากมีการส่งฟ้องทันที มีค่าเท่ากันคือต้องรอการพิจารณาในเดือนธันวาคม แต่หากเราทำสำนวนให้รอบคอบ การที่เราทำสำนวนก็เหมือนการทำสำนวนคดีทั่ว ๆ ไป หากทำสำนวนไม่รอบคอบศาลไม่รับฟ้อง สำนวนก็ตก หรือทำสำนวนไปแล้วกัมพูชาโต้กลับมาได้ เราก็จะเสียความน่าเชื่อถือ
พลเรือตรี สุรสันต์ คงสิริ โฆษกกระทรวงกลาโหม และนางมาระตี นะลิตา อันดาโม รองอธิบดีกรมสารนิเทศ และรองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงผลการประชุมศูนย์เฉพาะกิจบริหารสถานการณ์บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา หรือ ศบ.ทก. โดยพลเรือตรี สุรสันต์ กล่าวถึงการพิสูจน์ทราบทุ่นระเบิด จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2568 ซึ่งเป็นผลมาจากที่หน่วยเฉพาะกิจที่ 1 กองกำลังสุรนารี ได้ปฏิบัติการลาดตระเวน เพื่อคุ้มครองการเสริมสร้างเส้นทางทางยุทธวิธี จากฐานมรกตไปยังเนิน 481 ซึ่งถือเป็นพื้นที่อธิปไตยของไทย ทำให้พลทหารเหยียบกับระเบิดเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2568 ตามที่ปรากฏเป็นข่าว ได้มีการจัดหน่วยผู้เชี่ยวชาญด้านทุ่นระเบิดเข้าไปพิสูจน์ทราบ โดยในวันที่ 18 กรกฎาคม 2568 หน่วยดังกล่าวได้สำรวจและพิสูจน์ทราบว่าในพื้นที่เกิดเหตุ อยู่ห่างจากเส้นปฏิบัติการ 130 เมตร โดยจุดวางทุ่นระเบิดอยู่บนเส้นทางลาดตระเวนของฝ่ายไทย ที่เป็นการปฏิบัติตามปกติ ซึ่งการลาดตระเวนทางฝ่ายไทยมีการดำเนินการตามปกติ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นเหตุสุดวิสัย หน่วยพิสูจน์ทราบได้พิสูจน์ทราบว่าหลุมระเบิดที่เกิดเหตุนั้นมีความกว้าง 69 เซนติเมตร ลึก 23 เซนติเมตร หน่วยชุดพิสูจน์ทราบได้พบเศษวัตถุระเบิดชนิด PMN-2 และพบทุ่นระเบิดเพิ่มอีก 2 จุด จากการพิสูจน์ทราบ
โดยจุดแรกอยู่ห่างจากต้นพญาสัตบรรณราว 50 เมตร ใกล้คูเลตที่ทางทหารกัมพูชาเคยขุดไว้ ซึ่งเป็นกรณีพิพาทระหว่างกัน ตรวจพบอีก 3 ทุ่น ส่วนจุดที่ 2 พบเพิ่มอีก 5 ทุ่น ห่างจากจุดแรกประมาณ 100 เมตร
จากการตรวจพบทุ่นระเบิด ยืนยันว่า ทั้งหมดเป็นระเบิดชนิดใหม่ PMN-2 มีสภาพใหม่พร้อมทำงาน ปรากฏตัวอักษรชัดเจนบริเวณด้านข้างทุ่นระเบิด ซึ่งทุ่นระเบิดชนิดนี้ประเทศไทยและกองทัพไทยไม่มีอยู่ในระบบยุทโธปกรณ์ ขณะเดียวกันหลักฐานที่ชัดเจน ยังไม่มีวัชพืชหรือรากไม้ขึ้นปกคลุม พบร่องรอยของการขุดเพื่อวางทุ่นระเบิด โดยในปี 2565 กองทัพได้ดำเนินการกวาดล้างทุ่นระเบิดในพื้นที่บริเวณช่องบก โดยไม่ตรวจพบทุ่นระเบิด PMN-2 แต่อย่างใด ซึ่งเป็นสิ่งบ่งบอกว่าระเบิดชนิดนี้เป็นระเบิดใหม่ และประเมินได้ว่า PMN-2 ที่ตรวจพบเป็นการวางหลังจากเกิดเหตุปะทะเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา และวันที่ 20 กรกฎาคม 2568 ตรวจพบทุ่นระเบิดอีก 2 จุด โดยเป็นระเบิดชนิด PMN-2 เช่นเดียวกัน ห่างจากหลุมระเบิดที่เกิดเหตุประมาณ 20-30 เซนติเมตร ชี้ชัดว่ามีการวางใหม่เพิ่มเติมอีก โดยเป้าหมายเพื่อสังหารบุคคลและเป็นการละเมิดอนุสัญญาออตตาวาอย่างชัดเจน และยังเป็นการรุกล้ำอธิปไตยของไทย
เหตุการณ์ดังกล่าว กองทัพได้ยกระดับมาตรการปฏิบัติที่เข้มข้นขึ้น โดยหน่วยในพื้นที่ได้รับคำสั่งให้เพิ่มความระมัดระวังในการลาดตระเวน และมีการเตรียมความพร้อมสูงขึ้น ตามหลักการปฏิบัติของกฎการใช้กำลังของกองทัพ ซึ่งศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ โดยกองทัพไทยได้ออกหนังสือประณามการกระทำดังกล่าวอย่างชัดเจน เป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา และจะยังคงติดตามและมีมาตรการเพิ่มเติม นอกจากนี้ พลตรี วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก เปิดเผยว่า กรมข่าวทหารบก จะเชิญผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารต่างประเทศประจำประเทศไทย มารับทราบข้อเท็จจริงในกรณีเหตุการณ์ดังกล่าวในวันที่ 22 กรกฎาคม 2568
ส่วนกรณีปราสาทตาเมือนธม ที่เกิดเหตุการณ์เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมา ฝ่ายไทยและกัมพูชาได้ร่วมหารือเพื่อแก้ไขหามาตรการในการบริหารจัดการ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์กระทบกระทั่งระหว่างนักท่องเที่ยวทั้งสองฝ่าย โดยมีการกำหนดมาตรการ หากมีปัญหาจากนักท่องเที่ยวเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวชาติใด ให้เจ้าหน้าที่ชุดประสานงานของชาตินั้นเป็นผู้จัดการ โดยจะเชิญตัวนักท่องเที่ยวออกจากพื้นที่ กรณีที่มีปัญหาในพื้นที่ การแก้ไขปัญหาให้ชุดประสานงานประจำพื้นที่ซึ่งแต่ละฝ่ายจัดกำลัง 7 นาย เป็นผู้ดำเนินการในการแก้ไขปัญหา ไม่มีการเรียกชุดกำลังเสริมหรือชุดอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องมาเพิ่มเติม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเผชิญหน้าหรือลดการเผชิญหน้าของทั้งสองฝ่าย รวมถึงขอให้ทั้งสองฝ่ายได้คัดกรองนักท่องเที่ยวของแต่ละฝ่ายก่อนที่จะขึ้นมาเยี่ยมชมปราสาทตาเมือนธม และขอยืนยันว่ามาตรการทั้ง 3 มาตรการมีผลบังคับใช้แล้ว ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องต้องกันในการดำเนินการ พร้อมกำหนดมาตรการเพิ่มเติมจัดชุดอาสาสมัครและทหารพรานหญิงมาอำนวยความสะดวกเพิ่มเติม
ทางด้านนางมาระตี กล่าวว่า ศบ.ทก. ได้รับรายงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยืนยันว่าทุ่นระเบิดสังหารบุคคลที่ตรวจพบไม่มีการใช้ในคลังอาวุธไทย ประกอบกับการประมวลข้อมูลของฝ่ายความมั่นคง นำไปสู่ข้อสรุปว่าเป็นการวางระบบสังหารบุคคลโดยฝ่ายกัมพูชา ถือเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างร้ายแรง กระทรวงการต่างประเทศ ได้ออกแถลงการณ์ประณามอย่างรุนแรงที่สุดในการใช้ทุ่นระเบิดสังหารบุคคล โดยฝ่ายกัมพูชาละเมิดอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของไทย และเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักการพื้นฐานที่สำคัญของกฎหมายระหว่างประเทศ ที่ระบุไว้ในกฎบัตร อีกทั้งยังเป็นการกระทำที่ละเมิดพันธกรณีภายใต้อนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล อนุสัญญาออตตาวา อย่างชัดเจน
ดังนั้น เพื่อรักษาท่าทีและผลประโยชน์ในเวทีระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศจะประท้วงอย่างเป็นทางการ กรณีที่เกิดขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร ไปยังฝ่ายกัมพูชา เนื่องจากเป็นการละเมิดอธิปไตย หลักกฎหมายระหว่างประเทศ และมนุษยธรรม และพันธกรณีกับอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล และยังส่งผลให้ทหารไทยได้รับบาดเจ็บถึงขั้นทุพพลภาพ ขณะเดียวกันจะดำเนินการตามกระบวนการของอนุสัญญาออตตาวา ตามพันธกรณีที่ไทยเป็นรัฐภาคีที่มีความรับผิดชอบต่อประชาคมระหว่างประเทศ โดยจะต้องแจ้งการละเมิดอนุสัญญาต่อประธานการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาซึ่งปัจจุบันคือประเทศญี่ปุ่น เพื่อนำไปสู่การรับผิดชอบโดยกัมพูชา นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศจะเดินหน้าต่อในการชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นให้มิตรประเทศและองค์การต่างๆ รับทราบ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่มีบทบาทสำคัญต่อภารกิจด้านการเก็บกู้ทุ่นระเบิดของกัมพูชา เช่น ญี่ปุ่น และนอร์เวย์ รวมถึงองค์กรต่าง ๆ ที่มีบทบาทในเวทีอนุสัญญาออตตาวา และจะจัดการสรุปข้อมูลกับผู้แทนประจำประเทศไทย โดยขณะนี้ นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ อยู่ระหว่างการเดินทางเพื่อเข้าร่วมการประชุมเวทีหารือทางการเมืองระดับสูง ว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก โดยจะได้พบหารือผู้แทนระดับสูงจากประเทศต่าง ๆ และจะใช้โอกาสนี้ยืนยันจุดยืนของไทยต่อประชาคมโลก โดยเฉพาะหลักการของไทย ที่มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธีและการเจรจาผ่านกรอบทวิภาคี
ไทยขอเรียกร้องฝ่ายกัมพูชาให้ความร่วมมือในการเก็บกู้ทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมตามแนวชายแดน ตามที่นายกรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศได้ตกลงกันไว้ภายในกรอบทวิภาคี เพื่อความมั่นคงและปลอดภัยของพื้นที่และของประชาชนของทั้งสองฝ่าย แม้ขณะนี้เรากำลังดำเนินการเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ทหารไทยเหยียบกับระเบิดเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ซึ่งจะมีทั้งมิติด้านความสัมพันธ์ทวิภาคี และการดำเนินการตามกลไกและพันธกรณีระหว่างประเทศ แต่ขอเน้นย้ำว่า ไทยยังคงยืนยันจุดยืนที่จะจัดเจรจาทวิภาคีกับฝ่ายกัมพูชา เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาสถานการณ์ในเวลานี้ โดยไทยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าฝ่ายกัมพูชาจะให้ความร่วมมือในกรอบทวิภาคี ด้วยความสุจริตใจ โดยเริ่มจากการเข้าร่วมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (Joint Boundary Commission: JBC) ไทย – กัมพูชา คณะกรรมการชายแดนภูมิภาค (Regional Border Committee: RBC) และ คณะกรรมการชายแดนทั่วไป (General Border Committee: GBC) ครั้งต่อไป และหวังว่าจะช่วยคลี่คลายสถานการณ์ อีกทั้งไทยพร้อมที่จะใช้กรอบทวิภาคีอื่น ๆ ด้วย เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงของทั้ง 2 ประเทศ และประโยชน์สูงสุดของประเทศ